1) แผ่นดินไหวตุรกี

เมื่อวันที่ 6 ก.พ. เกิดแผ่นดินไหวรุนแรง 7.4 แมกนิจูด ในตุรกี โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ลึกลงไปใต้พื้นดินประมาณ 10 กิโลเมตร ระหว่างเมืองคาห์รามันมาราส กับเมืองกาเซียนเทป ที่อยู่ทางตอนใต้ และมีพรมแดนบางส่วนติดกับซีเรีย ซึ่งอุบัติการณ์ดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 50,000 ราย, มีผู้ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 100,000 คน และมีอาคารบ้านเรือนได้รับความเสียหาย หรือถูกทำลายรวมเกิน 1 ล้านหลัง อีกทั้งธรณีพิบัติภัยครั้งนี้ ยังเป็นแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 84 ปี ของตุรกีด้วย

2)อินเดียมีประชากรมากที่สุดในโลก แซงจีน

นับตั้งแต่สหประชาชาติ (ยูเอ็น) เริ่มเก็บข้อมูลประชากรโลก เมื่อปี 2493 จีนครองแชมป์ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกมาโดยตลอด กระทั่งกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอฟพีเอ) เผยแพร่รายงานช่วงปลายเดือน เม.ย. ซึ่งระบุว่า จากการคำนวณปัจจัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ข้อมูลสำมะโนประชากร อัตราการเกิด และอัตราการเสียชีวิต อินเดียได้ทำลายสถิติ และกลายเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกแทนจีนแล้ว ด้วยจำนวนประชากรอย่างน้อย 1,428 ล้านคน เมื่อเทียบกับจีน ซึ่งมีประชากรรวมอยู่ที่มากกว่า 1,425 ล้านคน

3)เด็ก 4 คนรอดตายเครื่องบินตกในป่าแอมะซอน

เรื่องราวของเด็ก 4 คน อายุ 13 ปี, 9 ขวบ, 4 ขวบ และ 1 ขวบ เชื้อสายชนเผ่าฮุยโตโต ที่เอาชีวิตรอดในป่าแอมะซอนเป็นเวลานานกว่า 1 เดือน เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 1 พ.ค. หลังเกิดเหตุเครื่องบินโดยสารขนาดเล็กประสบปัญหาเกี่ยวกับเครื่องยนต์ เพียงไม่กี่นาทีก่อนที่จะหายไปจากเรดาร์ และตกกลางป่าในเวลาต่อมา ส่งผลให้มารดาของกลุ่มเด็ก ญาติคนหนึ่ง และนักบิน เสียชีวิต ซึ่งทหารและเจ้าหน้าที่กู้ภัยของโคลอมเบีย ระดมกำลังค้นหา จนพบร่องรอยต่าง ๆ ที่บ่งบอกว่า เด็กกลุ่มนี้ยังมีชีวิตอยู่ แม้ปฏิบัติการดำเนินไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากภูมิประเทศที่ซับซ้อน สัตว์ป่า และสภาพอากาศที่ แต่ท้ายที่สุด ทีมกู้ภัยก็สามารถช่วยเหลือเด็กทั้งสี่คน ที่รอดชีวิตอยู่ในป่าแอมะซอนนานถึง 40 วัน ได้สำเร็จ

4)ฮอลลีวูดสไตรก์

ธุรกิจภาพยนตร์และโทรทัศน์ยักษ์ใหญ่อย่าง “ฮอลลีวูด” ประสบกับการชะงักงันครั้งใหญ่ เมื่อนักเขียนบทภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ ของสมาคมนักเขียนแห่งอเมริกา (ดับเบิลยูจีเอ) หลายพันคน หยุดงานประท้วงในช่วงต้นเดือน พ.ค. ตามด้วยการร่วมสไตรก์ของนักแสดงหลายหมื่นคน จากสมาคมนักแสดงภาพยนตร์และโทรทัศน์ หรือ SAG-AFTRA ในช่วงกลางเดือน ก.ค. เพื่อเรียกร้องผู้ประกอบการรายใหญ่ในอุตสาหกรรมบันเทิง ให้เพิ่มค่าตอบแทนและสวัสดิการ ตลอดจนกำหนดแนวทางที่ไม่ให้ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เข้ามามีบทบาทกับอุตสาหกรรมนี้ “มากเกินไป” ซึ่งหลังจากมีการตกลงกับตัวแทนจากสตูดิโอและบริษัทผู้ผลิตหลายแห่ง การประท้วงที่ยืดเยื้อนานเกือบ 5 เดือน ก็ยุติลงด้วยดี

5)เรือดำน้ำไททัน

ในวันที่ 20 มิ.ย. “เรือดำน้ำไททัน” ที่นำมหาเศรษฐี 5 คน เที่ยวชมซากเรือประวัติศาสตร์ “ไททานิก” ขาดการติดต่อกับภาคพื้นดิน และสูญหายไป หลังดำดิ่งสู่ใต้มหาสมุทรแอตแลนติกได้ไม่ถึง 2 ชั่วโมง ส่งผลให้หลายหน่วยงานของสหรัฐกับแคนาดา ร่วมกันระดมกำลังค้นหาเรือลำดังกล่าวอย่างเต็มที่ แข่งกับเวลาที่มีไม่มากนักก่อนออกซิเจนในเรือดำน้ำจะหมดลง ทว่าหลังจากนั้น 4 วัน มันก็กลายเป็นอีกหนึ่งในโศกนาฏกรรมของปีนี้ เมื่อทีมค้นหาพบเศษชิ้นส่วนของเรือดำน้ำไททันบริเวณก้นทะเล ห่างจากส่วนหัวของเรือไททานิกประมาณ 500 เมตร อีกทั้งระหว่างภารกิจเก็บกู้ซากเรือ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสหรัฐ, แคนาดา, สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส ยังมีการพบชิ้นส่วนศพด้วย เท่ากับเป็นการยืนยันว่า ผู้โดยสารทั้งห้าคนบนเรือ เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้ทั้งหมด

6)จีนฟื้นฟูความสัมพันธ์กับออสเตรเลีย

การเดินทางเยือนจีนอย่างเป็นทางการ ของนายกรัฐมนมตรีแอนโธนี อัลบาเนซี ผู้นำออสเตรเลีย และการต้อนรับเป็นอย่างดี จากประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน เมื่อวันที่ 7 พ.ย. คือ จุดเริ่มต้นของการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ ให้กลับมาอยู่ในระดับที่ “มีความเชื่อมั่นต่อกัน” หลังจากเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีตึงเครียด และอยู่ในระดับ “ต่ำสุด” ในรอบหลายสิบปี เนื่องจากความขัดแย้งในเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การค้า, ความมั่นคงระดับชาติ, ไต้หวัน และการสร้างอิทธิพลเหนือกลุ่มประเทศหมู่เกาะในภูมิภาคมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้

7)ญี่ปุ่นปล่อยน้ำบำบัดจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ

บริษัทไฟฟ้าโตเกียว (เทปโก) ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ เริ่มปล่อยน้ำบำบัดจากอ่างเก็บของโรงไฟฟ้า ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก เมื่อวันที่ 24 ส.ค. และคาดว่าการระบายน้ำบำบัดทั้งหมดมากกว่า 1 ล้านลูกบาศก์เมตร อาจใช้เวลานานประมาณ 30 ปี ซึ่งมีการยืนยันถึงความปลอดภัยจากสำนักงานตรวจสอบนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น และทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) แต่ถึงอย่างนั้น การดำเนินการดังกล่าวยังคงสร้างความไม่พอใจอย่างมากให้กับหลายฝ่ายมาจนถึงปัจจุบัน และทำให้เกิดการตอบโต้รัฐบาลโตเกียวในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การระงับการนำเข้าอาหารทะเลของญี่ปุ่น ตลอดจนการร้องเรียนจากองค์กรสิ่งแวดล้อม และภาคอุตสาหกรรมของประเทศ

8)เกาหลีเหนือส่งดาวเทียมสอดแนมทางทหาร + ไอซีบีเอ็ม

ความเคลื่อนไหวของเกาหลีเหนือที่น่าจับตามองในปีนี้ คงไม่พ้นการประสบความสำเร็จในการนำส่งดาวเทียมสอดแนมทางทหาร “มัลลิกย็อง-1” เมื่อวันที่ 22 พ.ย. หลังจากล้มเหลวถึง 2 ครั้ง และในเวลาต่อมา ฝ่ายความมั่นคงของเกาหลีใต้ยืนยันว่าดาวเทียมดวงนี้เข้าสู่วงโคจรจริง ซึ่งแน่นอนว่า สหรัฐ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ประณามการดำเนินการดังกล่าวอย่างหนัก โดยเฉพาะเกาหลีใต้ ที่ส่งดาวเทียมแบบเดียวกันเพื่อเฝ้าระวัง และแสดงการตอบโต้ นอกจากนี้ เกาหลีเหนือยังทำการทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีป (ไอซีบีเอ็ม) “ฮวาซอง-18” เมื่อวันที่ 18 พ.ย. ซึ่งเป็นครั้งที่ 5 ในปีนี้ หลังกลุ่มที่ปรึกษานิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐ-เกาหลีใต้-ญี่ปุ่น จัดการประชุมร่วมกันเป็นครั้งที่สองในปีนี้ เพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติอย่างจริงจัง ในการวางแผนและดำเนินงานเกี่ยวกับแผนยุทธศาสตร์นิวเคลียร์

9)ภาวะโลกเดือด / โลกร้อนสุดเป็นประวัติการณ์ + คอป 28

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (ดับเบิลยูเอ็มโอ) เผยแพร่รายงานสำคัญเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ซึ่งระบุว่า 2566 เป็นปีที่โลกมีอุณหภูมิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยร้อนขึ้น 1.4 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม และอุณหภูมิมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกในปี 2567 หลังจากก่อนหน้านี้ในเดือน ส.ค. กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) เตือนว่า “โลกกำลังเข้าสู่ภาวะโลกเดือด” ขณะที่การประชุมสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) หรือ “คอป 28” ในช่วงต้นเดือน ธ.ค. ยังคงให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ รวมถึงภาวะโลกร้อน และนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของการประชุมนี้ ที่ผู้แทนจากเกือบ 200 ประเทศ ร่วมกันกล่าวถึงการลดใช้พลังงานฟอสซิล “อย่างจริงจัง” ตลอดจนการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาด เพื่อบรรลุเป้าหมายคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2593

10)เอไอ

สำหรับปี 2566 ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เป็นเป็นสิ่งที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ซึ่งสังเกตได้จากการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน มันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เอไอมีความเสี่ยงต่อด้านต่าง ๆ จนกลายเป็นประเด็นถกเถียงอย่างกว้างขวาง อีกทั้งยังมีคนจำนวนมากที่แสดงความกังวล เกี่ยวกับศักยภาพของเอไอ และการนำเทคโนโลยีข้างต้นไปใช้ในทางที่ผิด ส่งผลให้กลุ่ม หน่วยงาน และองค์กรต่าง ๆ รวมถึงรัฐบาลในหลายประเทศ เริ่มดำเนินมาตรการตรวจสอบและติดตามเอไออย่างเข้มงวด ตลอดจนกำหนดกฎระเบียบที่ชัดเจน สำหรับการใช้เอไอ เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอันตราย และควบคุมเทคโนโลยีนี้ ให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดของมนุษย์

ทีมข่าวต่างประเทศ

เครดิตภาพ : AFP