“มองโลกกว้าง คิดสร้างสรรค์ เคารพความแตกต่าง ร่วมกันสร้างประชาธิปไตย” คำขวัญวันเด็ก จาก “นายกฯเศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง หวังให้เด็กไทยมีความสุขกับการใช้ชีวิตวัยเด็ก
บรรยากาศที่ทำเนียบรัฐบาลคึกคัก “นายกฯเศรษฐา” เปิดตึกไทยคู่ฟ้า เปิดห้องทำงานให้เด็ก ๆ ต่อแถวนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี แม้ปีนี้จะไม่มีไดโนเสาร์มาโชว์สร้างสีสันเหมือนเคย เพราะนายกฯบอกหมดยุคไปแล้ว แต่กิจกรรมขอแต่ละหน่วยงานจัดกันมาอย่างแน่นๆ ก็ได้สร้างความสุขและสร้างรอยยิ้มให้กับเด็กไทย ได้สานฝันจิตนาการถึงอนาคตและอาชีพที่อยากเป็น
ท่ามกลางฝุ่นพิษที่ประเทศกำลังเผชิญ ประชาชนเสี่ยงตายผ่อนส่ง ขณะที่คนที่วัดดวงแบบคาบลูกคาบดอกเห็นทีจะเป็นนายกฯเศรษฐาที่ต้องสวมหัวใจสิงห์ ดันนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1หมื่นบาท ให้ออกมาถึงมือประชาชนตามสัญญาประชาคมที่ให้ไว้ในการเลือกตั้ง แต่ก็ยังอยู่ในภาวะลุ่มๆดอนๆ หลังกฤษฎีกาให้คำตอบกับกระทรวงการคลัง แบบลูกผีลูกคน เพราะในคำตอบของกฤษฎีกา ส่วนใหญ่เป็นสาระสำคัญของข้อกฎหมาย มีด้วยกัน 8 หน้ากระดาษเอ 4
แจ้งเป็นข้อกฎหมายสาระสำคัญ คือ “ ต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง กรณีการดำเนินนโยบายการคลังต้องอิงตามมาตรา 6 เรื่องมีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ นอกจากนี้ต้องไปดูมาตรา 7 เรื่องความคุ้มค่า มั่นคงและยั่งยืนและมาตรา 9 ต้องไม่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมือง และเงื่อนไขสำคัญของการออกกฎหมายกู้เงิน หรือการใช้จ่ายเงินนอกหนี้สาธารณะ ต้องเป็นไปตามมาตรา 53 คือ เป็นการเฉพาะและเฉพาะกรณีจำเป็นเร่งด่วน และต่อเนื่อง รวมถึงมาตรา 57 ที่ต้องกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบ แผนงานและโครงการ เพื่อใช้จ่ายเป็นการเฉพาะ”
และ “ปกรณ์ นิลประพันธ์” เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ออกมาย้ำชัด ว่า สิ่งที่”กฤษฎีกา”ส่งคำแนะนำและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับข้อกฎหมายในการออกพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท โดยย้ำไปที่การรับฟังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และต้องเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ยืนยันได้ แต่ไม่มีคำว่า “ไฟเขียว” และย้ำว่า หากรัฐบาลทำตามข้อเสนอแนะจะปลอดภัยแน่นอน
แต่จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลังออกมาตีขุม ว่า กฤษฎีกาไฟเขียว “ทำได้” ส่วน “นายกฯเศรษฐา’ ชี้ว่า การออกพ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ‘กฤษฎีกา’ ไม่ได้บอกทำได้หรือไม่ได้ เป็นเรื่องของดุลยพินิจ ให้ฟังความเห็นทุกฝ่าย จึงต้องนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 1 หมื่นบาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ โดยจะฟังความเห็นทุกฝ่ายก่อน ณ เวลานี้ยังยืนยันตามไทม์ไลน์เดิม คิดว่าจะทำได้ทันเดือนพ.ค.แน่นอน แต่ขอประชุมคณะกรรมการนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ก่อน
งานนี้‘สว.สมชาย’ สมชาย แสวงการ ก็ออกมาเตือนรัฐบาลและให้อ่านความเห็นกฤษฎีกาให้รอบคอบระมัดระวัง เพราะการ‘กู้เงิน 5 แสนล้าน‘ ทำได้ยาก – ติดสารพัดเงื่อนไขทางกฎหมาย ขอให้ยกเลิกโครงการแล้วขอโทษประชาชน หาก“นายกฯเศรษฐา” ยังลุยไฟเดินหน้าต่ออาจถึงขั้นต้องเปลี่ยนตัว‘นายกฯ’ได้
อีกทั้งฝ่ายค้าน “ไหม” น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 สภาผู้แทนราษฎร ที่ไม่เห็นด้วย รอสับนำทีมไล่บี้ในชั้นกมธ.กับ 4 หน่วยงานด้านเศรษฐกิจ คือ กระทรวงการคลัง สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงบประมาณ ถึงนิยาม ความหมายนิยามของคำว่า “วิกฤตเศรษฐกิจ” ต้องมีปัจจัยอะไรบ้างที่จะต้องแสดงให้เห็นถึงความเป็น “วิกฤตเศรษฐกิจ”
ควรต้องอิงกับหลักสากล ตามหน้าตาของวิกฤติเศรษฐกิจที่ทั่วโลกนิยามใช้ตัวชี้วัดอะไรบ้าง และของประเทศไทยเป็นไปตามตัวชี้วัดเหล่านั้นหรือไม่ เพื่อจะได้ข้อสรุปที่เป็นจริงและเป็นวิทยาศาสตร์ว่าเป็นวิกฤตจริงหรือไม่ แต่น่าเสียดายตำตอบที่ได้กลับไม่ชัดเจนว่าวิกฤตขึ้นตอนไหน เรื่องนี้จึงคิดว่าไม่น่าจะผ่านไปได้ง่ายๆ ถึงแม้ผ่านด้วยเสียงข้างมาในสภาไปได้ ก็ยังต้องไปเจอด่านสว.และศาลรัฐธรรมนูญ ต้องมาลุ้นว่าจะทำได้ทันเดือนพ.ค.นี้หรือไม่
เท่านี้ยังไม่พอยังมีฉากลุกไล่ ตัวแทนของ ธนาคารแห่งประเทศไทย “ธปท.”ของพรรคเพื่อไทยกลางที่ประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่ “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่า ธปท. ไม่ได้มาชี้แจงด้วยตัวเอง เหมือนเป็นการเอาคืน ที่ก่อนหน้ามีการขบเหลี่ยมกันระหว่าง “นายกฯเศรษฐา กับผู้ว่าแบงค์ชาติ เศรษฐพุฒิ” ทั้งเรื่องเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท การพักหนี้เกษตรกร และการประกาศขึ้นดอกเบี้ยของแบงค์พาณิชย์ ที่สวนทางเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นความเห็นที่ไม่ตรงกันมาตลอด
จึงได้เห็นฉากสำคัญอีกครั้ง ที่“นายกฯเศรษฐา ต้องจับเข้าผู้ว่าแบงค์ชาติ เศรษฐพุฒิ” คุยถึงสถานการณ์เศรษฐกิจ หนี้เอ็นพีแอล กลางทำเนียบรัฐบาล โดยเว้นวรรคไม่ขอคุยเรื่องเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท วางเกมไปลุยกันต่อในบอร์ดใหญ่เปิดกันจะๆ ไม่มีลับลวงพลาง
สถานการณ์ตอนนี้เริ่มต้นกับปีมังกรพ่นไฟ ก็ได้เห็นความร้อนพุ่งๆ ของ “รัฐบาลเศรษฐา” มาเป็นระลอกๆ นอกจากเงินดิจิทัลแล้วยังต้องมาเจอวาระร้อนข้ามปี กับปมร้อนนักโทษชาย “น.ช.” ทักษิณ ชินวัตร
ล่าสุดมีการปลุกม็อบออกมาขย่มรัฐบาล ขณะที่ “ชัยชนะ เดชเดโช” สส.นครศรีธรรมราช และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร ไม่ลดละขนคณะกมธ. บุกชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจส่องหา“น.ช.ทักษิณ“ ว่ายังนอนรักษาตัวหรือไม่มาแล้ว แต่เจอแพทย์ใหญ่ พล.ต.ท.ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่ (สบ8) โรงพยาบาลตำรวจ เบรกห้ามขึ้นชั้น 14 หวั่นละเมิดสิทธิผู้ป่วย จัดห้องประชุมชั้น 6 ไว้ต้อนรับ-ให้ข้อมูล
ขณะที่“อธิบดีกรมราชทัณฑ์” ต่อตั๋ว ไฟเขียว “น.ช.ทักษิณ“ นอน รพ.ตำรวจต่อได้ หลังเข้ารักษาตัวนอกเรือนจำเกิน 120 วัน แจ
แพทย์รายงานความเจ็บป่วยหลายประการต้องเฝ้าระวัง โดยมีแพทย์เฉพาะทางต้องดูแลใกล้ชิด เพื่อให้พ้นจากสภาวะอันตรายแก่ชีวิต
เรื่องนี้จะเป็นเรื่องร้อนของ “รัฐบาลเศรษฐา” จึงได้เห็นบรรดาข้าราชการที่เกี่ยวข้องออกลีลาดึงเช็ง เกรงว่าจะก้าวพลาด ก็จะพบกับวิบากกรรมตามสนอง
เพราะนอกจากม็อบแล้วบรรดาสว.ที่ใกล้หมดอายุเดือนพ.ค.นี้ ออกมาฮึ่มๆ อยากฝากผลงาน ด้วยการขู่ เปิดอภิปรายทั่วไป “รัฐบาลเศรษฐา”ในวุฒิสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน โดยไม่มีการลงมติ ตามรรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 ด้วย ประเด็นนี้คงเป็นอีก 1 เชื้อไฟที่เติมโหมความร้อนแรงใส่รัฐบาล
ขณะที่วาระร้อนในเดือนม.ค.ที่ต้องจับตาศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย 3 คดีร้อน เริ่มด้วยคดี “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม ถือหุ้นบุรีเจริญคอนสตรัคชั่นหรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญนัดวินิฉัยคดี ในวันที่ 17 ม.ค. ตามด้วยวันที่ 24 ม.ค.ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำพิพากษาคดี “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ถือหุ้นสื่อไอทีวีในวันที่สมัครรับเลือกตั้ง สส.บัญชีรายชื่อ เป็นเหตุให้สมาชิกภาพ สส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) ตามคำร้องที่กกต.ส่งมาหรือไม่ และปิดท้ายด้วยคดี112ในวันที่ 31 ม.ค. กรณีพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกล ที่เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่
ขณะที่ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร แต่งตัวรอเป็นนายกฯ ด้วยการเข้าอบรมในหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร สำหรับผู้บริหารแห่งอนาคต (วปอ.บอ.) หรือ มินิ วปอ. ที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) สถาบันวิชาป้องกันประเทศ (สปท.)กองบัญชาการกองทัพไทย เพื่อเสริมบารมี สร้างคอนเน็คชั่น ปูทางเดินขึ้นสู่นายกฯคนที่ 31 หากนายกฯนิด เกิดอุบัติเหตุต้องสะดุดไปต่อไม่ได้ ซึ่งเป็นไปตามแผนของพรรคเพื่อไทยที่วางไว้ต้องมีตัวตายตัวแทน
ต้องจับตาการเมืองต่อจากนี้ จะเกิดจุดฮอตสปอลต เพิ่มอีกกี่เรื่อง นี่เพียงแค่ห่วงเดือนแรกของปี 67 ก็เกิดเรื่องร้อนๆ จน “นายกฯเศรษฐา” นั่งไม่ติดกันแล้ว และการที่จะเป็นนายกฯครบ 4 ปี ตามที่ตั้งใจ มันคงไม่ง่ายอย่างที่คิด.