นับตั้งแต่การลงจอด เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2556 จีนสร้างสถานีอวกาศที่มีลูกเรือประจำการ ส่งยานโรเวอร์ไปยังดาวอังคาร และเป็นประเทศแรกในโลก ที่สามารถทำการลงจอดแบบควบคุมบนอีกฟากหนึ่งของดวงจันทร์ได้สำเร็จ

ประธานเหมา เจ๋อตง อดีตผู้นำจีน และผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน ประกาศความทะเยอทะยานด้านอวกาศของประเทศ หลังสหภาพโซเวียต ส่งดาวเทียมดวงแรกของโลก “สปุตนิก 1” ขึ้นสู่อวกาศ เมื่อปี 2500 ซึ่งจีนใช้เวลา 13 ปี ในการปล่อย “ตงฟางหง” ดาวเทียมดวงแรกของประเทศ

กระทั่งช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 โครงการอวกาศของจีนเริ่มก้าวหน้า ควบคู่กับการกลายเป็นประเทศที่ร่ำรวย และทรงอำนาจมากที่สุดในโลก ซึ่งภายใต้การดูแลของกองทัพ เป้าหมายของโครงการอวกาศลับ มีความทะเยอทะยานมากขึ้น และในปี 2535 จีนได้เริ่มโครงการส่งมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศอย่างเป็นทางการ

ความสำเร็จของภารกิจ “เสินโจว 5” เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2546 ทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่ 3 ต่อจากสหรัฐและรัสเซีย ที่เสดงให้เห็นถึงความสามารถในการส่งมนุษย์ไปยังอวกาศ จนถึงขณะนี้ จีนมี “ไทโคนอต” หรือนักบินอวกาศชาวจีน ทั้งหมด 20 คน หลายคนเดินทางไปยัง “สถานีอวกาศเทียนกง” ซึ่งเพิ่งก่อสร้างแล้วเสร็จ เมื่อปีที่แล้ว

หลังการลงจอดของยานสำรวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ-3 จีนประสบความสำเร็จที่สำคัญตามมาอีก 2 ครั้ง โดยในปี 2562 จีนเป็นประเทศแรกที่สามารถทำการลงจอดแบบควบคุม บนด้านไกลของดวงจันทร์ ด้วยยานสำรวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ-4 ( Chang’e-4 ) อีกทั้งในปีต่อมา ยานสำรวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ-5 ( Chang’e-5 ) นำตัวอย่างแรกบนดวงจันทร์กลับมายังโลก ในรอบกว่า 40 ปี

ขณะที่หน่วยงานด้านอวกาศของจีน ระบุว่า พวกเขาวางแผนที่จะส่งมนุษย์ไปยังดวงจันทร์ ภายในปี 2573 รวมถึงการสร้างฐานดวงจันทร์

ทั้งนี้ ความสำเร็จที่น่าทึ่งที่สุดอย่างหนึ่งในโครงการอวกาศของจีน เกิดขึ้นในปี 2564 เมื่อภารกิจ “เทียนเวิ่น-1” ส่งยานโรเวอร์ “จู้หรง” ลงจอดบนพื้นผิวของดางอังคาร นับเป็นประเทศที่ 2 ต่อจากสหรัฐ

กองทัพสหรัฐกล่าวว่า กองทัพจีนเป็นผู้เล่นหลักในโครงการอวกาศของประเทศ และรัฐบาลปักกิ่งมองปฏิบัติการต่อต้านทางอวกาศ เป็นหนทางในการขัดขวางและตอบโต้การแทรกแซงของสหรัฐ ระหว่างความขัดแย้งทางทหารระดับภูมิภาค

แม้จีนกล่าวถึงต่อต้านการใช้อวกาศเป็นอาวุธ แต่บรรดาผู้กำหนดนโยบายของประเทศระบุว่า อวกาศมีความสำคัญต่อการป้องกันประเทศ และความมั่นคงแห่งชาติ ขณะเดียวกัน ความสำเร็จในอวกาศ เป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการสร้างภาพลักษณ์ของชาติ ในฐานะมหาอำนาจระดับโลก ทั้งในและต่างประเทศด้วย.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES