“ผศ.นพ.ศิระ เลาหทัย” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญศัลยศาสตร์ทรวงอกเฉพาะทางด้านการผ่าตัดส่องกล้องในช่องทรวงอก โรงพยาบาลวชิรพยาบาล ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา ประเทศไทยมีอุบัติเหตุบนท้องถนนมากกว่า 9 แสนครั้งต่อปี และมีผู้เสียชีวิตจากท้องถนนมากกว่า 14,000 คน ในจำนวนนี้พบว่ามีถึง 10% จะพบซี่โครงหักร่วมด้วย โดยที่พบบ่อยคือ กระดูกซี่โครงหักแบบธรรมดา นอกจากนี้ ปัญหากระดูกซี่โครงหักยังพบมากในกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นวัยที่มีปัญหาเรื่องการเคลื่อนไหว ทำให้เกิดการพลัดตก หกล้มบ่อย
สำหรับการรักษาที่เคยใช้นั้น ยังคงทำให้ผู้ป่วยต้องอยู่กับอาการเจ็บปวด หายใจลำบากในช่วงพักฟื้นเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในบางรายที่อายุเยอะหรือมีปัญหาสุขภาพอยู่ก่อนแล้ว การพักฟื้นยิ่งใช้เวลานาน กว่า 6-8 สัปดาห์ ซึ่งอาจจะทำให้มีผลข้างเคียง เช่น อาจจะปวดเรื้อรัง หรือเจ็บบริเวณปลายประสาทอักเสบ หรือคลำได้ก้อนกระดูกบริเวณข้างลำตัว
อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีการพัฒนาวิธีการซ่อมแซมกระดูกซี่โครงหักโดยการ “ตรึงกระดูกซี่โครงแบบแผลเล็ก” โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาผ่าตัดใส่เหล็กเชื่อมต่อ ซึ่งจะ ทำให้กระดูกซี่โครงที่หักกลับมาสมานกันได้เร็วขึ้น ผู้ป่วยลดระยะเวลานอนโรงพยาบาลน้อยลง และลดภาวะแทรกซ้อนจากโรคปอด
“ข้อบ่งชี้ของการผ่าตัดชนิดนี้ คือ ทำการรักษาในผู้ป่วยที่ซี่โครงหักที่ผิดรูปอย่างรุนแรงและต้องใช้เครื่องช่วยหัวใจ หรือผู้ป่วยที่ซี่โครงหักมากกว่า 3 ซี่และปวดอย่างรุนแรง หรือซี่โครงหักสองท่อน สามารถนำเหล็กที่ใส่โดยไม่ต้องเอาออก แค่นี้ผู้ป่วยก็จะสามารถไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ”
ดังนั้นกระดูกซี่โครงหักอย่างรุนแรงสามารถผ่าตัดแก้ไขได้ด้วยการผ่าตัด โดยใช้สกรูและแผ่นยึดเหมือนการผ่าตัดกระดูกในส่วนอื่น ๆ ได้ สำหรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจนถึงขั้นกระดูกซี่โครงหักที่กำลังตัดสินใจจะเข้ารับการผ่าตัดสามารถเข้ามาปรึกษาได้ที่เพจผ่าตัดปอดโดยนายแพทย์ศิระหรือ Lineid:@lungsurgeryth
อภิวรรณ เสาเวียง