ทั้งนี้ สำหรับปี 2567 นี้ก็มีการคาดการณ์กันว่า “จะยังคงเป็นปีที่หนักสำหรับคนไทย??” ดังนั้น…ก็ “มีสติเพื่อเผชิญอุปสรรคปัญหาต่าง ๆ” เอาไว้ก่อนเป็นดี ซึ่งถ้าใครยังไม่มั่นใจในพลังชีวิต ใครที่ใจยังป่วยล้าและสนใจวิธี “ฮีลใจ-เยียวยาใจ” ให้ตัวเอง วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็มีข้อมูลมาสะท้อนต่อ…

“วิธีตั้งเป้าหมาย” ให้ชีวิตมีจุดหมาย

เพื่อจะ “ทำให้ชีวิตมีลุ้นได้ดั่งใจหวัง”

จะ “ต้องทำเช่นไร??”…มีคำแนะนำ…

ทั้งนี้ เกี่ยวกับ “วิธีตั้งเป้าหมายชีวิตเพื่อให้ชีวิตมีโอกาสสมหวัง” นั้น เรื่องนี้มีแนวทางที่ ผศ.ดร.กุลยา พิสิษฐ์สังฆการ ได้แนะนำไว้ผ่านทาง รายการ “จิตวิทยาเพื่อคุณ” ทาง สถานีวิทยุจุฬา FM 101.5 MHz ซึ่งน่าสนใจ-น่าพิจารณา โดยทาง ผศ.ดร.กุลยา ให้คำแนะนำไว้โดยหลักใหญ่ใจความมีว่า… ปีใหม่ หลาย ๆ คนต่างก็พยายามที่จะตั้งเป้าหมายถึงสิ่งดี ๆ ที่อยากจะให้เกิดกับตัวเอง หรือกับคนใกล้ตัว โดยมีทั้งเป้าหมายเล็กและเป้าหมายใหญ่ ทั้งที่ใกล้ตัวหรือไกลตัว ซึ่งก็นับเป็นสิ่งดีที่คนเรานั้นอยากจะเติมเต็มให้กับตัวเองหรือส่วนรวม อย่างไรก็ตาม ก็มีหลาย ๆ คนที่อาจจะยังไม่ได้ตั้งเป้าหมายใด ๆ ในปีใหม่ 2567 นี้เลย แต่ก็ “ยังไม่สายเกินไป” ในการที่จะ “เริ่มตั้งเป้าหมายชีวิตให้ตัวเอง” …ซึ่งนักวิชาการท่านนี้ก็มีคำแนะนำ

มีการแนะแนวทางที่ “น่าพิจารณา”

“แนวทางเพื่อ…ตั้งเป้าหมายให้ชีวิต”

สำหรับ “การตั้งเป้าหมายชีวิต” นั้น ทาง ผศ.ดร.กุลยา ได้ระบุไว้ว่า… ควรเริ่มจากการ “คิดทบทวนชีวิต” เพื่อพิจารณาถึงแง่มุมต่าง ๆ ของชีวิตตัวเอง เช่น สุขภาพ, ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง, การพัฒนาตัวเอง, การศึกษา, การทำงาน หรือแม้แต่ความเชื่อ ศาสนา ปรัชญา ค่านิยมที่มี งานอดิเรก และการพักผ่อนหย่อนใจที่ผ่านมาก็ได้ โดยที่ “เป้าหมาย” นั้นเปรียบเสมือน “หลักชัยในการใช้ชีวิต” เพราะสิ่งนี้จะ “ช่วยทำให้ชีวิตมีความหมายมากขึ้น” ในแต่ละวัน… ตลอดจนการสร้างเป้าหมายให้ตัวเองนั้นยัง “เป็นการเติมความท้าทาย” ที่จะช่วย “เติมพลังจากการที่ชีวิตรู้สึกตื่นเต้น” อีกด้วย ซึ่ง…

มีงานวิจัยทั้งในไทยต่างประเทศ

ศึกษาทดลองจนพบว่า “ช่วยได้จริง”

ส่วน “แนวทางการตั้งเป้าหมายชีวิต” แบบเป็นขั้นเป็นตอนนั้น…จะ “ต้องทำเช่นไรบ้าง?” ทาง ผศ.ดร.กุลยา ก็ได้ให้คำแนะนำโดยอธิบายไว้ว่า…แนวทางนั้นสามารถจะแบ่งออกเป็นขั้นตอนต่าง ๆ ได้แก่… ขั้นแรก “พัฒนาเป้าหมายที่พบให้ชัดเจน” โดยเมื่อพบประเด็นที่อยากจะเติมเต็มให้กับชีวิตตัวเองแล้ว ก็จะต้องพัฒนาให้เรื่องนั้นเป็นเป้าหมายที่ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยยิ่งชัดเจนมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งส่งผลดี ดังนั้น ในขั้นตอนแรกนี้แทนที่จะตั้งเป้าหมายแบบลอย ๆ ก็ ควรที่จะระบุเลยว่า…

ไปให้ถึงเป้าหมายจะทำได้อย่างไร?

มีอะไรควรปรับปรุงเพื่อทำได้ดีขึ้น?

ขั้นตอนต่อมาคือ “ตั้งเป้าหมายให้เหมาะสม” กับตัวเอง เพราะแม้ว่าการตั้งเป้าหมายจะเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ควรจะเป็นเป้าหมายชีวิตที่เป็นไปได้จึงจะเป็นเรื่องที่ดีที่สุด ขณะที่ขั้นตอนต่อไปคือ “ต้องเป็นเป้าหมายแบบค่อยเป็นค่อยไป” เพราะบางครั้งช่วงแรก ๆ ของการตั้งเป้าหมายนั้นเรามักจะฮึกเหิมมากเกินไป ทั้งที่อาจจะไม่เคยทำเรื่องนั้นมาก่อนเลย ทำให้ถึงแม้จะเป็นเป้าหมายที่ชัดเจน แต่หาก เป้าหมายที่ตั้งใจไว้ไม่เหมาะสม และหาก รีบทำเป้าหมายด้วยความใจร้อน รีบเร่ง…

โอกาสจะทำสำเร็จอาจจะยิ่งลดลง

อาจทำให้ท้อและล้มเลิกความตั้งใจ

ทั้งนี้ ผศ.ดร.กุลยา พิสิษฐ์สังฆการ ได้ให้แนวทางไว้เพิ่มเติมอีกว่า… เป้าหมายที่ตั้งไว้ ไม่เพียงควรเป็นเป้าหมายที่ชัดเจน เหมาะสม และควรทำได้แบบค่อยเป็นค่อยไป เป้าหมายที่ตั้งไว้ให้ชีวิตยัง “ควรเป็นเป้าหมายเชิงบวก” โดยมีผลศึกษาวิจัยที่พบว่า…การตั้งเป้าหมายเชิงลบทำให้คนเรารู้สึกวิตกกังวลมากกว่าเป้าหมายเชิงบวก อีกทั้งยังมีส่วนทำให้โอกาสที่เราจะทำตามเป้าหมายได้สำเร็จยิ่งลดน้อยลงตามไปด้วย และ “ควรให้รางวัลตัวเอง” ด้วย เมื่อทำตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ได้ ตลอดจน “ควรทบทวนความคืบหน้าอย่างสม่ำเสมอ” เพื่อให้เป้าหมายที่วางไว้คืบหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น…

“ตัวอย่างเป้าหมายเชิงบวก เช่น จะรับประทานแอปเปิลวันละหนึ่งลูก อย่างน้อยสามวันต่อสัปดาห์ ขณะที่เป้าหมายทางลบคือ จะไม่รับประทานขนมหวานในสัปดาห์นี้ ซึ่งเมื่อเทียบกันแล้ว โอกาสที่จะรับรู้ถึงความสำเร็จของเป้าหมายแบบแรกจะเกิดขึ้นได้ง่ายกว่า เมื่อเทียบกับแบบที่สอง ที่เราจะรู้สึกเกร็งมากกว่า ซึ่งหากเผลอไปครั้งเดียวก็จะรู้สึกว่าตนเองล้มเหลวในการทำตามเป้าหมายไปแล้ว” …นี่เป็นการอธิบายเกี่ยวกับเป้าหมาย 2 แบบ บวก-ลบ กับการ “ตั้งเป้าหมายชีวิต” ซึ่ง…

ใครไม่ได้ตั้งไว้… “เริ่มวันนี้ก็ไม่สาย”

สำคัญคือ “ตั้งให้เหมาะ-ไปให้ถูก”

“ไปถึงเป้าชีวิตที่ตั้งไว้…ก็มีลุ้น”.