อิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของรัฐบาลปักกิ่ง ในมหาสมุทรแปซิฟิก เป็นสิ่งที่กระตุ้นให้สหรัฐ ฟื้นสภาพรันเวย์ที่ถูกทิ้งร้าง บนผืนดินขนาด 40 ตารางไมล์ บนเกาะติเนียน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนสหรัฐ ในหมู่เกาะนอร์เทิร์นมาเรียนา

“การบูรณะสนามบินในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ช่วยให้กองกำลังทางอากาศภาคพื้นแปซิฟิกของสหรัฐ (พีเอซีเอเอฟ) มีช่องทางปฏิบัติการที่รวดเร็ว เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคนี้” โฆษกของพีเอซีเอเอฟ กล่าว

US Defense Videos

แม้คำแถลงระบุถึง “ความเร่งด่วน” ในการทำให้พีเอซีเอเอฟ เสริมความสามารถในการสู้รบ และปรับปรุงท่าทีของการป้องปราม เคียงข้างพันธมิตรและหุ้นส่วน ซึ่งไม่ได้กล่าวถึงจีนโดยตรง แต่แผนการของรัฐบาลวอชิงตัน สำหรับสิ่งที่เจ้าหน้าที่เรียกว่าเป็น “สิ่งอำนวยความสะดวกที่ครอบคลุม” บนเกาะติเนียน เกิดขึ้นท่ามกลางการปักหมุดทางทหาร อย่างจริงจังในมหาสมุทรแปซิฟิก ระหว่างสหรัฐกับจีน

อนึ่ง เอกสารแผนงานปี 2565 ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ ซึ่งเรียกว่า “ยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศ” ระบุว่า ความท้าทายที่ครอบคลุมและจริงจังที่สุด ต่อความมั่นคงของสหรัฐ คือ การบีบบังคับ และความก้าวร้าวที่เพิ่มขึ้นของจีน ในการปรับปรุงภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และระบบระหว่างประเทศ ให้เหมาะสมกับผลประโยชน์ และความชอบแบบเผด็จการของตนเอง

สนามบินบนเกาะติเนียน อาจเป็นสนามบินสำคัญที่สุด และพลุกพล่านที่สุดในโลก เมื่อปี 2488 เนื่องจากรันเวย์ 6 รันเวย์ที่สร้างขึ้นอย่างเร่งรีบ ถูกใช้เป็นลานจอดเครื่องบินทิ้งระเบิด บี-29 ของสหรัฐ สำหรับปฏิบัติการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ “ลิตเติลบอย” และ “แฟตแมน” ใส่ญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 6 และ 9 ส.ค. ในปีเดียวกัน

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จำนวนเงินที่สหรัฐจัดสรรให้เป็นต้นทุนการก่อสร้างทางทหารในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก เพิ่มขึ้น 2 เท่า จากเดิม 1,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 61,000 ล้านบาท) เมื่อปี 2563 เป็นเกือบ 3,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 123,000 ล้านบาท) เมื่อปี 2566

กระนั้น โฆษกระบุเสริมว่า เกาะติเนียนไม่ใช่ฐานทัพสหรัฐในสมัยโลกครั้งที่สอง เพียงแห่งเดียวที่ได้รับการปรับปรุง เนื่องจากการจัดสรรงบประมาณด้านกลาโหมครั้งใหม่ ยังรวมถึงเงินสำหรับการก่อสร้างฐานทัพอากาศบาซา ในฟิลิปปินส์ “ควบคู่กับโครงการที่กำลังดำเนินอยู่” ที่ฐานทัพอากาศดาร์วิน และฐานทัพอากาศทินดัล ของกองทัพอากาศออสเตรเลีย

“กลยุทธ์ส่วนใหญ่ของเราบนเกาะติเนียน คือ การฟื้นฟูสนามบินในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเต็มไปด้วยป่าไม้ และยังมีคอนกรีตหรือยางมะตอยอยู่ข้างใต้” พล.อ.อ.เคนเนธ วิสส์บาค กล่าวเมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา “พวกเราไม่ได้สร้าง ‘ซูเปอร์เบส’ ที่ไหนเลย แต่เรากำลังมองหาสถานที่สำหรับเติมเชื้อเพลิงและอาวุธบางส่วน หรือสถานที่สำหรับพักผ่อน ก่อนขึ้นบินอีกครั้ง”.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP