ดังนั้น “ทีมการเมืองเดลินิวส์” จึงได้มาสนทนากับ “ผศ. ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล” อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาวิเคราะห์การเมืองในปีหน้าสถานการณ์การเมืองจะเป็นอย่างไร มีอะไรเป็นปมร้อน “รัฐบาลเศรษฐา”และจะเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่  

โดยผศ. ดร.ปริญญา เปิดประเด็นวิเคราะห์ว่า ทุกพรรคการเมืองไม่ได้มองการเมืองแค่ปีเดียว แต่จะมองยาวไปถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งเหลือเวลาอยู่ 3 ปีกว่าๆ โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ตั้งแต่สมัยเป็นพรรคไทยรักไทย มาเป็นพรรคพลังประชาชน จนถึงพรรคเพื่อไทย มีการเลือกตั้งมา 5 ครั้ง ชนะการเลือกตั้งทุกครั้ง โดยมี 2 ครั้งได้ ส.ส.เกินครึ่ง และ 2 ครั้ง ได้ส.ส.เกือบครึ่ง ครั้งที่ 5 คือปี 2562 ได้ ส.ส.น้อยหน่อยแต่ก็ยังเป็นที่หนึ่ง

จนกระทั่งการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 เป็นครั้งแรกที่พรรคเพื่อไทยได้สัมผัสกับความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง จากที่ตั้งเป้าว่าจะแลนด์สไลด์คือ 250 แล้วขยับเป็น 280 คน แต่ได้จริงแค่ครึ่งเดียวคือ 141 เสียง ในขณะที่พรรคก้าวไกลตอนแรกคาดการณ์ว่าน่าจะได้ ส.ส.ไม่มาก เพราะแม้กระแสจะดี แต่ ส.ส.บัญชีรายชื่อมีเพียงร้อยเดียว ถ้าได้ถึง 80 คนเท่าที่พรรคอนาคตใหม่เคยได้ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว แต่ปรากฏว่าพรรคก้าวไกลได้ถึง 151 คน หรือเกือบเท่าตัวของพรรคอนาคตใหม่

ที่สำคัญแม้พรรคเพื่อไทยจะได้ ส.ส.เขตเท่ากับพรรคก้าวไกลคือ 112 คน แต่คะแนนแพ้ก้าวไกล ถึง 3 แสนคะแนน ทั้งๆ ที่พรรคก้าวไกลไม่มีบ้านใหญ่ ส่วนคะแนนส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทยได้ 10 ล้าน 9 แสนคะแนน ส่วนพรรคก้าวไกลได้ 14 ล้าน 4 แสนคะแนน คือก้าวไกลได้มากกว่าถึง 3 ล้าน 5 แสนคะแนน หรือประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ที่พรรคก้าวไกลมี ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อมากกว่าแค่ 10 คน เป็นเพราะ ส.ส.บัญชีรายชื่อมีแค่ 100 คน

นี่เป็นโจทย์ใหญ่ของพรรคเพื่อไทยว่า จะทำอย่างไรให้กลับมาเป็นที่หนึ่งอีกครั้งในการเลือกตั้งครั้งหน้า เพราะฉะนั้นเพื่อไทยไม่ได้มองเพียงแค่ปีต่อปี แต่มองไปถึง 3 ปีข้างหน้าแล้ว ส่วนก้าวไกล คราวหน้าไม่มี ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. แล้ว ถ้าได้ ส.ส. เป็นอันดับหนึ่งอีกเขาก็ต้องได้เป็นรัฐบาล

ดังนั้น ปี 2567 จึงเป็นการเมืองที่มองไปถึงการเลือกตั้งปี 2570 โอกาสที่เพื่อไทยจะชนะได้คือทำให้เศรษฐกิจดี อย่างดิจิตอล วอลเล็ต คนละ 10,000 บาท เป็นนโยบายเพื่อไทยเขาหวังว่าจะชนะก้าวไกลในโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง แต่ก็ไม่สำเร็จ เมื่อเป็นรัฐบาลจึงคาดหวังว่าจะช่วยเพิ่ม GDP ของประเทศ จาก 1 % กว่าๆ ไป 2% กว่าๆ และต่อยอดด้วยนโยบายอื่นๆ ต่อไปอีก พอเศรษฐกิจฟื้นคะแนนนิยมก็จะได้กลับมา เลือกตั้งคราวหน้าก็ชนะก้าวไกล นี่เป็นกลยุทธ์ของเพื่อไทย แต่ปัญหาคือตอนประกาศนโยบายนี้บอกไม่กู้ แต่พอจะทำจริงๆ ไม่มีงบ เลยต้องกู้ ทำให้กลายเป็นปัญหาขึ้นมา เพราะเสี่ยงที่จะผิด พ.ร.บ.วินัยทางการเงินการคลัง หากคนค้านมาก และมีปัญหาข้อกฎหมาย พรรคร่วมรัฐบาลอย่างภูมิใจไทยอาจจะเริ่มลังเลในการยกมือให้ แล้วคุณเศรษฐา ทวีสิน จะลำบากแน่ หาก พ.ร.บ.กู้เงินห้าแสนล้านบาทไม่ผ่านสภาผู้แทน หรือต่อให้ผ่านสภาผู้แทน ก็จะไปเจอกับวุฒิสภาที่มีแนวโน้มว่าจะไม่เอาด้วย

ดังนั้นช่วงที่จะร้อนแรงคือตอนที่คณะกรรมการกฤษฎีกาทำร่าง พ.ร.บ.กู้เงินเสร็จ เมื่อส่งเข้าครม. ก็ต้องดูว่า รัฐมนตรีของพรรคร่วมรัฐบาลเข้าร่วมประชุมด้วยหรือไม่ หากไม่เข้าร่วมด้วยเหตุว่าติดภารกิจต่างๆ ก็เป็นสัญญาณร้ายแล้ว เมื่อเข้าสภาไปเขางดออกเสียงขึ้นมาก็ไม่ผ่านแล้ว อย่างไรก็ตามต่อให้ทำสำเร็จแค่เรื่องเศรษฐกิจก็อาจจะยังไม่พอที่จะทำให้ชนะพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทยต้องทำการเมืองให้ดีด้วย การที่คุณเศรษฐาได้เป็นนายกรัฐมนตรีโดยได้เสียงจาก ส.ว.ของพล.อ.ประยุทธ์ ถือเป็นการสิ้นสุดของความขัดแย้งเสื้อเหลือง-เสื้อแดง ตั้งแต่ 2549 เพราะฝ่ายเสื้อเหลืองไม่เอาทักษิณ ส่วนฝ่ายเสื้อแดง ไม่เอาการยึดอำนาจ

พอการเมืองทั้งสองฝ่ายรวมกันเป็นรัฐบาล โดย ส.ว. ของ พล.อ.ประยุทธ์ ยกมือให้ ที่เขารวมกันได้ทั้งๆ ที่พรรคเพื่อไทยประกาศว่าจะไม่ตั้งรัฐบาลร่วมกับ 2 ลุง ก็เพราะทั้งเหลืองและแดงมองว่า “ส้ม” เป็นภัยคุกคาม ยิ่งไปดูผลการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อรายจังหวัดยิ่งเห็นชัด เพราะพรรคก้าวไกลได้คะแนนแบบบัญชีรายชื่อ เป็นที่ 1 ใน 45 จังหวัด โดยในจำนวนนี้มี 21 จังหวัดไม่ได้ ส.ส.แบบแบ่งเขตเลย ที่เหลืออีก 32 จังหวัด มาเป็นที่ 2 โดยไม่มีจังหวัดใดเลยที่ก้าวไกลได้ที่ 3

สมัยเสื้อเหลือง เสื้อแดง คู่ขัดแย้งคือพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทยแพ้เลือกตั้งคราวนี้ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ก็เหลือ ส.ส.แค่ 25 คน และถึงตอนนี้จะเลือกตั้งหัวหน้าพรรคสำเร็จ แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็บอบช้ำมาก ดังนั้น จึงถือเป็นการจบลงของเหลือง-แดงจริงๆ และเริ่มยุคใหม่ที่พรรคเพื่อไทยจะเป็น “อนุรักษ์นิยมผสมประชาธิปไตย” ส่วนพรรคทางฝั่งประชาธิปไตย จะเหลือมเพียงพรรคก้าวไกลเป็นพรรคหลัก

ขณะที่พรรคภูมิใจไทยวางตัวเป็นพรรคอันดับ 3 ที่สร้างผลงานตัวเองให้ดี และเก็บส.ส . จากพรรคอื่น เช่น รวมไทยสร้างชาติ กับพลังประชารัฐ ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งหน้าไม่รู้ว่าจะมี ส.ส.หรือไม่ ในเมื่อพล.อ.ประยุทธ์ ถอนตัวจากการเมืองแล้ว พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ถ้าดูบทบาทแล้ว ไม่น่าจะไปถึงคราวหน้า ดังนั้นส.ส.จาก 2 พรรคนี้ส่วนหนึ่งจะไปอยู่เพื่อไทย อีกส่วนหนึ่งจะไปภูมิใจไทย ดังนั้นก็พอเห็นชัดชัดว่าเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคการเมืองหลักก็คือ 3 พรรคนี้

อย่างไรก็ตาม ก้าวไกลก็ยังมีแต้มต่อเพื่อไทย และพรรคอื่นๆ ดูจากแนวโน้มของคะแนน ซึ่งหลายจังหวัดที่ก้าวไกลได้คะแนนยกจังหวัด อาทิ นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม จันทบุรี ระยอง ภูเก็ต ส่วนกรุงเทพขาดไปแค่คนเดียว ปทุมธานีก็ขาดไปคนเดียวเช่นกัน จังหวัดเหล่านี้มีสิ่งที่เหมือนกันคือ เศรษฐกิจดี GDP สูง ถ้าเศรษฐกิจดีขึ้นมา ประโยชน์ก็อาจจะตกกับก้าวไกล ถ้าเศรษฐกิจไม่ดีก็แปลว่าพรรคเพื่อไทยทำไม่สำเร็จ คะแนนก็ยังเป็นของก้าวไกลอยู่ดี นอกจากนี้การเลือกตั้งครั้งหน้าจะมีผู้มิสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกจะมาเพิ่มอีกเกือบ 4 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่มีแนวโน้มไปทางก้าวไกล ในแง่นี้สิ่งที่จะทำให้เพื่อไทยได้เปรียบก็มีแต่ก้าวไกลทำตัวเองเท่านั้น แต่คงไม่เห็นการยุบพรรคก้าวไกล เพราะอดีตเคยยุบพรรคอนาคตใหม่แล้วทำให้ได้พรรคก้าวไกลที่ได้ ส่วน.ส่วน.เพิ่มเป็น 2 เท่า ดังนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นน่าจะเป็นการสอยเป็นคนๆ มากกว่า โดยเฉพาะต้องจับตาสถานะของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีการตัดสินในปีหน้า

เรื่องการเมืองที่สำคัญอีกเรื่องคือเรื่องคุณทักษิณ ชินวัตร  ซึ่งอายุ 70 ปี และมีโรคประจำตัวจึงเข้าเกณฑ์การพักโทษหรือการพ้นโทษก่อนเวลาเมื่อครบ 6 เดือนตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งก็คือวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 สิ่งที่จะตามมาคือ กระแสเรียกร้องเรื่องการนิรโทษกรรมให้คดีการเมืองอื่นๆ ในรอบ 17 ปีที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทำอะไรบางอย่าง เช่น การผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งก็มีข้อถกเถียงกันอยู่อย่างน้อย 2 เรื่องคือ หนึ่ง เรื่องทุจริตจะนิรโทษกรรมหรือไม่ และสอง คดีความเห็นต่างทางการเมืองโดยเฉพาะเรื่องมาตรา 112 จะเอาด้วยหรือไม่ นี่เป็นจุดที่เพื่อไทยและก้าวไกลเห็นต่างกันอยู่ และจะกลายเป็นเรื่องร้อนแรงขึ้นมาได้

นอกจากนี้แล้วก็ยังมีเรื่องระเบียบของกรมราชทัณฑ์เรื่องการคุมขังนอกเรือนจำที่ออกมาใหม่ ข้อ 6 ที่ให้ที่พักอาศัยเป็นสถานที่คุมขังนอกเรือนจำได้ ซึ่งมีการตั้งคำถามว่าจะมีการเอื้อประโยชน์ให้คุณทักษิณหรือไม่ ซึ่งหากทำก่อนครบ 6 เดือนตามเกณฑ์พักโทษก็จะเกิดประเด็นทางการเมืองขึ้นได้ ทั้งนี้ คนอนุมัติคือกรมราชทัณฑ์ ซึ่งมีคณะทำงาน ทำการศึกษาคัดแยกว่าใครตามรายชื่อที่เรือนจำแต่ละแห่งส่งมาว่า ใครข้าเกณฑ์ได้รับการคุมขังนอกเรือนจำ จากนั้นก็เสนอไปที่อธิบดีกรมราชทัณฑ์ให้อนุมัติ หากมีการเฉพาะเจาะจงที่คนหนึ่งคนใดจะเป็นประเด็นทันที ซึ่งคุณทักษิณเข้าเกณฑ์อยู่แล้ว เพราะคนที่ไม่เข้าเกณฑ์มีแค่ 2 กรณีคือ หนึ่ง ผู้ต้องโทษค่าปรับ แล้วไม่มีเงินชำระค่าปรับต้องถูกกักขับแทนค่าปรับ และสอง คนที่โดนโทษทางวินัยอยู่ ซึ่งกว้างมาก ดังนั้นคนส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในเกณฑ์นี้หมดรวมถึงคุณทักษิณด้วย ซึ่งคนก็ติดตามกันอยู่ว่าจะมาช่องนี้ไหม ถ้าเฉพาะเจาะจงไปที่คุณทักษิณผมว่าก็เป็นเรี่องแน่

เรื่องต่อมาคือ ส.ว. ชุดนี้ที่มาจาก คสช. และมีอำนาจในการเลือกนายกฯ มีอำนาจในการให้ความเห็นชอบ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระต่างๆ จะหมดวาระ วันที่ 11 พฤษภาคม 2567 แล้วชุดใหม่จะมาจากการเลือกกันเอง ดังนั้นหากรัฐบาลคุณเศรษฐาไปต่อไม่ได้ แล้วต้องเลือกนายกฯ ใหม่ จะใช้เสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ส.ว.ไม่เกี่ยวแล้ว จะเป็นการเริ่มต้นสมการใหม่ในการตั้งรัฐบาล ซึ่งแต้มต่อจะกลับมาที่พรรคก้าวไกลอีกครั้งได้ ถ้ามีการต้องตั้งรัฐบาลใหม่และมีพรรคร่วมรัฐบาลที่อยากจะเปลี่ยนขั้วขึ้นมา แล้วพรรคประชาธิปัตย์ก็อาจจะเป็นตัวแปรด้วยว่าจะไปอยู่ข้างไหน

ทั้งนี้พลังอำนาจของ ส.ว.ชุดเดิม ยังมีหลงเหลืออยู่ไประยะหนึ่ง จากการแต่งตั้งคนไว้ในองค์กรอิสระก่อนหน้านี้ แต่คนใหม่ๆ ก็จะค่อยๆ เข้าไปแทน แต่กติกาในการได้มาซึ่ง ส.ว. ที่จะมาแทน ส.ว.ของ คสช. นั้นซับซ้อนมาก มี 20 กลุ่มอาชีพ เลือกตั้งแต่ระดับอำเภอระดับจังหวัด จนถึงระดับประเทศ ใช้งบประมาณเป็นพันล้านบาท ซึ่งมันไปเกี่ยวกับเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ หรือการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ให้มี สสร. ที่ยังมีความเห็นต่างกันอยู่โดยพรรคก้าวไกลอยากให้เป็นการเลือกตั้ง 100% ส่วนเพื่อไทยไม่ได้ต้องการขนาดนั้น คณะกรรมการพิจารณาเรื่องนี้ที่รัฐบาลตั้งขึ้นมาของตัวเอง ก็ไม่มีตัวแทนของก้าวไกลอยู่ ก็ทำให้มีช่องว่าง เมื่อเพื่อไทย-ก้าวไกลไม่จับมือกัน ทำให้พอคาดหมายได้ว่า ยากจะสำเร็จ เพราะไม่มีทางได้เสียง ส.ว. ชุดนี้ถึง 1 ใน 3 แต่หาก ส.ว.ชุดใหม่มาแทนประมาณเดือนกรกฎาคม 2567 ก็มีโอาสได้เสียง 1 ใน 3 และการแก้รัฐธรรมนูญ หรือจะร่างใหม่ทั้งฉบับก็มีโอกาสสำเร็จ

“ในเมื่อยังแก้รัฐธรรมนูญให้มี สสร.ในขณะที่ ส.ว.ของ คสช.ยังอยู่ยังทำไม่ได้ ผมก็เสนอว่ามาแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 107 เรื่องที่มาของ ส.ว.ก่อน โดยให้มีที่มาที่ดีกว่านี้ ไม่ซับซ้อนอย่างนี้ หรือให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงเหมือนปี 2540 ไปเลย เพราะมีอำนาจเท่ากันคือเลือกศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ”

ปี 2567 เรื่องใหญ่ที่สุดจึงอาจจะเป็นเรื่อง “ส.ว.” ไม่ว่าจะมาแบบไหน แต่เกมทางการเมืองจะเปลี่ยนไป คือ ส.ว.ไม่มีอำนาจเลือกนายกฯ แต่เป็นผู้เลือกองค์กรอิสระ ส่วนองค์กรอิสระที่ ส.ว.ชุดเดิมให้ความเห็นชอบก็จะเริ่มถูก ส.ว.ใหม่เข้ามาตรวจสอบ.