สองอาทิตย์ที่ผ่านมา เราพูดถึงเรื่องที่สุดแห่งปี 66 ไปแล้ว อาทิตย์นี้ก็คงต้องเป็นเรื่อง “ความหวังแห่งปี 67” ซึ่งเชคเสียงเอาจากคนแถวๆ นี้แหละไม่ต้องทำโพล เขาก็บอกว่า ความหวังแห่งปี 67 คือ “สองขั้วการเมืองเลิกทะเลาะกันเสียที” เพราะเป็นการทะเลาะแบบใช้อารมณ์เข้าว่า ด้อยค่าฝั่งตรงข้ามเสียเยอะ ยิ่งไปดูใน X ด่ากันไปด่ากันมาหยาบๆ ไม่รู้ว่าเบื้องหลังมีรับคำขอโทษเป็นเงินสดเท่านั้นไปกี่คดีแล้ว และมักจะมีเหตุผลสุดคลาสสิคคือ “เขียนไปด้วยอารมณ์ หรือ รู้เท่าไม่ถึงการณ์” ทำให้สังคมไทยควรหัดควบคุมความโกรธให้มากกว่านี้

การด่าแบบด้อยค่า ก็เช่นนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ซึ่ง “เขาชนะเลือกตั้งมา” แต่รวมเสียงตั้งรัฐบาลไม่ได้ ก็โดนขั้วหนุนเพื่อไทย ( และอาจเป็นพวกสนับสนุนพรรคอื่นด้วย ) ด้อยค่าเป็น “นายกฯ ว่าว”  ทางขั้วส้มก็ไม่ยอมเฉยสิ ด่าคืนโดยเฉพาะกับเพื่อไทยโดนข้อหา “ตระบัดสัตย์”ไปเต็มๆ เพราะตอนที่ตั้งรัฐบาลบอกว่า จะจับมือกับก้าวไกลขับไล่ คสช. ไปๆมาๆ ..อ้าวเฮ่ย ไม่เหมือนที่คุยกันไว้นี่หว่า … คือทำนอง“มือไม่พายนอนเฉยๆ” โยนให้เป็นหน้าที่พรรคก้าวไกลหาเสียง สส., สว.มาโหวตสนับสนุนให้ดันนายพิธาเป็นนายกฯ ได้เอง

ก็มีข่าวว่า น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และนายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล บอกว่า หาเสียง สว.สนับสนุนได้แล้ว ปรากฏว่า ถึงเวลาโหวตจริงก็โดนนายชาดา ไทยเศรษฐ์ สส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย อภิปรายเรื่องพฤติกรรมพรรคและ“ด้อม”ส้ม ( มาจาก fanclub kingdom แนวๆ กลุ่มแฟนคลับ ) ประมาณยุ่มย่ามกับเรื่อง ม.112 ซึ่งเป็นสิ่งไม่บังควร แบบนี้สวย..เหมือนหาทางลงให้ สว. ไม่ต้องโหวตนายพิธา ..สุดท้ายเพื่อไทยไปรวมเสียงเอง ท่ามกลางเสียงก่นด่าของกองเกลียด คสช. และเอาประโยคที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย  ที่ว่า “ดูหน้าดิฉันไว้ดีๆ นะคะ ไม่จับมือกับเผด็จการค่ะ”มาโพสต์ซ้ำ  ก็ไม่รู้ว่า ตอนนี้ใครเอาหน้าไปจ่อ ตัว น.ส.แพทองธารจะทำหน้าอย่างไร

 พอขัดแย้งกันมากขึ้น..ตามธรรมชาติวิสัยมนุษย์ คือ “ตายไม่ว่าเสียหน้าไม่ได้” แบบว่าแพ้แล้วดูโง่ นอกจากผลิตวาทกรรมด้อยค่าโต้กันไปมา ยังมีการใช้ข่าวปลอมหรือข่าวมโนประเภท “ฉันพูดสิ่งที่ควรจะเป็นความจริง” ซึ่งอาจไม่จริงก็ได้ เข้ามาด้วย ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่อันตราย ..คุณไม่รู้หรอกว่า ขอบเขตของข่าวปลอมทำงานไปได้ถึงไหน บางคนอาจคิดแค่ว่า “ก็แชร์มา ไม่ได้ตั้งใจ จบในศาลก็ได้” แต่ข่าวปลอมเคยทำสถานทูตไทยในกัมพูชาโดนเผามาแล้ว ..ซึ่งจำได้ช่วงนั้นนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ เวลาอารมณ์เสียใส่สื่อก็จะถามว่า “มาจากรัศมีอังกอร์” ( หนังสือพิมพ์ที่เป็นตัวต้นข่าว ) เหรอ”

และไม่ใช่แค่ความขัดแย้ง บางทีมันเป็นความ“หมั่นหน้า”เข้ามาเกี่ยว แบบฝั่งนางแบกเห็นกระแสคนตอบรับพิธาดีๆ ก็ร้อนรนทนไม่ได้ ต้องออกมาสร้างคำด้อยค่านายกว่าวบ้างล่ะ ขุดเรื่องอดีตของเขามาบ้างล่ะ มโนเรื่องเขาอกหักกับดาราสาวแอฟ ทักษอร บ้างล่ะ ฝ่ายส้มก็หาประเด็นอะไรมาตอบโต้ นอกจากเรื่องตระบัดสัตย์ก็เห็นจะเป็นเรื่อง “รัฐบาลพาพ่อกลับบ้าน” หรือไม่ก็พยายามด้อยค่านายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และ รมว.คลัง..เหยื่ออันโอชะหนึ่งคือเรื่องเงินดิจิทัล ไหนบอกเป็นรัฐบาลทำทันที ไปๆ มาๆ เหมือนนึกขึ้นได้ระหว่างการหาเสียง เลยพูด แล้วไปตายเอาดาบหน้า ศึกษาว่าจะเอาเงินจากไหน รอกฎหมายผ่านก็ได้เดือน พ.ค.67 ซึ่งยังไม่รู้ศาลรัฐธรรมนูญจะตีตกเอาหรือไม่เพราะ “ไม่ได้มีความจำเป็นทางการเงินการคลัง” มันไม่เหมือนที่เขากู้มาแจกยุคโควิด ที่มีคนถือสาก ปากเป็นไงไปคิดเอง ด่ารัฐบาลบิ๊กตู่ปาวๆ ดีแต่กู้ แต่ตัวเองจะต้องเอาสิทธิ์ให้ได้ด้วย   

บรรยากาศมีแต่การทะเลาะกันแบบนี้มันทำให้คนไม่มีความสุข แต่เราก็ต้องทำใจว่า “ความขัดแย้งทางการเมืองเป็นเรื่องปกติ” ในอเมริกาเขายังมีฝั่งโปรเดโมแครตกับโปรรีพับลิกัน ของเราจะมีนางแบกกับด้อมส้มบ้างเป็นไรไป ความขัดแย้งมองแง่ดีมันคือการขับเคลื่อนให้คนศึกษาหาความรู้มากขึ้นเพื่อเอามาตอบโต้ฝ่ายตรงข้าม เช่นคนไทยเริ่มสนใจเรื่องระเบียบราชทัณฑ์มากขึ้นจากเหตุนักโทษชั้น 14 ที่ป่วยปริศนาแบบเข้าเยี่ยมไม่ได้  คนไทยเริ่มสนใจกระบวนการนิติบัญญัติมากขึ้น จากกระแสกฎหมายสมรสเท่าเทียม แก้ไขรัฐธรรมนูญ คนไทยเริ่มสนใจเรื่องตัวเลขเศรษฐกิจมากขึ้นตอนเถียงกันเรื่องเงินดิจิทัลกระทบวินัยการเงินการคลังหรือไม่ คนสนใจเรื่องความยินยอมพร้อมใจทางเพศมากขึ้นจากกรณี 2 สส.พรรคก้าวไกลถูกครหาและถูกขับพ้นพรรค  

เพียงแต่ การโต้เถียงน่าจะละวางอารมณ์และใช้เหตุผลเข้าสู้ ถ้าจะให้ยกตัวอย่าง..ฝั่งเพื่อไทยขออนุญาตที่นึกไม่ออก แต่ฝั่งส้ม ให้ดูนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ซึ่งเวลาวิจารณ์อะไรไม่ได้เอาใจด้อม แต่พูดบนหลักการ จนบางที อ.ป๊อกก็โดนด้อมส้มเอาไปด่า

แล้วทำอย่างไรให้ยุติความขัดแย้งทางการเมือง ตอบว่า ทำไม่ได้ อย่างว่าคือ “ความเห็นต่างเป็นเรื่องปกติของมนุษย์” เลือกตั้งสมัยหน้าก็ยังมีความเห็นต่างอยู่แล้ว นี่ประเทศไทยไม่ใช่เกาหลีเหนือ ใครคิดกบฏจากผู้นำคือต้องโทษตายหรือเอาไปใช้แรงงานในค่ายนักโทษ ( ไม่แน่ใจว่าทางเกาหลีเหนือเรียกว่ากูลัคหรือเปล่า ) ตั้งกรรมการปรองดองอะไรมา..เขาก็ต้องกันมาไม่รู้กี่ชุดแล้ว เคยสำเร็จหรือไม่ ?  เรื่องปกติเลยว่า ฝั่งที่ตัวเองเชียร์แพ้ก็ฟาดงวงฟาดงา ฝ่ายที่ชนะก็บลัฟฟ์กลับแล้วก็ฟาดกันไม่จบ ..เอาเป็นว่า ส่วนตัว วิธี“ยุติความขัดแย้งทางการเมือง”ไม่มีจริง ตั้งกรรมการอะไรมา ลงนามเอ็มโอยูบ้าบออะไรก็ไม่สำเร็จ เพราะมันเป็นเรื่องของความรู้สึก  ยิ่งในโลกออนไลน์ก็ยิ่งคุมไม่ได้

ดังนั้น “ขัดแย้งได้แต่ต้องคุยกันได้” สิ่งที่ต้องสอนกันคือ “การโต้แย้งที่มีการแสดงเหตุผลและหลักฐาน และพูดให้ครบ” มีจิกกัดก่นด่ากันบ้างก็ต้องใช้หลักฐานจัดการให้เงิบ อย่างเช่น กรณี สส.แบงค์ นายศุภณัฐ มีนชัยนันทน์ สส.เขตหลักสี่ กรุงเทพ พรรคก้าวไกล ไปรีวิวหมอชิตสองว่ามันห่วยแค่ไหน ซึ่งมันห่วยจริงๆ ทั้งที่เป็นศูนย์รวมการเดินทางสำคัญของคนจากเหนือและอีสานเข้ากรุงเทพ ..มีอย่างหรือบันไดเลื่อนเสีย 20 ปี ไม่ทราบต้องไปหาแร่สวรรค์วิมานอะไรจากนอกโลกมาซ่อมถึงบอกว่าไม่มีอะไหล่ ..กรณีนี้เถียงอย่างไรนางแบกก็เงิบ จุกอก ( จนเห็นแว้บๆ ใน X ว่านางแบกจะมีแคมเปญงดแบกช่วงอภิปราย พ.ร.บ.งบฯ แล้ว เพราะออกตัวแทนพรรคไม่ไหวแล้ว โฆษกพรรคเพื่อไทยก็ไปเที่ยวอยู่ )  ..และที่สำคัญ คือ “เถียงให้อยู่ในประเด็น” ไม่ใช่พอหมั่นหน้าคู่ถกเถียงก็ไปขุดเรื่องที่ไม่ควรพูดถึงของเขามาพูด ตัวอย่างเช่นดันไปขุดเรื่องสะเทือนใจนายพายุ เนื่องจำนงค์ สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ที่ไปเถียงเรื่องหมอชิตด้วยไปโพสต์สมน้ำหน้าเขา แบบนี้น่าให้ฟ้องให้เข็ด

ถ้าเป็นกรณีที่ต้องใช้หลักการ ก็พูดหลักการแบบมีอ้างอิงได้ อย่างกรณีทำไมเพื่อไทยไม่จับกับก้าวไกล นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทยก็พูดทำนองว่า “ปกติทางการเมืองพรรคอันดับหนึ่งกับสองเขาไม่จับมือกันตั้งรัฐบาล” ซึ่งเป็นหลักการที่เราคุ้นชินมา พรรคอันดับสองต้องเป็นหัวหน้าฝ่ายค้าน .. แต่ถ้าให้ดี “หลักการอ้างอิง” ควรมีพื้นฐานเป็นหลักวิชาการแบบสายวิพากษ์ ( critical theory ) รวมถึงมีพื้นที่สาธารณะแสดงความเห็น และผู้มีส่วนแก้ปัญหาต้องรับปัญหาไปแก้ไข “ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม”  เพื่อไม่ให้เรื่องบานปลายเป็นม็อบลงถนน ..ส่วนประเภทเกินเยียวยา คือ ตัวเองถูกที่สุดอยู่คนเดียว ให้เมินๆ ไปซะว่าเป็นบุคคลเป็นพิษ ( toxic people ) ไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับเขา สังคมของเขา เราไม่ต้องการอยู่ในสังคมแบบไหนก็อย่าไปสนับสนุนคนที่ผลักดันให้สังคมเป็นอย่างนั้น

ย้ำว่า “ผู้เกี่ยวข้อง”ต้องทำให้เกิดความกระจ่างชัดเจนจริงๆ อย่างกรณีนักโทษชั้น 14 เนี่ยไม่รู้ว่าอมอะไรกันไว้มากมาย พอถูกถามก็พ่นให้อีกฝ่ายรับ สรุปคือ รัฐมนตรียุติธรรมไม่รู้ ปลัดให้เป็นความเห็นอธิบดีกรมราชทัณฑ์ อธิบดีให้เป็นความเห็นแพทย์  แพทย์ให้เป็นความยินยอมพร้อมใจของเจ้าตัว คือเห็นก่อนกลับไทยลูกสาวก็บอกแข็งแรงดี นี่ไม่รู้อะไรมาถึงนอนติดเตียง 120 วันแล้ว ..ถึงได้เขียนไปเมื่ออาทิตย์ที่แล้วว่า น่าจะมีกฎหมายสักฉบับลงโทษแพทย์กรณีช่วยตอแหลให้ผู้ต้องหาไม่ต้องขึ้นศาลไม่ต้องรับโทษ เช่น ออกใบรับรองแพทย์ปลอม ศาลต้องมีหน่วยงานแพทย์มาคานการตรวจสอบแพทย์ของผู้ต้องหา อย่างกรณีเยาวชน 14 ปี กราดยิงพารากอน ก็ไม่รู้ว่าจะมีสติพร้อมสู้คดีเมื่อไร 

ที่สำคัญในการยุติความขัดแย้ง ง่ายที่สุดคือ “กรรมการไม่เอื้อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และทุกฝ่ายต้องเคารพกติกา” ยุติธรรมสองมาตรฐานนี่กลายเป็นต้นตอของความขัดแย้งมาก .. นี่ก็คงเป็นเหตุผลหนึ่งในการจะเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อล้างไพ่องค์กรอิสระ มีการคานอำนาจการตรวจสอบเพิ่มขึ้น  และที่มา สว.ให้ยึดโยงกับประชาชนจริงๆ และเป็นกลาง ..เรื่องแก้ความขัดแย้งโดยพูดกันด้วยเหตุผลได้ มันต้องสอนกันตั้งแต่จิตสำนึกของบุคคลไปถึงระดับองค์กร

อีกเรื่องหนึ่งจะระงับความขัดแย้งคือ “ละวางอคติ” ถ้าฝ่ายที่ตัวเองไม่ถูกใจทำดี ก็ต้องยอมรับกันบ้างว่า “เขาทำดี” ไม่ใช่เห็นแล้วทนไม่ได้ต้องไปขุดเรื่องโน้นเรื่องนี้มาด้อยค่ากันซ้ำแล้วซ้ำเล่า .. อย่างถ้านายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และ รมว.คลัง ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้จริง ก็ให้เครดิตไปบ้างจะเป็นไร ..ให้เวลากับนโยบายบางอย่างให้มันอยู่ตัวก่อน ไม่ใช่เพิ่งประกาศมาก็จะว่าห่วยเลย ..สิ่งที่ทำให้รัฐบาลทำงาน 3 เดือนแล้วถูกเหน็บแนม ดูเหมือนก็มาจากรัฐบาลเองที่แถลงผลงาน 3 เดือนนี่แหละ อารมณ์คงอยากบอกให้คนรู้ว่าเราทำดี แต่กลายเป็นว่า ฝ่ายที่ไม่ชอบก็หาจุดที่ไม่ชอบมาประเมินรัฐบาลในเชิงลบ 3 เดือนกลับบ้าง ..ก็เห็นจะโวผลงาน 3 เดือนไง

คิดว่า คนไทยเบื่อความขัดแย้งมาก นี่น่าจะเป็นความหวังแห่งปี 67 ที่อยากให้การเมืองนิ่ง อะไรๆ มันจะเดินหน้าได้เสียทีโดยเฉพาะเศรษฐกิจ ที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และ รมว.คลังก็อธิบายเรื่อยๆ ว่าไปเชิญเอกชนขนาดใหญ่ที่ไหนมาลงทุนบ้าง มีเมกะโปรเจคเป็นโครงการแลนด์บริดจ์ที่จะเปิดประมูล ซึ่งคนก็หวังว่าจะมีการสร้างงานเพิ่มรายได้มากขึ้น ปรับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้น ( แต่เรื่องนี้จริงๆ ให้ดีแรงงานควรพัฒนาทักษะฝีมือด้วย เพราะมีแรงงานบางอย่างที่ค่าจ้างขั้นต่ำต่อวันสูงเนื่องจากทักษะ ) พอการลงทุนดี การบริโภคดี การส่งออกดี จีดีพีก็จะดี คนก็ฝากความหวังไว้กับรัฐบาล กระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้น ..แต่ถ้าจะหวังรัฐสวัสดิการที่ดีขึ้นด้วย ก็พึงรู้หน้าที่พลเมืองที่จะไม่หาทางเลี่ยงภาษี

และต่อมา สิ่งที่คิดว่าคนไทยทุกคนต้องการคือ “จัดการแกงค์คอลเซนเตอร์” เพราะสร้างความรำคาญไม่หยุดหย่อน แล้วพวกนี้มีพัฒนาการในการหลอกดูดเงินจากบัญชีมาก ก็ให้จำไว้ว่า “ถ้าเป็นเบอร์จากธนาคาร หรือองค์กรภาครัฐ จะไม่ใช้เบอร์มือถือโทรมาแล้วอ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ” หากใช้เบอร์มือถือโทรแล้วอ้าง ตีเป็นคอลเซนเตอร์ไปเลย ..มีใครส่งลิงค์อะไรให้กดก็อย่ากดมั่วๆ หรืออย่าให้ข้อมูลส่วนบุคคล

ก็เห็นมีข่าวคนอ้างว่าโดนหลอกไปเป็นแกงค์คอลเซนเตอร์ในประเทศเพื่อนบ้าน  แต่ถามคนแถวๆ นี้ไม่เชื่อ เพราะปากแจ๋วนักแต่ละคน บอกถึงสันดานจริง ไม่เหมือนโดนบังคับ ไม่มีการพยายามส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ .. พวกแกงค์คอลเซนเตอร์จะมี guidebook อยู่เล่มนึงที่จะอ่านตาม ถ้าเราตอบนอกสคริปต์พวกจะไปไม่เป็น แล้วจะจบลงสองอย่างคือ มันด่าเรามา หรือมันชิงวางสาย เรื่องนี้ก็ฝากให้เป็นผลงานของนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมด้วย และรัฐบาลควรกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติแบบเอาโทษหนักๆ หรือมีการใช้เทคโนโลยีอะไรในการติดตามจัดการด้วย สงสารคนหลายๆ คนที่ถูกหลอก บางคนเสียเงินเก็บทั้งชีวิต

นี่คือความหวังแรกๆ ในปี 67 ที่อยากให้เกิด

………………………………………….
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”