ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน และประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ พบหารือกันนอกรอบการประชุมสุดยอดผู้นำ กลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ( เอเปค ) ที่เมืองซานฟรานซิสโก ในเดือน พ.ย. 2566 ซึ่งเป็นการหารือกันแบบพบหน้าอย่างเป็นทางการ ครั้งแรกในรอบ 1 ปี ระหว่างผู้นำทั้งสองประเทศ
ทั้งนี้ ผู้นำจีนกล่าวอย่างตรงไปตรงมา ว่าสหรัฐควรยุติ “การติดอาวุธ” ให้กับไต้หวัน และหันมาสนับสนุน “การรวมชาติอย่างสันติ” ซึ่งเป็นเรื่องที่ “ไม่มีฝ่ายใดสามารถหยุดยั้งได้” ขณะเดียวกัน ผู้นำจีนยืนยันว่า รัฐบาลปักกิ่งไม่มีนโยบาย “แซงหน้าหรือเอาชนะ” สหรัฐ ดังนั้น รัฐบาลวอชิงตันไม่ควรดำเนินนโยบาย “ป้องปรามและควบคุม” จีน และ “กองกำลังภายนอก” ไม่สามารถยับยั้งการพัฒนาของจีนในทุกด้านได้ พร้อมทั้งวิจารณ์การใช้มาตรการคว่ำบาตรฝ่ายเดียวของสหรัฐ
ไบเดนยืนยันว่า สหรัฐยึดมั่นและเคารพ “หลักการจีนเดียว” แต่เรียกร้องอย่างตรงไปตรงมาต่อสี ขอให้จีน “เคารพและยอมรับ” ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีของไต้หวัน ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 13 ม.ค. 2567
การเลือกตั้งผู้นำไต้หวันคนใหม่ เป็นส่วนหนึ่งของการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 13 ม.ค. ซึ่งจะเป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาแห่งชาติ หรือสภาหยวน ชุดใหม่ทั้ง 113 ที่นั่ง ในส่วนของการชิงตำแหน่งประธานาธิบดี มีผู้สมัคร 3 คน คือนายไล่ ชิง-เต๋อ รองผู้นำคนปัจจุบัน จากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า ( ดีพีพี ) ที่เป็นพรรครัฐบาลชุดปัจจุบัน และไม่สามารถส่งประธานาธิบดีไช่ อิง-เหวิน ลงสมัครได้อีก เนื่องจากเธอดำรงตำแหน่งครบสองสมัยแล้ว ตามรัฐธรรมนูญ
ขณะที่ผู้สมัครอีกสองคน ได้แก่ นายโหว โหย่ว-อี๋ นายกเทศมนตรีเมืองนิวไทเป ซึ่งเป็นอดีตผู้บัญชาการตำรวจ ลงสมัครในนามตัวแทนพรรคก๊กมินตั๋ง ที่เป็นพรรคอนุรักษนิยมเก่าแก่ และนพ.เคอ เหวิน-เจ๋อ อดีตนายกเทศมนตรีเมืองนิวไทเป ลงสมัครในนามตัวแทนพรรคประชาชนไต้หวัน ( ทีพีพี )
เดิมทีบรรดาพรรคฝ่ายค้านของไต้หวันต้องการจับมือกันเป็น “พันธมิตรเฉพาะกิจ” ด้วยการร่วมกันส่งผู้สมัครเพียงคนเดียว เพื่อท้าชิงกับพรรคดีพีพี แต่ท้ายที่สุดตกลงกันไม่ได้ ต่างฝ่ายจึงต่างส่งผู้สมัคร ซึ่งแน่นอนว่า จะทำให้เสียงแตก
ทั้งนี้ ผลสำรวจความคิดเห็นชาวไต้หวันจนถึงช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียง ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง นั่นคือ ไล่และพรรคดีพีพีมีคะแนนนิยมนำเหนือพรรคการเมืองอื่น หากไล่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง แน่นอนว่า จะยิ่งเป็นการสร้างความคับแค้นใจให้กับจีน ซึ่งมองว่า ไล่คือ “ตัวแทน” ของไช่ และพรรคดีพีพีถือเป็น “ขบวนการแบ่งแยกดินแดน” ในสายตาของรัฐบาลปักกิ่ง ดังนั้น ชัยชนะของไล่มีแนวโน้มจะยิ่งเพิ่มความตึงเครียด ให้กับบรรยากาศของความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบ
ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลปักกิ่งกับรัฐบาลไทเปตึงเครียดอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ไช่และพรรคดีพีพีขึ้นสู่อำนาจ เมื่อปี 2559 โดยจีนตัดขาดการติดต่อสื่อสารระดับรัฐในทุกช่องทาง และยกระดับการกดดันต่ออีกฝ่าย ทั้งในทางการเมือง ความมั่นคง และเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในทางการทูต ซึ่งรัฐบาลปักกิ่งสามารถ “ดำเนินกลยุทธ์” นำเพื่อสถาปนาความสัมพันธ์กับหลายประเทศ ที่มีความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับไต้หวัน ทำให้ประเทศเหล่านั้นต้องยุติความร่วมมือทั้งหมดกับรัฐบาลไทเป
แม้ไม่ใช่ครั้งแรกที่พรรคดีพีพีได้เป็นพรรครัฐบาลไต้หวัน แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด นับตั้งแต่ไช่นำพรรคดีพีพีเข้ามาเป็นรัฐบาลเมื่อ 8 ปีที่แล้ว บ่งชี้ว่า “ไต้หวันมีรัฐบาลซึ่งสหรัฐพึงพอใจที่สุด”
ด้านพรรคก๊กมินตั๋งแม้เป็นที่ทราบกันดีว่า “เป็นมิตรกับจีนมากกว่า” หากเทียบกับพรรคดีพีพี อย่างไรก็ตาม สมาชิกพรรคก๊กมินตั๋งยุคปัจจุบันไม่สนับสนุน “การรวมชาติ” ซึ่งรัฐบาลปักกิ่งถือเป็น “นโยบายเสาหลัก” กับไต้หวัน และตอนนี้พรรคก๊กมินตั๋งสนับสนุน “ความสมดุล” ในความสัมพันธ์ ระหว่างไต้หวันกับสหรัฐ และระหว่างไต้หวันกับจีน
ทั้งนี้ทั้งนั้น หากโหวเป็นฝ่ายชนะ ย่อมเป็นผลดีมากกว่าสำหรับจีน ขณะที่สหรัฐคงจับตาอย่างใกล้ชิดมากขึ้น เนื่องจากจะเป็นโอกาสที่รัฐบาลปักกิ่งจะกลับมาขยับขยายอิทธิพล เข้าสู่ไต้หวันอีกครั้ง แต่มองอีกมุมหนึ่ง ชัยชนะของโหวและพรรคก๊กมินตั๋ง ย่อมน่าจะส่งผลดีต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐ ในประเด็นไต้หวัน และน่าจะช่วยให้ความตึงเครียดข้ามช่องแคบลดลงบ้าง
อนึ่ง 2567 เป็นปีที่สำคัญในทางการทูตระหว่างสหรัฐกับจีนด้วย เนื่องจากตรงกับวาระครบรอบ 45 ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2522 ซึ่งรัฐบาลวอชิงตันยอมรับรัฐบาลที่กรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน “คือรัฐบาลที่ชอบธรรมเพียงแห่งเดียวของจีน” โดยประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ ผู้นำสหรัฐในเวลานั้น และนายเติ้ง เสี่ยวผิง ลงนามร่วมกันในข้อตกลงดังกล่าว ที่กรุงวอชิงตัน
ไม่ว่าผลการเลือกตั้งทั่วไปของไต้หวันในครั้งนี้จะเป็นไปตามความคาดหมาย หรือหักปากกาเซียน แต่จะสร้างแรงกระเพื่อมให้กับทั้งสองประเทศมหาอำนาจของโลกอย่างไม่ต้องสงสัย.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : AFP, GETTY IMAGES