“คอลัมน์ตรวจการบ้าน จึงต้องมาสนทนากับ ‘สส.เท้ง’ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.)ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ ว่าจะมีแนวทางในการติดตามตรวจสอบและข้อเสนอแนะการจัดทำงบประมาณแผ่นดินอย่างไร

โดยประธาน กมธ.ติดตามการบริหารงบประมาณ เปิดประเด็นว่าภาพรวมปัญหาในการอภิปรายงบประมาณที่ผ่านมา น่าจะอยู่ที่เรายังไม่ได้เห็นโครงการหรือการจัดสรรงบประมาณที่จะสามารถช่วยขับเคลื่อนนโยบายหรือวิกฤตของประเทศได้อย่างเป็นเนื้อเป็นหนังพอ และเป็นการจำแลงงบระบบราชการมากกว่า ความหมาย คือ เปลี่ยนเฉพาะหัวข้างบนว่าไปจัดกลุ่มงบประมาณอย่างไร เช่น เป็นงบประมาณในการผลักดันซอฟท์พาวเวอร์ งบประมาณในการผลักดันเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจ เป็นต้น

แต่ไส้ในถ้าไปดูในรายโครงการยังเห็นว่าหลาย ๆ โครงการ เป็นงบประมาณโครงการเดิมในปีงบประมาณก่อนๆ เช่น รัฐบาลประกาศเรื่องนโยบายในการผลักดันส่งเสริมรายได้การท่องเที่ยว แต่จะเห็นว่างบที่ไปจัดกลุ่มไว้ในด้านการท่องเที่ยวกลายเป็นงบตัดถนน 7,000 กว่าล้านบาท ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเราสังเกตเห็น  

“คือ คุณบอกว่าเป็นงบประมาณด้านการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว แต่กลับกลายเป็นงบประมาณที่ไปอยู่กับกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบทในการตัดหรือซ่อมถนน ถ้าเราบอกว่าเจอแหล่งท่องเที่ยวใหม่ หรือแหล่งท่องเที่ยวเดิมที่เราต้องการพัฒนาถนนหนทางให้ดีขึ้นเพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้าถึงได้ มันก็ไม่ควรจะมีตัวเลขสูงถึงขนาดนี้หรือไม่ จึงเป็นการตั้งข้อสงสัยที่คิดว่าน่าจะเป็นเพียงงบประมาณของภารกิจเดิมๆ ที่เขาทำอยู่แล้ว เพียงแต่พยายามมาจัดกลุ่มให้มันอยู่ในหมวดหมู่ที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและการแถลงต่อสภาในช่วงที่ผ่านมาหรือไม่”

@การทำหน้าที่ กมธ.จะต้องจับตาเรื่องอะไรเป็นพิเศษบ้าง

สิ่งที่จะทำต่อไปมีอยู่ 2-3  เรื่อง เช่น 1.ในระยะใกล้ที่สุด คือ การเรียกร้องการปฏิรูปหรือปรับปรุงกระบวนการอนุมัติงบประมาณในชั้น กมธ.วิสามัญพิจารณางบฯ ปี 67ใหม่ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการไลฟ์สดการประชุม ซึ่งเรียกร้องมาทุกปี 2.เป็นข้อเสนอใหม่ คือ การเปลี่ยนรูปแบบการตั้งอนุกมธ.วิสามัญ ซึ่งที่ผ่านมาสภาจะตั้งอนุฯ ตามของที่ซื้อ เช่น อนุฯไอซีที อนุฯตึกและสิ่งก่อสร้าง อนุฯ การจัดอบรมสัมมนาอะไรต่างๆ นานา ซึ่งทำให้การเข้าชี้แจงค่อนข้างกระจาย สมมติในหนึ่งโครงการมีทั้งตึกมีทั้งคอมพิวเตอร์ ก็แปลว่าหน่วยงานชี้แจงก็ต้องเข้าหลายห้อง

เราพยายามที่จะเสนอว่าให้เปลี่ยนรูปแบบในการตั้งอนุฯ ตามด้าน เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านความมั่นคง ด้านการศึกษา และให้พิจารณาเป็นรายโครงการว่าสอดคล้องในด้านนั้นๆ หรือไม่  ไม่ใช่พิจารณาตามของเป็นอย่างๆ เป็นสิ่งที่เราคิดว่าพยายามขับเคลื่อนให้เปลี่ยนได้เลยทันที

นอกจากนั้นยังมีในเรื่องของข้อเสนอมาตรการเชิงนโยบาย ยกตัวอย่าง เช่น  ถ้าเราเป็นรัฐบาลเราสามารถสั่งสำนักงบประมาณได้เลยว่าในปีงบประมาณถัดๆ ไป บรรดาค่าเช่ารถ รัฐบาลจะเช่ารถอีวีเท่านั้น ไม่เช่ารถสันดาป มาตรการแบบนี้เป็นมาตรการที่ไม่ต้องใช้งบประมาณเพิ่ม แต่ว่าเป็นวิธีในการเลือกใช้งบประมาณให้สอดคล้องต่อนโยบายที่อยากผลักดันและเพิ่มประสิทธิภาพในการเบิกจ่ายด้วย หรือเรื่องมาตรการในการบริหารจัดการน้ำ ที่ผมได้อภิปรายไปในวาระแรกจะเห็นว่ามีการตั้งงบฝายแกนดินซีเมนต์ โดยล้อว่าไปแก้ปัญหาภัยแล้งเอลนีโญที่จัดสรรผ่านท้องถิ่น

แต่หน่วยงานหลักในการดูเรื่องน้ำอย่างสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) แทบจะไม่ได้มีส่วนร่วมในการพิจารณาตรงนี้เลย และเป็นเม็ดเงินที่สูง 2,000 กว่าล้านบาท เรื่องนี้แก้ปัญหาง่ายๆ ในงบประมาณปี 68 ถ้าไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก นายกฯสามารถสั่งการไปที่สำนักงบฯได้ โดยวางมาตรการเชิงนโยบาย กำหนดหลักเกณฑ์ไปว่าถ้าบรรดางบประมาณที่เป็นเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ ถ้าไม่มีตราประทับจาก สทนช. ให้สำนักงบฯ ปัดตกไปก่อน แปลว่าหน่วยงานไหนที่ต้องการจะตั้งงบประมาณเพื่อจัดการน้ำ เช่น สร้างฝาย ต้องไปปรึกษาหารือกับ สทนช.มาให้เรียบร้อยว่ามีความเหมาะสม เป็นตัวอย่างที่ผมคิดว่าสามารถทำได้ทันที ซึ่งก็ต้องอาศัยทางฝ่ายบริหารด้วย

ทั้งนี้สิ่งที่เราจะทำต่อไปในส่วนชั้น กมธ.วิสามัญ เป็นเรื่องของงบกลางที่ค่อนข้างน่ากังวล ในวาระ 2-3 ต่อจากนี้จะเป็นช่วงที่สภาเราพยายามจะตัดงบ เมื่อตัดงบเสร็จ ฝ่ายบริหารจะต้องแปรงบเข้ามา ตอนแปรงบเข้ามาเราคาดหวังว่าอยากจะให้ไปแปรงบลงในโครงการที่มันช่วยขับเคลื่อนนโยบายได้จริง กลัวว่าจะเป็นการแปรงบเข้างบกลางเหมือนสภาชุดที่แล้วหรือรัฐบาลชุดที่แล้ว ที่พูดง่ายๆ เหมือนเป็นการตีเช็คเปล่าให้นายกฯ ไปเบิกจ่ายได้เอง อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เรากังวล ส่วนในระยะยาวจากนี้ก็จะพูดถึงเรื่องงบปี 68 ซึ่งเป็นงบประมาณที่รัฐบาลนี้ทำเอง 100 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นข้อเสนอหลายๆ อย่างที่เราเห็นเป็นจุดบกพร่องในงบประมาณปี  67 ก็คาดหวังว่าในงบปี 68 รัฐบาลจะปรับปรุงใหม่

@เท่าที่ติดตามมามีหน่วยงานหรือกระทรวงไหนที่การจัดงบประมาณมีความผิดปกติหรือน่าเป็นห่วง

ยกตัวอย่างกระทรวงกลาโหมก็มีในเรื่องของการดาวน์น้อยผ่อนเยอะ ซึ่งต้องบอกว่าวัตถุประสงค์ในข้อเสนอของเราต้องการให้ปรับลดงบประมาณด้านการซื้ออาวุธ และงบผูกพัน ซึ่งกระทรวงกลาโหมเป็นหนึ่งในกระทรวงที่มีงบผูกพันค่อนข้างเยอะ แต่ว่าจากคำชี้แจงเราก็ยังค่อนข้างกังวลเพราะเหมือนเข้าใจประเด็นกันคนละอย่าง กลายเป็นว่าไปพุ่งเป้าที่เรื่องของจำนวนเงินซื้อของเท่าเดิม แต่ดาวน์น้อยๆ  และมีภาระผูกพันในอนาคตอยู่ดี นอกจากนั้นยังมีในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่เราเห็นสส.พนิดา มงคลสวัสด์  สส.สมุทรปราการ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่าตำรวจชั้นผู้น้อยเองก็ยังขาดงบประมาณในการปฏิบัติหน้าที่ หลายๆคนยังต้องควักกระเป๋าตัวเองในการไปซื้ออุปกรณ์ในการทำงาน

@ความไม่เป็นเอกภาพในพรรคฝ่ายค้าน จะเป็นอุปสรรคในการตรวจสอบเรื่องงบประมาณหรือไม่

ตามหลักมันก็เป็นเอกสิทธิ์ของเพื่อนสมาชิก เราเองก็คงไม่ได้ไปวุ่นวายกับเรื่องของการบริหารจัดการของพรรคร่วมฝ่ายค้านพรรคอื่น แต่จริงๆ ก็ยังคาดหวังว่าการทำหน้าที่ต่อไปในอนาคต อยากให้ทุกคนจะทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาในการวิเคราะห์งบประมาณ ช่วยกันทำให้กระบวนการจัดทำงบประมาณมีประสิทธิภาพมากขึ้น และทำงานร่วมกันเพื่อที่จะผลักดันเรื่องการปฏิรูปกระบวนการจัดทำงบประมาณใหม่

@ กมธ.วิสามัญฯ บางส่วนเป็นคนหน้าเดิมและเคยมีข้อครหาในเรื่องการตบทรัพย์หน่วยงานราชการ มีข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหานี้อย่างไร  

ต้องพยายามผลักดันเรื่องการไลฟ์สดที่ยังไม่เคยเกิดขึ้น ซึ่งจะช่วยป้องกันเรื่องเหล่านี้ได้ อีกอย่างหนึ่งที่ยังไม่ได้คำตอบชัดเจนว่าจะทำหรือไม่ทำ ก็คือการเปลี่ยนการตั้งอนุฯ กมธ.ใหม่ตามที่ผมได้กล่าวไปแล้ว เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นตามหน้าข่าวว่าตบทรัพย์ได้นั้น เพราะบางทีอนุฯ กมธ.แบ่งตามของที่ซื้อ แปลว่าถ้า สส.บางท่านอยากจะใช้ช่องทางนี้ในการไปตบทรัพย์ ถ้าเขารู้จักกับผู้รับเหมาในแต่ละด้าน เช่น เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง เขาก็พุ่งเป้าไปที่อนุฯ สิ่งก่อสร้าง  แบบนี้มันก็จะเห็นภาพรวมของงานก่อสร้างทั้งหมดในงบ 3 ล้านล้านบาท แต่ถ้าเราเปลี่ยนอนุฯ ใหม่ ไม่ได้เป็นอนุฯ ตามของที่ซื้อก็จะช่วยทำให้สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำได้ยากขึ้น ทั้งนี้ขอส่งข้อเรียกร้องไปยังประชาชน เอาในระยะสั้นก่อนว่าในช่วงการตัดงบอยากให้ช่วยกันจับตาในส่วนของการแปรญัตติ ถ้าจะแปรเข้างบกลางก็อยากให้ไปลงในส่วนที่เป็นสวัสดิการของข้าราชการที่จัดสรรงบประมาณไม่เพียงพอมาทุกปีอันนั้นไม่ว่ากัน แต่ถ้าเป็นงบกลางอย่างอื่นที่พูดง่ายๆ คือเป็นการตีเช็คเปล่าให้นายกฯ อันนี้เราก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น ถ้าเป็นอย่างนั้นสู้รัฐบาลเลือกแปรญัตติให้ไปลงในโครงการที่สามารถขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลได้จริงจะดีกว่า.