โดยข้อมูลในงานแถลงข่าวของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยนักวิชาการต่างชี้ชัดว่า แอลกอฮอล์ทำให้สูญเสียความสามารถการตัดสินใจ ความมีเหตุผล การควบคุมการเคลื่อนไหว สูญเสียความสามารถการรับรู้ มองเห็น ได้ยิน และความจำ ยิ่งดื่มยิ่งส่งผลต่อสมอง และเสี่ยงอุบัติเหตุสูง
โดยระดับแอลกอฮอล์ในเลือด 0.01-0.05% ทำให้เริ่มตื่นตัว 0.03-0.12% โดพามีน เริ่มหลั่งจะรู้สึกสดชื่น มีความมั่นใจ รู้สึกผ่อนคลาย สดใส 0.08-0.25% เริ่มกดสมองส่วนต่าง ๆ เช่น กดสมองส่วนหน้าเกิดการยั้งคิด กดสมองส่วนทรงตัวทำให้ทรงตัวไม่ได้ กดสมองส่วนที่แปลประสาทตาทำให้ตาเบลอ กดสมองส่วนที่ใช้พูดก็จะพูดช้า กดสมองส่วนที่ทำให้ตัดสินใจส่งผลให้ตัดสินใจผิดพลาดได้ง่ายดาย 0.18-0.30% สับสน ความจำเริ่มเสื่อมลง มากกว่า 0.25% จะเริ่มซึมเริ่มหลับ มากกว่า 0.35% ก็ทำให้โคม่า และมากกว่า 0.45% ทำให้เสียชีวิตได้
อีกประการหนึ่ง เครื่องดื่มแอลกอ ฮอล์มีผลกระทบกับสุขภาพ เป็นสาเหตุของการเกิดโรคต่าง ๆ มากมาย ล่าสุด ในงานแถลงข่าวมาตรการรองรับรองรับอุบัติเหตุช่วงเทศกาลปีใหม่ พร้อมเปิดตัวโครงการ 3 D “Drink Don’t Drive” ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ ของกระทรวงสาธารณสุข และภาคีเครือข่ายเมื่อวันที่ 21 ธ.ค.ที่ผ่านมา มีข้อมูลที่น่าสนใจมาแสดงภายในงาน “คุณหมอขอบอก” จึงนำมาฝากกันอีกครั้ง โดยเอกสารของกรมควบคุมโรค ที่อ้างอิงข้อมูลจากงานวิจัยปัญหาและความผิดปกติจากการดื่มสุรา ความสำคัญและการดูแลรักษาในประเทศไทยโดย “อาจารย์สาวิตรี อัษฎากรชัย” และข้อมูลจาก โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา ได้บอกถึงรายละเอียด “โทษและพิษภัยของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อสุขภาพ”
โดยเมื่อแอลกอฮอล์เข้าสู่ร่างกายประมาณ 10-20% จะถูกดูดซึมที่กระเพาะอาหาร ที่เหลือ 80 ถึง 90% จะถูกดูดซึมผ่านลำไส้และเข้าสู่กระแสเลือด ก่อนจะส่งต่อไปยังเซลล์เนื้อเยื่อของเหลวทุกแห่งในร่างกายและอวัยวะต่าง ๆ
ทั้งนี้ระดับแอลกอฮอล์ในเลือด จะขึ้นสู่ระดับสูงสุดในเวลา 30-90 นาทีขึ้นอยู่กับอายุเพศและลักษณะทางพันธุกรรมของผู้ดื่ม ซึ่งถ้าเปรียบเทียบการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่เท่ากัน หากเป็น “คนอ้วน เตี้ย” จะมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดสูงกว่า “คนผอม สูง” เนื่องจาก คนอ้วนมีไขมันมากกว่าคนผอมแอลกอฮอล์จึงคงอยู่ในเนื้อเยื่อไขมันมากกว่า และถ้าเปรียบเทียบ ผู้หญิงจะเมาเร็วกว่าผู้ชาย เนื่องจากผู้หญิงมีปริมาณไขมันมากกว่าแต่มีพื้นที่น้ำน้อยกว่าผู้ชาย
เมื่อพูดถึงพิษของแอลกอฮอล์ต่ออวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายแบ่งออกเป็นดังนี้
“สมองและระบบประสาท” แอลกอฮอล์มีฤทธิ์กดการทำงานของระบบประสาทส่วนกลางส่งผลให้การทำงานของร่างกายและจิตใจบกพร่อง หากดื่มแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่องยาวนานจะทำให้เซลล์สมองขยายตัว เกิดอาการสมองบวม นาน ๆ เข้าจะเกิดการสูญเสียของเหลวในเซลล์สมองเซลล์สมองลีบ เหี่ยว เสื่อมและตายลง ซึ่งจากการชันสูตรศพผู้เสียชีวิตจากสุราจะพบภาวะเนื้อสมองลีบ เหี่ยว มีสีซีดจางโดยเห็นได้อย่างชัดเจน
“ผิวหนังและหลอดเลือด” หลอดเลือดจะขยายตัวเนื่องจากฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ทำให้หน้าแดงตัวแดงแต่บางคนอาจมีอาการเส้นเลือดหดตัวทำให้หน้าซีดซึ่งมีอันตรายต่อชีวิตมากกว่า
“ตับ” ตับเป็นอวัยวะที่ได้รับผลจากแอลกอฮอล์มากที่สุด โดยเซลล์ตับที่ถูกทำลายจะมีไขมันเข้าไปแทนที่ทำให้เกิดการคั่งของไขมันในตับซึ่งนำไปสู่อาการตับอักเสบ ส่งผลให้เซลล์ตับถูกทำลายมากขึ้น เมื่อเซลล์ตับตายลงถึงระดับหนึ่งจะมีการสร้างพังผืดขึ้นที่บริเวณนั้น ลักษณะคล้ายแผลเป็น ทำให้เนื้อตับแข็งตัวขึ้น เกิดอาการที่เรียกว่า “ตับแข็ง” ในที่สุดเนื้อตับถูกทำลายมากเท่าไหร่โอกาสที่จะเสียชีวิตก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น
“ช่องปากและลำคอ” เกิดการระคายเคืองในช่องปากและลำคอหรือที่เรียกกันว่า “เหล้าบาดคอ”
“หัวใจ” หัวใจจะถูกกระตุ้นให้สูบฉีดเลือดเร็วขึ้น ทำงานหนักขึ้นในระยะยาวจะทำให้การทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจแปรปรวน เมื่อหัวใจทำงานหนักขึ้นกล้ามเนื้อหัวใจจะเริ่มหนาขึ้น เกิด “เป็นโรคหัวใจโต” มีอาการ “หัวใจวาย” หรือ “หัวใจล้มเหลว” ตามมาในที่สุด
“กระเพาะอาหาร” โรคที่พบบ่อยในหมู่นักดื่มคือโรคกระเพาะ ทำให้เกิดแผลในกระเพาะและลำไส้ เยื่อบุกระเพาะอักเสบเฉียบพลัน เมื่อดื่มติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้มีเลือดออกในกระเพาะอาหาร อาเจียนเป็นสีดำ อุจจาระดำ บางรายพบการฉีกขาดของเยื่อบุหลอดอาหารซึ่งเกิดจากการอาเจียนอย่างรุนแรง
“เซลล์” การไหลเวียนของเลือดไปยังเซลล์ต่าง ๆ ทั่วร่างกายจะเร็วขึ้น เซลล์ทุกเซลล์จะทำงานไวขึ้นกว่าปกติจนเกินความจำเป็น ทำให้การทำงานของอวัยวะแปรปรวนไปจากปกติในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ แต่ต่อมาฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะกดการทำงานของเซลล์และทำลายเซลล์ไปในที่สุด
“ระบบอื่น ๆ ของร่างกาย” แอลกอฮอล์จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิด ความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือเส้นเลือดในสมองอุดตันเกล็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดขาวต่ำ เม็ดเลือดแดงต่ำ และโรคโลหิตจาง เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง อวัยวะต่าง ๆ เสื่อมเร็วขึ้น คนที่ดื่มจัดจึงแก่เร็ว
ดังนั้นปัจจุบันรัฐต้องการรายได้จากการท่องเที่ยว โดยเอาเรื่องสถานบันเทิง และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาเป็นจุดขาย โยนให้ประชาชนรับผิดชอบต่อผลกระทบทางสุขภาพและสังคม จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องรู้เท่าทันผลกระทบที่จะตามาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์.
อภิวรรณ เสาเวียง