ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของโซมาลีแลนด์ ซึ่งสร้างความโกรธเคืองให้กับรัฐบาลโมกาดิชู ของโซมาเลีย เป็นส่วนหนึ่งของแผนการที่มีมานานกว่า 30 ปี เพื่อให้ได้การยอมรับอย่างเป็นทางการ 

ขณะที่ ประธานาธิบดีมูเซ บิฮี อับดี ผู้นำโซมาลีแลนด์ กล่าวว่า การอนุญาตให้เข้าถึงทะเลแดงนั้น แลกกับการที่เอธิโอเปีย จะเป็นประเทศแรกที่ “ขยายการยอมรับในระดับสากล” ของโซมาลีแลนด์ แม้รัฐบาลแอดดิสอาบา ยังไม่มียืนยัน

สำหรับภูมิหลัง โซมาลีแลนด์ได้รับเอกราชจากจักรวรรดิอังกฤษ เมื่อปี 2503 แต่หลังจากนั้นไม่กี่วัน โซมาลีแลนด์ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของโซมาเลีย ซึ่งเป็นอดีตอาณานิคมของอิตาลี กระทั่งในปี 2534 โซมาลีแลนด์ประกาศแยกตัวตัวเองออกจากโซมาเลีย ภายหลังการโค่นล้มประธานาธิบดีโมฮาเหม็ด ไซอัด บาร์รี ผู้นำเผด็จการ หลังเกิดสงครามกลางเมืองนานหลายปี

รัฐบาลโมกาดิชูต่อต้านความเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดนอย่างรุนแรง แต่ผู้อยู่อาศัยในสาธารณรัฐโซมาลีแลนด์ สนับสนุนเอกราชอย่างท่วมท้น เมื่อปี 2544

The Economist

แม้เป็นหนึ่งในภูมิภาคยากจนที่สุดในโลก ในแง่ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ต่อหัว แต่โซมาลีแลนด์มีรัฐธรรมนูญ, กองกำลังความมั่นคง, รัฐบาล, สกุลเงิน และธงชาติ ตลอดจนได้รับประโยชน์จากตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ บนเส้นทางเดินเรือที่พลุกพล่านที่สุดสายหนึ่งของโลก บริเวณทางเข้าช่องแคบบับ-อัล-มันเดบ ซึ่งควบคุมการเข้าถึงทะเลแดง

ภาษีอากรจากท่าเรือเบอร์เบรา ซึ่งเป็นศูนย์กลางการขนส่งระดับภูมิภาค ถือเป็นแหล่งรายได้หลักของรัฐบาลโซมาลีแลนด์ โดยสินค้าส่งออกหลักอย่างหนึ่งของประเทศ คือ แกะ และแพะ ซึ่งถูกขนส่งแบบตัวเป็น ๆ ผ่านท่าเรือแห่งนี้ ไปยังหลายประเทศในภูมิภาคอ่าว

เมื่อปี 2561 เอธิโอเปีย เข้าถือหุ้น 19% ในท่าเรือเบอร์เบรา ซึ่งมีบริษัท ดีพี เวิลด์ ในเมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เป็นเจ้าของและผู้ดำเนินการ แม้ข้อตกลงดังกล่าวสิ้นสุดแล้วก็ตาม

อนึ่ง โซมาลีแลนด์ ถูกมองว่าเป็น “สัญญาณของเสถียรภาพ” ในภูมิภาคที่วุ่นวาย มานานหลายปี ซึ่งตรงกันข้ามกับโซมาเลีย ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามกลางเมือง และการก่อความไม่สงบของกลุ่มไอเอส นับตั้งแต่ปี 2550

แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ความตึงเครียดทางการเมืองของโซมาลีแลนด์เพิ่มสูงขึ้น หลังผู้สนับสนุนฝ่ายค้านหลายคนถูกสังหาร ระหว่างการประท้วงเมื่อปี 2565 เนื่องจากรัฐบาลประสบความล้มเหลว ในการจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งใหม่ ขณะที่วาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ของอับดี ใกล้สิ้นสุดลง ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ บรรดาผู้อาวุโสของชนเผ่า ที่ไม่ได้รับเลือกตั้ง ขยายเวลาการครองอำนาจของอับดี ไปจนถึงช่วงปลายปี 2567

นอกจากนี้ โซมาลีแลนด์ ยังปะทะกับรัฐพุนต์แลนด์ ของโซมาเลีย ที่อยู่ติดกัน ซึ่งเป็นเขตปกครองตนเอง แต่ไม่ปรารถนาที่จะได้รับเอกราช

เมื่อเดือน ก.พ. 2566 มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากในการปะทะกันระหว่างกองกำลังของรัฐบาลโซมาลีแลนด์ กับกลุ่มติดอาวุธของชนเผ่าที่จงรักภักดีต่อโซมาเลีย ในเมืองลาสอาโนด ซึ่งโซมาลีแลนด์ และรัฐพุนต์แลนด์ ต่างอ้างสิทธิในเมืองแห่งนี้ อีกทั้งในเวลาต่อมา การต่อสู้นองเลือดระหว่างทั้งสองฝ่าย ก็ปะทุขึ้นอีกในเดือน ส.ค. ด้วย.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP