หลังเหตุการณ์ประท้วง “อาหรับสปริง” เมื่อปี 2554 ซึ่งนำไปสู่การขับไล่มูบารัก ซิซี ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น รมว.กลาโหมอียิปต์ และผู้บัญชาการทหารสูงสุดของประเทศ โดยประธานาธิบดีโมฮาเหม็ด มอร์ซี จากกลุ่มภราดรภาพมุสลิม ผู้กลายเป็นศัตรูตัวฉกาจของซิซี ในเวลาต่อมา

ในเดือน ก.ค. 2556 ซิซี ยุติการปกครองที่วุ่นวายนาน 1 ปี ของมอร์ซี ตามมาด้วยการปราบปรามบรรดาผู้สนับสนุนกลุ่มภราดรภาพมุสลิม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยราย และมีผู้ถูกจับกุมอีกหลายพันคน

ซิซี เกษียณออกจากกองทัพ เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งเมื่อปี 2557 และปี 2561 ซึ่งเขาได้รับชัยชนะได้อย่างไม่ยากเย็น ด้วยคะแนนเสียงประมาณ 97% ในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง แต่ตัวเลขดังกล่าวลดลงเล็กน้อย จากชัยชนะครั้งล่าสุดของซิซี โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งของอียิปต์ ประกาศว่า เขาได้รับคะแนนเสียงสนับสนุน 89.6%

สำหรับกลุ่มผู้สนับสนุนซิซี รวมถึงสื่อรายใหญ่ของอียิปต์ เขายังคงเป็น “วีรบุรุษ” ซึ่งปราบปราม “การก่อการร้าย” อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ชาวอียิปต์จำนวนมากต้องดิ้นรนเอาชีวิตรอด ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายที่สุดของประเทศ ซึ่งหลักการสำคัญของซิซี อาจไม่สามารถโน้มน้าวใจผู้คนได้เหมือนกับที่เคยเป็นมา ทั้งภายในประเทศ และในกลุ่มพันธมิตรของอียิปต์

แม้ผู้สนับสนุนต่างยกย่องซิซี ที่ช่วยฟื้นฟูความรู้สึกปลอดภัยของชาวอียิปต์ และให้ความสำคัญกับโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ แต่บรรดานักวิเคราะห์กล่าวเตือนว่า โครงการเหล่านี้เป็น “โครงการเอาหน้า” ซึ่งทำให้เงินคลังของประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง

ภายใต้การนำของซิซี อียิปต์ปิดปากการต่อต้านทางการเมืองทุกรูปแบบ รัฐบาลไคโรจับกุมนักโทษการเมืองหลายหมื่นคน ซึ่งส่วนใหญ่ถูกคุมขัง เพียงเพราะแสดงความไม่พอใจทางออนไลน์ เกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อเท่านั้น

ในช่วงปีแรกที่ซิซีอยู่ในอำนาจ เขามีภาพลักษณ์ของ “บิดาของอียิปต์” แต่ปัจจุบัน ชาวอียิปต์ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็น “แก้วตาดวงใจ” มักจะรู้สึกว่าตัวเองถูกตำหนิ เมื่อซิซี บอกพวกเขาให้ “หยุดพูดเรื่องไร้สาระ” เกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจที่พวกเขาไม่เข้าใจ, ขอให้พวกเขาอดทนต่อ “ความหิวโหยและการขาดแคลน” เพื่อความก้าวหน้า และขอให้พวกเขาพิจารณา “การบริจาคโลหิต” เพื่อหารายได้เสริม

ด้านนักวิเคราะห์หลายคนกล่าวว่า ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ ทำให้ซิซีสูญเสียคะแนนความนิยมในทุกชนชั้น เนื่องจากสกุลเงินปอนด์อียิปต์ สูญเสียมูลค่าครึ่งหนึ่ง นับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2565 และอัตราเงินเฟ้อของประเทศ ก็พุ่งสูงเกิน 40% ในเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา อีกทั้งประเทศพันธมิตรที่เคยพึ่งพาอาศัยกัน กลับเริ่มเรียกร้องให้อียิปต์ดำเนินการปฏิรูป และตอบแทนการลงทุนของพวกเขา

นอกจากนี้ การที่รัฐบาลของซิซี ชะลอความเคลื่อนไหวต่าง ๆ เพื่อลดบทบาทของกองทัพในเศรษฐกิจของประเทศ ยังทำให้รัฐบาลของนานาชาติ สูญเสียความมั่นใจมากขึ้นเรื่อย ๆ ต่อความตั้งใจของรัฐบาลไคโร ที่มีต่อการปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างแท้จริง.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP