ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์เซีย-เซีย ในเมืองเบาเบา ทางตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัดสุลาเวสี ไม่มีลายลักษณ์อักษร และภาษาที่ใช้พยางค์ภาษานี้ ไม่สามารถแปลเป็นตัวอักษรละติน ซึ่งมักใช้ในการถอดเสียงภาษาประจำชาติของอินโดนีเซียได้อย่างง่ายดาย
แต่อักษรฮันกึลของเกาหลี มีการใช้ระบบพยางค์เหมือนกัน ส่งผลให้มันกลายเป็นเครื่องมือพิเศษ ในความพยายามอนุรักษ์ และถ่ายทอดภาษาของชาวเซีย-เซีย ซึ่งมีประชากรประมาณ 80,000 คน
“ในภาษาละติน มันไม่มีวิธีเห็นร่วมในการออกเสียง ‘ฟา’ หรือ ‘ตา’ แต่หลังจากผมเรียนภาษาเกาหลี กลับกลายเป็นว่าตัวอักษรเกาหลีมีเสียงเหล่านั้น” นายอบีดิน ครูวัย 48 ปี กล่าว “มันไม่เหมือนกันทุกประการ แต่มันมีความคล้ายคลึงกัน”
อินโดนีเซียเป็นประเทศหมู่เกาะ ซึ่งมีชนเผ่าและวัฒนธรรมมากมาย และมีภาษาที่เป็นเอกลักษณ์มากกว่า 700 ภาษา จึงทำให้อินโดนีเซีย เป็นหนึ่งในประเทศมีความหลากหลายทางภาษามากที่สุดในโลก โดยภาษาทางการของอินโดนีเซีย คือ “บาฮาซา อินโดนีเซีย” หรือภาษาอินโดนีเซีย ที่ใช้ตัวอักษรละตินเป็นรูปแบบการเขียนมาตรฐาน
อย่างไรก็ตาม ภาษาเซีย-เซีย ไม่มีลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจน จนกระทั่งปี 2552 เมื่อตัวอักษรฮันกึล ถูกนำมาใช้หลังการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ระหว่างเมืองเบาเบา กับกลุ่มนักวิชาการชาวเกาหลีใต้ ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าว เป็นผลมาจากการผลักดันร่วมกันของนักภาษาศาสตร์ชาวเกาหลีใต้ ที่โน้มน้าวว่า ระบบการออกเสียงของอักษรฮันกึล มีความเหมาะสมอย่างยิ่งต่อภาษาเซีย-เซีย
อบีดิน ใช้เวลาเรียนอักษรฮันกึลอยู่ที่เกาหลีใต้ นาน 6 เดือน และได้รับการยกย่องเป็น “ผู้บุกเบิก” การถอดเสียงภาษาเซีย-เซีย ให้เป็นตัวอักษร อีกทั้งเขายังเป็นผู้เขียนพจนานุกรมภาษาเซีย-เซีย โดยใช้ตัวอักษรฮันกึลด้วย
ด้านนายดาลาน เมฮูลี เปรังกิน-อังกิน นักภาษาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยซานาตา ดาร์มา ของอินโดนีเซีย กล่าวว่า การนำตัวอักษรฮันกึล มาใช้กับภาษาเซีย-เซีย แสดงให้เห็นถึงความปรารถนาอันแรงกล้า ในการอนุรักษ์ภาษาของพวกเขา
เมืองเบาเบา เป็นสถานที่แห่งเดียวในอินโดนีเซีย ซึ่งใช้อักษรฮันกึล การผลักดันให้ใช้ตัวอักษรของดังกล่าว ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลโซล และความเป็นชาตินิยมอาจทำให้ตัวตนของชุมชนพร่ามัวได้ ด้วยเหตุนี้ เปรังกิน-อังกิน จึงแนะนำว่า ภาษาเซีย-เซีย อาจนำตัวอักษร ซึ่งใช้โดยภาษาถิ่นอื่น ๆ ในจังหวัดสุเวลาสีมาใช้ เนื่องจากมันมีความเชื่อมโยงทางภาษาที่ใกล้เคียงกว่า
แต่สำหรับนักศึกษาบางคนที่เรียนรู้อักษรฮันกึลในเกาหลีใต้ ตัวอักษรข้างต้น เป็นสิ่งจุดประกายให้เกิดการสร้างวาทกรรมใหม่ ที่อุทิศให้กับการอนุรักษ์ภาษาเซีย-เซีย.
เลนซ์ซูม
เครดิตภาพ : AFP