…เป็นการระบุของ ณรงค์ ขันติวิริยะกุล รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ถึง “โครงการชุมชนอุดมสุข” โครงการเพื่อสังคมที่มุ่งช่วย “ยกระดับให้ชุมชนอย่างยั่งยืน” ภายใต้ 6 สิ่งดี ๆ…

       นั่นคือ… กินอิ่ม นอนอุ่น หุ่นดี…“

       และ… ’…ทุนมี หนี้ลด หมดทุกข์“

       โดย ’ชุมชนเป็นศูนย์กลางพัฒนา“

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.ที่ผ่านมาทาง ธ.ก.ส. ได้มีการจัดพิธีเปิดการ ประกวดชุมชนอุดมสุขที่ยั่งยืนยอดเยี่ยม ระดับประเทศ ประจำปีบัญชี 2566 โดยมี สุนทร ตาละลักษณ์ กรรมการ และคณะอนุกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธีเปิด ซึ่งได้ระบุถึงโครงการดังกล่าวนี้ไว้ว่า… การประกวดชุมชนอุดมสุขครั้งนี้ เป็นการจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ภายใต้สโลแกน… “กินอิ่ม นอนอุ่น หุ่นดี ทุนมี หนี้ลด หมดทุกข์” เพื่อ…

’ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ผ่านทางการพัฒนาชุมชนภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการใช้ชุมชนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา และยกระดับชุมชนสู่การเป็นชุมชนอุดมสุข ทั้งด้านการส่งเสริม และสนับสนุน การเรียนรู้ผ่านกิจกรรมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษาและเอกชน“

คุณสมบัติชุมชนที่เข้าประกวดชุมชนอุดมสุขที่ยั่งยืนระดับประเทศ คือ… เป็นชุมชนอุดมสุขที่มีผลประเมินระดับ A มีแผนธุรกิจและการดำเนินกิจกรรมตาม BCG Model (เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว)นำทรัพยากรท้องถิ่นมาสร้างมูลค่าเพิ่ม และมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ดำเนินกิจกรรมและประกอบอาชีพ โดยในการตัดสินระดับประเทศจะใช้เกณฑ์ทั้งมิติ เศรษฐกิจ ได้แก่ การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ การบริหารช่องทางการตลาด การพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ รวมถึงมิติด้าน สังคม, วัฒนธรรม, ประเพณี และยังมีเกณฑ์ด้านการดำเนินงานโดยคำนึงถึง สิ่งแวดล้อม ด้วย

สำหรับในครั้งนี้ในปีนี้… มีชุมชนที่ผ่านการคัดเลือกเข้าแข่งขันระดับประเทศ 9 ชุมชน จาก 9 ฝ่ายกิจการสาขาภาค ได้แก่ ชุมชนบ้านหนองหมด จ.เชียงราย, ชุมชนบ้านคลองยาง จ.สุโขทัย, ชุมชนบ้านคำข่า จ.สกลนคร, ชุมชนบ้านเจริญสุข จ.บุรีรัมย์, ชุมชนบ้านคลองหม่อนแช่ม จ.นนทบุรี, ชุมชนบ้านอ่างเตย จ.ฉะเชิงเทรา, ชุมชนบ้านคลองขุด จ.สมุทรสงคราม, ชุมชนบ้านน้ำราด จ.สุราษฎร์ ธานี และ ชุมชนบ้านวังลุง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งผลการประกวดชุมชนอุดมสุขที่ยั่งยืนยอดเยี่ยมระดับประเทศครั้งนี้ ชุมชนที่ได้รางวัลชนะเลิศคือ…ชุมชนบ้านเจริญสุข ขณะที่ รองอันดับ 1 คือ…ชุมชนบ้านวังลุง และ รองอันดับ 2 คือ…ชุมชนบ้านหนองหมด อย่างไรก็ดี ’ทุกชุมชนอุดมสุขทั่วไทยล้วนน่าสนใจ“…

ดูกันลงลึกเกี่ยวกับการยกระดับชุมชน-สร้าง “ชุมชนอุดมสุข” ตามโครงการนี้… ณรงค์ ขันติวิริยะกุล รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. ยังระบุไว้อีกว่า… โครงการได้คัดเลือกชุมชนอุดมสุขทั่วประเทศ เพื่อค้นหาชุมชนอุดมสุขที่มีศักยภาพเป็น “ต้นแบบด้านการพัฒนาชุมชน” เป็นการ “สร้างแรงบันดาลใจให้ชุมชนต่าง ๆ” ที่ ธ.ก.ส. กำลังพัฒนาทั่วประเทศ 7,927 ชุมชน เพื่อการ…

      พัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน

      เพื่อให้ก่อเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม

ทั้งนี้ การช่วยยกระดับสู่ ’ชุมชนอุดมสุข“ การคัดเลือกชุมชนเพื่อเข้าไปช่วยในการพัฒนา ต้องเริ่มจากชุมชนเองที่พร้อมและต้องการที่จะพัฒนาชุมชน เมื่อชุมชนพร้อม…ก็จะมีการเข้าไปเป็นพี่เลี้ยงให้ชุมชน เริ่มจากพูดคุยประชุมร่วมกันกับชาวบ้าน ชุมชนใดพร้อมที่จะมีแผนชุมชน แต่ทำไม่เป็น ทาง ธ.ก.ส. ก็จะเข้าไปช่วยทำแผน และก็จะมีการช่วยเติมทุนอีกด้วย

ในปี 2565 มีการยกระดับสู่ชุมชนอุดมสุข 104 ชุมชน ซึ่งมีการจัดทำแผนธุรกิจและขับเคลื่อนการทำเกษตรสมัยใหม่ มีการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนแบบองค์รวม BCG Model มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน ทำให้ คนในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น จากปีก่อนหน้าราวร้อยละ 29.25 คิดเป็นเงินกว่า 976.26  ล้านบาท อัตราการเติบโตผลิตภัณฑ์มวลรวมชุมชน (GCP) เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.66 และ ความสุขมวลรวมของชุมชนเพิ่มขึ้น อยู่ในระดับมากที่สุด เฉลี่ยอยู่ที่ 4.57 ส่วนปี 2566 นี้เป้ายกระดับสู่ชุมชนอุดมสุขคือ 181 ชุมชนทั่วประเทศ โดยมีการมุ่งเน้นไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ด้วย

โครงการนี้…จากนี้จะเน้นยกระดับผลิตภัณฑ์เพื่อ กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน เพิ่มขึ้นอีก โดยเติมความรู้ มีผู้เชี่ยวชาญช่วย โดยร่วมกับส่วนราชการ-ภาคีที่เกี่ยวข้องหลายส่วน ในพื้นที่ก็เช่น ส่วนราชการด้านเกษตร พัฒนาชุมชน ในส่วนกลางก็จับมือองค์การมหาชนต่าง ๆ นำองค์ความรู้เฉพาะด้านเข้าไปช่วยชุมชน ไม่ว่าจะ สวทช. หรือ วว. ในการออกแบบแพ็กเกจ หรืองานวิจัยต่อยอดเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ชุมชน อีกทั้งยังทำเรื่องการตลาดเพื่อสะดวกในการขายทั้งออฟไลน์-ออนไลน์ …ทั้งนี้ มองกันที่ความ “ยั่งยืน” ผ่านโมเดล “BCG…ชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว”… กับโครงการ  ’ชุมชนอุดมสุข“ นี่ก็ ’น่าสนใจ“ โดย…

      ที่ ’ยิ่งน่าสนใจ“ ที่ ’เป็นฐานสำคัญสุด“

      นั่นก็คือ ’ปรัชญามหามงคลแห่งไทย“

      ’เศรษฐกิจพอเพียง“ ต้นธารสุขยั่งยืน.