เข้าโหมดปีใหม่  “รถไฟความเร็วสูง” ยังเป็นความหวังของคนไทยที่เฝ้ารอใช้บริการเป็นประสบการณ์ใหม่ในการเดินทาง  โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ตามความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย-จีน เส้นทาง กรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะ(เฟส)ที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา 253 กิโลเมตร(กม.) 14 สัญญา วงเงิน 1.79 แสนล้านบาท ที่ใกล้ความจริงมากที่สุด

เนื่องจากก่อสร้างมาแล้วถึง 6 ปี หากนับจากพ.ศ.ที่คิกออฟวันที่ 21  ธ.ค.2560 แม้ภาพรวมการก่อสร้างได้ผลงานไม่ถึง 1 ใน 3 อยู่ที่ 28.61% โดยล่าช้าถึง 50.01% จากแผนงาน 78.62%  ด้วยปัญหาอุปสรรคต่างๆมากมายก็ตาม

 ขณะนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จ 2 สัญญาจากทั้งหมด 14 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1-1 สถานีกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. และสัญญาที่ 2-1 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก  11 กม. ที่เหลือ 12 สัญญา อยู่ระหว่างก่อสร้าง 10 สัญญา และรอลงนาม 2 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง  15.21 กม. วงเงิน 10,000 ล้านบาท  และ สัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว 13.3 กม. วงเงิน 10,325 ล้านบาท

การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เจ้าของโครงการฯ ให้คำมั่นล่าสุดว่า จะพยายามเคลียร์ปัญหาต่างๆ เพื่อเร่งรัดการก่อสร้างและเปิดบริการรถไฟไฮสปีดสายแรกของคนไทยให้ได้ภายในปี 2571 หลังจากเลื่อนเปิดบริการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไทม์ไลน์ครั้งแรกคือปี 2565  ช่วงแรกที่งานล่าช้าเพราะต้องเรียนรู้มาตรฐานทางเทคนิคการก่อสร้างของประเทศจีน ที่มีกรรมวิธีแตกต่างจากประเทศไทยค่อนข้างมาก ยังมาเจอวิกฤติขาดแคลนแรงงานและไม่สามารถขนส่งอุปกรณ์ก่อสร้างได้ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19

อุปสรรคหลักๆ ที่ยังลงนามไม่ได้  สัญญาที่ 4-1 มีโครงสร้างทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน(ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) จากบริเวณวัดเสมียนนารี ถึงสถานีดอนเมือง ประมาณ 10 กม. ต้องรอแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินฯ จบก่อน เบื้องต้นได้ข้อสรุปแล้วกำลังหารือเรื่องการก่อสร้างโครงสร้างทับซ้อนกับบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด (กลุ่มซีพี) เอกชนคู่สัญญา คาดว่าจะได้ข้อสรุปเดือน ม.ค. นี้แนวโน้มจะให้ซีพีเป็นผู้ก่อสร้าง

สัญญาที่ 4-5 แม้ได้บริษัท บุญชัยพาณิชย์(1979) จำกัด เป็นผู้รับจ้าง แต่เอกชนขอหารือกันภายในอีกเล็กน้อย เนื่องจากยังมีข้อกังวลเรื่องต้นทุนทางการเงิน เพราะสัญญาค่อนข้างแตกต่างจากสัญญาอื่นๆ ที่ให้สร้างทางวิ่งไปก่อนและเว้นสถานีอยุธยาไว้สร้างทีหลัง บริษัทยังยืนราคาเดิมคาดว่าจะลงนามสัญญาได้ในเดือน ม.ค.จากนั้น รฟท. จะออกหนังสือให้เอกชนเริ่มงาน (NTP) ต่อไป

รวมทั้งยังไม่สามารถตัดทิ้ง “สถานีอยุธยา” ที่นักวิชาการบางคนคัดค้านการก่อสร้างออกจากสัญญาที่ 4-5 ให้จบๆไปได้  รฟท. ต้องจัดส่งรายงานผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม (Heritage Impact Assessment : HIA) ที่แล้วเสร็จให้กรมศิลปากร ในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการมรดกโลกทางวัฒนธรรม และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในฐานะเลขานุการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกพิจารณาตามลำดับขั้นตอน

นอกจากนี้ยังมีประเด็นปัญหาสัญญาที่ 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา  12.3 กม. วงเงิน 7,750 ล้านบาท แม้จะลงนามสัญญาแล้ว แต่บริเวณโคกกรวด-บ้านใหม่ 7 กม. ติดข้อร้องเรียนชาวบ้านอยากให้สร้างเป็นทางยกระดับแทนทางระดับดิน เบื้องต้น รฟท. จะปรับให้ตามเสียงเรียกร้องแต่ต้องใช้งบฯเพิ่มขึ้นกว่า 4 พันล้านบาท จะเสนอคณะกรรมการ(บอร์ด) รฟท. พิจารณาเดือน ม.ค. รวมไปถึงปัญหาปลีกย่อยอื่นๆ อาทิ การเวนคืนที่ดินล่าช้าในบางสัญญา กำลังเร่งจ่ายค่าเวนคืนและเตรียมส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับจ้าง 

รฟท.ขีดเส้นอีกครั้งต้องเคลียร์ทุกปัญหาให้จบภายในเดือน พ.ค. ถ้าทำไม่ได้ปล่อยให้ยืดเยื้อความหวังของคนไทยยิ่งไกลออกไปกว่าจะได้ใช้รถไฟไฮสปีดสายแรกยาวไป15-20 ปี

ส่วนโครงการส่วนต่อขยายรถไฟไฮสปีดไทย-จีนเฟสที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย 356 กม. วงเงินประมาณ 3 แสนล้านบาท ล่าสุดรฟท. ส่งรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ชี้แจงเพิ่มเติม ครั้งที่ 2 ให้ สผ. พิจารณานำเสนอคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการโครงสร้างพื้นฐานทางบกและทางอากาศ (คชก.) แล้ว คาดว่าจะพิจารณาเดือน ม.ค.คู่ขนานไปกับการเสนอขออนุมัติโครงการต่อบอร์ด รฟท. ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบ

หากผ่านครม. ภายในเดือน มี.ค.จะหาผู้รับจ้างและเริ่มก่อสร้างต้นปี 2568 ปักหมุดให้บริการปี 2572 ไล่หลังเฟสแรก  เพื่อให้ประชาชนได้สมหวังกับการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังหนองคาย  609 กม. ในเวลาอันรวดเร็วเพียง3 ชม.15 นาที เชื่อมต่อสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) และประเทศจีน ผ่านสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ห่างสะพานเดิม 30 เมตร ที่เตรียมออกแบบรายละเอียดและจัดทำ EIA รวมถึงเจรจา สปป.ลาวเรื่องต่างๆคาดว่าจะเปิดสะพานได้ประมาณปี 2572

ขณะที่ไฮสปีดสายที่ 2 ของไทย  “โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน(ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)” 220 กม. วงเงิน 2.24 แสนล้านบาท รฟท. ลงนามสัญญาร่วมทุนกับเอกชนตั้งแต่วันที่ 24  ต.ค.2562 ผ่านไปกว่า 4 ปี ยังไม่เริ่มลงมือว้าวุ่นขอแก้ไขสัญญา รฟท. ประกาศส่งมอบพื้นที่ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภาและพื้นที่เชิงพาณิชย์ ให้เอกชนครบแล้ว 100% การออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงานรอเอกชนรับบัตรส่งเสริมการลงทุน (BOI) ก่อน ที่ตั้งเวลาเดินทางด้วยไฮสปีดจากสนามบินดอนเมือง-สนามบินอู่ตะเภาภายใน  1 ชม. 50 นาที ยังไกลความจริงอยู่มาก

เปิดศักราชใหม่ 2567 ต้องอัปสปีด….รถไฟไฮสปีด ไม่ให้คนไทยละทิ้งความหวัง 

___________________

นายสปีด