เรียนคุณหมอ ดร.โอ สุขุมวิท 51 ที่เคารพ
ตอนนี้ผมอายุ 54 ปี ทำงานระดับผู้บริหารในบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง มีปัญหาที่ค้างคาอยู่ในหัวใจมาเป็นเวลานานแล้ว ทำให้เกิดความกังวลที่ไม่สามารถหาคำตอบคลี่คลายปัญหาได้ด้วยตัวเองจึงต้องมาขอความช่วยเหลือจากคุณหมอ ดร.โอ ที่รอบรู้และเชี่ยวชาญในเรื่องเกี่ยวกับปัญหาสมรรถภาพทางเพศ สังเกตอาการที่เกิดขึ้นกับตัวเองก็คือ โดยปกติแล้วในช่วงก่อนตื่นนอนในตอนเช้า อวัยวะเพศมักจะตื่นตัวมาตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นจนถึงวัยผู้ใหญ่ แต่เมื่อราว 5-6 เดือนที่ผ่านมา อวัยวะเพศไม่ยอมแข็งตัวตอนเช้าเลย และยังพบอีกว่าไม่ค่อยมีอารมณ์ทางเพศ เบื่อหน่ายมากขึ้นกับการที่อวัยวะเพศแข็งตัวไม่เต็มที่ ที่สำคัญก็คือมักจะมีอารมณ์หงุดหงิดบ่อย รู้สึกตัวเหมือนกันว่าตอนกลางคืนเดี๋ยวก็ร้อนเดี๋ยวก็หนาว นอนไม่ค่อยหลับ ชอบตื่นตกใจตอนดึกแล้วก็นอนไม่ค่อยหลับ ส่วนภรรยาเธออายุ 48 ปีก็เริ่มเห็นความผิดปกติของผม เคยอ่านพบในคำตอบของคุณหมอบอกว่าเป็นอาการเกี่ยวกับการพร่องฮอร์โมนทางเพศ อาการที่เล่ามาเป็นอาการของการพร่องฮอร์โมนทางเพศชายใช่หรือไม่ หากเป็นแล้วจะต้องแก้ไขอย่างไร ขอรับคำแนะนำด้วย

ด้วยความเคารพ
ไชยะ 54

ตอบ ไชยะ 54
อาการที่กล่าวมาข้างต้นของชายวัย 54 ปี เป็นอาการของการมีระดับฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรนต่ำตามปกติผู้ชายเราหลังอายุ 20 ปี จะพบว่าระดับฮอร์โมนทางเพศชายเทสโทสเตอโรนก็จะค่อยๆลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉลี่ยปีละ 1% ผู้ชายเหล่านี้จะไม่รู้สึกว่าทั้งร่างกายและจิตใจของตัวเองนั้นเปลี่ยนไป ส่วนมากจะมารู้สึกตัวอีกทีก็ตอนที่อายุประมาณ 40 ปี ซึ่งชายที่พร่องฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรนนั้นจะมีอาการเหล่านี้แสดงออกเช่น หงุดหงิด นอนไม่หลับ เหนื่อยง่าย ร้อนวูบวาบ ความดันโลหิตสูง อ้วนลงพุง ปวดข้อเข่า ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ง่วงซึม หรือแม้แต่มีความต้องการทางเพศลดลงหรือหย่อนสมรรถภาพทางเพศได้ การแข็งตัวของอวัยวะเพศในตอนเช้าน้อยลง

อาการเหล่านี้ไม่เพียงแต่มีผลกระทบต่อตัวเอง แต่ยังมีผลต่อคู่สมรส ครอบครัว หรือคนรอบข้างอีกด้วย วิธีแก้ไขคือการได้รับการเสริมฮอร์โมนเพศทดแทนเพื่อให้ร่างกายและจิตใจกลับมาเป็นปกติ ซึ่งวิธีนี้ทำได้ไม่ยากเลย เนื่องจากปัจจุบันนี้มีวิธีเสริมฮอร์โมนเพศชายด้วยกันหลายวิธีได้แก่วิธีรับประทาน วิธีทาที่ผิวหนังและวิธีฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ใช้สำหรับรักษาภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชายซึ่งมีใช้มานาน ได้ผลดีทั้งร่างกายและจิตใจ ดังนั้นการได้รับการให้ฮอร์โมนเพศชายเสริมในกลุ่มชายที่ขาดฮอร์โมนเพศชายจึงมีประโยชน์ต่อสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นระบบกล้ามเนื้อ กระดูก ความจำ เป็นต้น

การให้ฮอร์โมนเพศชายเสริมในกลุ่มชายที่ขาดฮอร์โมนเพศชายจึงไม่ได้จำกัดอยู่ที่การรักษาสมรรถภาพทางเพศเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ทีนี้คุณลองสำรวจดูตัวเองหรือคนรอบข้างดูว่ามีอาการดังกล่าวข้างต้นหรือไม่ ถ้ามีแล้วลองปรึกษาแพทย์ตรวจเลือดให้มั่นใจว่าขาดและไม่มีข้อห้ามที่จะเพิ่มฮอร์โมนถือเป็นการรักษา เพื่อให้อาการดังที่กล่าวมาดีขึ้นทั้งทางร่างกายและจิตใจ เพิ่มพลังทางเพศแก่ตัวเองและให้ความสุขแก่ฝ่ายหญิงด้วย.

………………………………….
ดร.โอ สุขุมวิท51