รัฐมนตรี 4 คน จากพรรคเสรีประชาธิปไตย (แอลดีพี) ซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งของตัวเอง เมื่อเดือนธ.ค. ปีที่แล้ว ขณะที่นายกรัฐมนตรีฟุมิโอะ คิชิดะ ยืนหยัดทำหน้าที่ผู้นำญี่ปุ่นต่อไป ท่ามกลางคะแนนความนิยมของเขาที่ดิ่งลงเหลือ 17% ซึ่งนับว่าเลวร้ายที่สุดในรอบกว่า 10 ปี และความโกรธเคืองไม่พอใจของสาธารณชน บนสื่อสังคมออนไลน์

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา สื่อหลายแห่งในญี่ปุ่นร่วมกันเปิดโปง ว่านักการเมืองหลายคนของพรรคแอลดีพี รับสินบนรวมกันมากกว่า 500 ล้านเยน (ราว 121 ล้านบาท) ผ่านกิจกรรมระดมทุน ที่หนึ่งในกลุ่มย่อยของพรรคแอลดีพีจัดขึ้น ซึ่งกรณีอื้อฉาวดังกล่าว ทำให้อัยการญี่ปุ่นตรวจค้นสำนักงานบางแห่งของพรรครัฐบาล และสอบสวนกลุ่มย่อยของพรรคแอลดีพี 5 กลุ่ม จากทั้งหมด 6 กลุ่ม เกี่ยวกับกองทุนตั๋วซึ่งมีรายงานไม่ครบถ้วน

สำหรับญี่ปุ่น มันเป็นเรื่องปกติที่นักการเมืองจะจัดงานที่ต้องซื้อตั๋ว ซึ่งพวกเขาตั้งเป้าที่จะระดมทุนผ่านการขายตั๋วเหล่านี้ ทว่าสมาชิกผู้แทนราษฎรหลายคนของพรรคแอลดีพี ถูกกล่าวหาว่า เก็บยอดขายส่วนเกิน โดยไม่มีการบันทึกหรือรายงานให้ทราบ ทั้งการรับ “เงินสินบน” เข้ากระเป๋าตัวเอง หรือใส่ไว้ใน “กองทุนสกปรก” เพื่อใช้ในการรักษา หรือเพิ่มเครือข่ายทางการเมืองของพวกเขา

“เพื่อรักษาตำแหน่งของคุณ ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในญี่ปุ่น คุณมักจะต้องดูแลเพื่อนของคุณเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น ผู้ที่สนับสนุนคุณในจังหวัด เมือง หรือหมู่บ้าน และนักการเมืองระดับภูมิภาค ซึ่งในความคิดเห็นของผมโดยพื้นฐานแล้ว การติดสินบนพวกเขา คุณต้องมีเงินสด เพราะคุณไม่สามารถใช้วิธีการบริจาคอย่างเป็นทางการได้อีกต่อไป เพราะมันเป็นสิ่งต้องห้าม” นายเซอิจิโระ ทาเคชิตะ ศาสตราจารย์ด้านการบริหารจัดการและสารสนเทศศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยชิซุโอกะ กล่าว

ท่ามกลางแรงกดดัน และความโกรธเคืองของสาธารณชนที่เพิ่มขึ้น เกี่ยวกับข้อกล่าวหาเรื่องงานระดมทุนดังกล่าว รัฐมนตรีระดับว่าการ 4 คน ได้แก่ นายฮิโรคาซุ มัตสึโนะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี, นายยาสึโทชิ นิชุมูระ รมว.เศรษฐกิจและอุตสาหกรรม, นายจุนจิ ซูซูกิ รมว.มหาดไทย และนายอิชิโร มิยาชิตะ รมว.เกษตร จึงตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง

คิชิดะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มย่อยที่ถูกสอบสวน แต่อัยการกล่าวว่า พวกเขากำลังสืบสวนกลุ่มของผู้นำญี่ปุ่นเช่นกัน ซึ่งคิชดะเลือกที่จะตีตัวออกห่าง พร้อมกับให้คำมั่นว่าจะ “ดำเนินการอย่างแข็งขันและสุดความสามารถ” เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นของประชาชน ให้กลับคืนสู่พรรคแอลดีพี รวมทั้งบอกเป็นนัยถึงการปฏิรูปกฎหมายด้วย

แม้คิชิดะ ถูกมองว่าเป็น “คนปลอดภัย” จากกลุ่มการเมืองญี่ปุ่นที่แข่งขันกัน แต่การดำรงตำแหน่งของเขาเต็มไปด้วยเรื่องอื้อฉาว ตลอดจนความไม่พอใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ที่มีต่อวิกฤติค่าครองชีพของประเทศ

กระนั้น นักวิเคราะห์หลายคนกลับไม่หวังว่า สิ่งเหล่านี้อาจปิดฉากการปกครองของพรรคแอลดีพี หรือการกำหนดนิยามใหม่ให้กับการเมืองญี่ปุ่น ในทางกลับกัน บรรดาผู้วิจารณ์ต่างจับจ้องไปที่บทบาททางการเมืองในพรรคแอลดีพี เนื่องจากการถอดบุคคลสำคัญออก อาจเปลี่ยนแปลงแนวทางของรัฐบาลในนโยบายสำคัญ.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP