นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 67 ว่าพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ซึ่งเป็นขุมทรัพย์ทางพลังงานมูลค่าหลายแสนล้านบาท รัฐบาลเตรียมเจรจากับ พล.อ.ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา จะเดินทางมาประเทศไทยในวันที่ 7 ก.พ.นี้ ควรพูดคุยและตกลงกันได้ เพื่อทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งสองประเทศซึ่งเป็นเพื่อนบ้านที่ดี มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและมีรายจ่ายที่ลดลง ยืนยันรัฐบาลให้ความสำคัญ

“พยัคฆ์น้อย” และพื้นที่ Special Report ทาง “เดลินิวส์ออนไลน์” เคยกล่าวถึงการพัฒนาแหล่งพลังงาน (ก๊าซธรรมชาติ-น้ำมัน) ในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา มาแล้วหลายครั้ง ว่าถึงเวลาที่ผู้นำรัฐบาลสองประเทศต้องจับเข่าคุยกันในการพัฒนาแหล่งพลังงาน เพื่อเศรษฐกิจและผลประโยชน์ของประชาชนสองประเทศ

โดยเฉพาะประเทศไทย ตราบใดที่โครงสร้างการผลิตกระแสไฟฟ้าส่วนใหญ่ยังต้องใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นพลังงานหลัก รวมทั้งไทยมีโรงแยกก๊าซมากถึง 7 โรง ซึ่งต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมปิโตรเคมี-เม็ดพลาสติก ที่มีมูลค่าหลายแสนล้านบาท ดังนั้นจึงต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติที่มีคุณภาพ มีปริมาณเพียงพออย่างต่อเนื่องหลายสิบปี และราคาไม่ผันผวนมาก

ประเทศไทยขุดก๊าซธรรมชาติในทะเลอ่าวไทย (แหล่งเอราวัณบงกช) ขึ้นมาใช้เป็นเวลากว่า 30 ปี และทุกวันนี้ยังขุดอยู่ แต่ปริมาณร่อยหรอลงไป ต้องเจาะบ่อมากขึ้นเพื่อให้ได้ปริมาณก๊าซเท่าเดิม พูดง่าย ๆ ว่าอ่าวไทยยังมีก๊าซอยู่ แต่มีแบบกะปริบกะปรอย

ยิ่งช่วง 1-2 ปีนี้ มีการเปลี่ยนมือผู้ได้รับสัมปทาน กำลังการผลิตก๊าซยังแกว่ง ๆ ไม่คงที่ จึงต้องนำเข้าก๊าซ LNG จากตะวันออก กลาง ซึ่งมีราคาแพงกว่าก๊าซอ่าวไทย และราคาค่อนข้างผันผวน ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าจากต้นทุน 2-3 บาท/หน่วย (ก๊าซอ่าวไทย) กลายเป็น 5-10 บาท/หน่วย (LNG) ขึ้นอยู่กับราคาขึ้น ๆ ลง ๆ ของ LNG

โดยในช่วงเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ประเทศไทยคงไม่สามารถพึ่งพาพลังงานทดแทนได้ 100% เนื่องจากพลังงานทดแทนยังไม่มีความเสถียรในการผลิตไฟฟ้า แต่เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาตินอกจากปล่อยคาร์บอนในปริมาณน้อยแล้ว ยังช่วยตอบโจทย์ความมั่นคงด้านพลังงาน ทำให้การผลิตไฟฟ้ามีความเสถียร มีประสิทธิภาพ

พยัคฆ์น้อย” เชื่อว่าหลายคนคุ้นหูกับแหล่งก๊าซ JDA ซึ่งเป็นพื้นที่พัฒนาร่วมไทยมาเลเซีย บริเวณที่ไทยและมาเลเซียอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกันในบริเวณทะเลอ่าวไทยตอนล่าง ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 7,250 ตารางกิโลเมตร อยู่ห่างจาก จ.สงขลา ประมาณ 260 กิโลเมตร ห่างจากจ.ปัตตานี 180 กิโลเมตร ห่างจากเมืองโกตาบารู รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซียประมาณ 150 กิโลเมตร

จากการสำรวจคาดว่ามีก๊าซธรรมชาติในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย สูงถึง 10 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต โครงการนี้เจรจากันมานับ 10 ปี กว่าจะเริ่มขุดก๊าซขึ้นใช้งานมาตั้งแต่ปี 48 เรื่อยมา ในลักษณะแบ่งปันผลประโยชน์สองประเทศ 50:50

ส่วนพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทยกัมพูชา อยู่ตรงไหน? ตอบว่าอยู่ทางตอนใต้ของแหลมสารพัดพิษ จ.ตราด ลากเส้นออกไปในทะเล ซึ่งเป็นพื้นที่ซึ่งอ้างสิทธิทับซ้อนกันกว่า 26,000 ตารางกิโล เมตร มีการประเมินว่าใต้บาดาลจะมีก๊าซธรรมชาติและน้ำมันในปริมาณเท่ากับ หรือมากกว่าปริมาณก๊าซธรรมชาติและน้ำมันที่ขุดในอ่าวไทยมากว่า 30 ปี

คิดเป็นมูลค่าก๊าซและน้ำมันในพื้นที่ทับซ้อน มากกว่า 10 ล้านล้านบาท สามารถนำไปต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีก 6-20 เท่า ขึ้นอยู่กับชนิดของก๊าซและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง

การพัฒนาแหล่งพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนไทยกัมพูชา มีการพูดกันมาตั้งแต่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร แต่มีบางกลุ่มคนออกมาต่อต้าน เพราะกลัวว่าไทยจะสูญเสียเขตแดนจากในทะเล ลากขึ้นไปบนบก ลามไปถึงเขาพระวิหาร จ.ศรีสะเกษ

คนอีกไม่น้อยก็เชื่อเป็นตุเป็นตะว่า “ทักษิณ” เป็นเจ้าของปตท. ไปโน่น! โดยไม่ได้ดูข้อมูลว่ารัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง ถือหุ้นทั้งทางตรง-ทางอ้อมใน ปตท. มากกว่า 60%

มาถึงรัฐบาลนายเศรษฐาจะคุยกับผู้นำกัมพูชาเพื่อการพัฒนาพื้นที่ทับซ้อน ซึ่งใคร ๆ ก็สามารถคัดค้านหรือมีข้อเสนอแนะได้ แต่ก่อนออกมาคัดค้าน! ข้อแรกต้องถามตัวเองก่อนว่าที่บ้านยังใช้ตะเกียง และจุดเทียนไขอยู่หรือเปล่า?.