ทว่าบนเส้นทางสู่การเป็นหนึ่งในคนขับตุ๊กๆ หญิงจำนวนน้อยในกัมพูชา โสภีไม่เพียงต้องหลบผู้ใช้รถใช้ถนนรายอื่น แต่เธอยังต้องหลีกเลี่ยงการเยาะเย้ย การเกลียดผู้หญิง และอคติด้วย

แม้กัมพูชาดำเนินขั้นตอนทางกฎหมายและทางปฏิบัติ เพื่อความเท่าเทียมทางเพศ แต่ประเทศยังคงเป็นสังคมปิตาธิปไตยแบบอนุรักษนิยม ซึ่งผู้หญิงถูกคาดหวังให้ดูแลบ้านกับครอบครัว มากกว่าการหางานทำโดยได้รับค่าตอบแทน

โสภีเริ่มต้นอาชีพของเธอ หลังจากยืมเงิน 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 105,000 บาท) เพื่อซื้อรถตุ๊กๆ และตอนนี้ เธอขับรถผ่านถนนที่ร่มรื่นของนครวัด มานานกว่า 3 ปีแล้ว

TaiwanPlus News

โสภีคิดค่าบริการประมาณ 15 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 526 บาท) ต่อผู้โดยสาร 1 คน สำหรับการทัวร์รอบนครวัด แหล่งมรดกโลกขององค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก)

หลังผ่านมานานหลายปี ในที่สุด เพื่อนร่วมงานชายก็ยอมรับเธอ “เราชนะใจพวกเขา พวกเขาหยุดเลือกปฏิบัติกับเรา พวกเขาคิดว่าเราเหมือนกัน” โสภีกล่าว “ฉันรักงานนี้ และฉันคิดว่าผู้หญิงทุกคนสามารถทำได้”

ทั้งนี้ รายงานขององค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐ (ยูเอสเอด) เมื่อปี 2563 ระบุว่า ผู้หญิงถูกกีดกันด้วยค่าจ้างที่ต่ำ สภาพการทำงานที่ไม่ดี การขาดการดูแลเด็ก ตลอดจนการเข้าถึงการเงินและการฝึกอบรมที่จำกัด

เพื่อช่วยเหลือผู้หญิงในสาขาอาชีพที่มีผู้ชายเป็นใหญ่ นางคิม ซกเลียง คนขับรถตุ๊กๆ ชื่อดัง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในฉายา “คุณหญิงตุ๊กๆ” จึงก่อตั้งสมาคมคนขับรถพ่วงจังหวัดเสียมราฐ เมื่อปี 2565 มีสมาชิกเป็นหญิง 20 คน และในจำนวนนี้มี 6 คน ที่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวเหมือนกับเธอ

คิม กล่าวว่า วันแรกไม่มีผู้โดยสารเลย กระนั้น ความอุตสาหะก็ทำให้เธอประสบความสำเร็จ และปัจจุบัน คุณหญิงตุ๊กๆ ได้รับการยกย่องจากนักท่องเที่ยว ทั้งในและต่างประเทศ ที่มาเยือนสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของกัมพูชา

นางสทีน โซลไฮม์ นักท่องเที่ยวชาวนอร์เวย์ และเพื่อนอีกคนหนึ่ง กล่าวว่า พวกเขารู้สึก “ปลอดภัย” เมื่อคิมขับรถให้ และรู้สึกประทับใจกับความพยายามของเธอ ในการยืนหยัดเพื่อผู้หญิง “พวกเธอมีความหลงใหลในสิ่งที่ทำ อีกทั้งพวกเธอยังสนุกไปกับมัน และรู้สึกภาคภูมิใจด้วย” โซลไฮม์ กล่าว

อนึ่ง รถตุ๊กๆ ซึ่งเป็นรถลาก 2 ล้อ ที่พ่วงกับรถจักรยานยนต์ เป็นหนึ่งในวิธีการขนส่งที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของกัมพูชา แม้จะไม่มีสถิติอย่างเป็นทางการ แต่สมาคมประชาธิปไตยอิสระของเศรษฐกิจนอกระบบ ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ (เอ็นจีโอ) ประมาณการว่า กัมพูชามีคนขับรถตุ๊กๆ หลายหมื่นคน คอยให้บริการทั่วประเทศ.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP