ภายในเวิร์กชอปแห่งหนึ่ง นอกเมืองตูริน ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอิตาลี นายลูกา บัลเลซิโอ วัย 42 ปี ปั้นช็อกโกแลตด้วยไม้พาย และหั่นเป็นชิ้น ๆ อย่างช่ำชอง ก่อนที่นำมันวางเรียงบนถาดอย่างประณีต

นายกุยโด คาสตัญญา ประธานคณะกรรมการจันดุยอตโต

บัลเลซิโอ เป็นหนึ่งในคนทำช็อกโกแลตกลุ่มสุดท้ายที่ผลิตจันดุยอตโต ด้วยวิธีแบบเก่า ซึ่งเป็นการทำช็อกโกแลตด้วยมือ และขึ้นรูปทรงปริซึมตามแบบฉบับ

เขาเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการช่างฝีมือช็อกโกแลต ซึ่งมีสมาชิกประมาณ 40 คน ที่พยายามทำให้จันดุยอตโต ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น “สินค้าที่ได้รับการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์” (พีจีไอ) จากสหภาพยุโรป (อียู) เช่นเดียวบริษัทผลิตช็อกโกแลตชื่อดังอย่าง เฟอร์เรโร, เวนชิ และโดโมริ

เป้าหมายของคณะกรรมการ คือ การยกระดับช็อกโกแลต, เพิ่มยอดขาย ซึ่งประเมินไว้แล้วว่าอยู่ที่ประมาณ 200 ล้านยูโรต่อปี (ราว 7,600 ล้านบาท) และสืบสานประเพณีช็อกโกแลตในเมืองตูรินต่อไป แต่พวกเขาต้องเผชิญกับการคัดค้านจากลินดท์ เจ้าของบริษัท คาฟฟาเรล ผู้ผลิตช็อกโกแลตสัญชาติอิตาลี นับตั้งแต่ปี 2540 ซึ่งกล่าวอ้างว่าเป็นผู้คิดค้นจันดุยอตโต ส่งผลให้แผนของคณะกรรมการหยุดชะงักอยู่ที่กระทรวงเกษตรอิตาลี

ทั้งนี้ คณะกรรมการพัฒนาหลักเกณฑ์ที่ละเอียดยิบบางประการ และด้วยความซื่อสัตย์ที่มีต่อประเพณี พวกเขาจึงสนับสนุนให้กลับไปใช้สูตรทำจันดุยอตโตแบบดั้งเดิม ซึ่งประกอบด้วยเฮเซลนัตคั่วจากแคว้นปีเยมอนเต 30-45%, โกโก้อย่างน้อย 25% และน้ำตาล

อย่างไรก็ตาม สูตรจันดุยอตโต อายุ 200 ปีนี้ ไม่เข้ากับรสนิยมของลินดท์ ซึ่งต้องใส่นมผง และลดปริมาณเฮเซลนัตเหลือ 26% ทว่าการใส่นมผงถือเป็น “สิ่งนอกรีต” สำหรับใครหลายคน ดังเช่นนายกุยโด คาสตัญญา ประธานคณะกรรมการจันดุยอตโต ในเมืองตูริน ที่กล่าวว่า การใส่นมผงในช็อกโกแลต เปรียบเสมือนการเจือจางไวน์ด้วยน้ำ

“เราไม่ต้องการแย่งชิงสิ่งใดไปจากคาฟฟาเรล พวกเราไม่ได้ทำสงครามกับคาฟฟาเรล และสำหรับเรา คาฟฟาเรลสามารถดำเนินการผลิตต่อไปได้อย่างง่ายดาย” คาสตัญญา กล่าว “แต่เราต้องการบอกกับคาฟฟาเรล ให้ชัดเจนว่า พวกเรากำลังปกป้องจันดุยอตโต เหมือนกับที่มันถูกทำขึ้นมาตอนแรก”

อีกด้านหนึ่ง คาฟฟาเรล ยืนกรานว่า ไม่เคยคัดค้านการขึ้นทะเบียนเป็นพีจีไอ เนื่องจากมันมีส่วนทำให้จันดุยอตโต มีชื่อเสียงในอิตาลีและทั่วโลก แต่ทางบริษัทเกรงว่า การสร้างแบรนด์พีจีไอที่คล้ายคลึงกัน จะก่อให้เกิดความสับสนได้

ขณะที่ นายอันโตนิโอ บอร์รา ทนายความของคณะกรรมการพีจีไอ กล่าวว่า หากคาฟฟาเรลคิดว่ามันอาจจะมีโอกาส ทางคณะกรรมการก็พร้อมกับที่จะหารือเรื่องนี้กับพวกเขา “แต่มันมีหลายประเด็นที่เราไม่สามารถประนีประนอมได้ และอย่างแรกคือชื่อของ ตูริน ซึ่งมันเป็นของดินแดนทั้งหมด ไม่ใช่แค่ของบริษัทเดียว” บอร์รา เตือนทิ้งท้าย.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP