ฉนวนกาซา, เยเมน, ซีเรีย และยูเครน ซึ่งได้รับความเสียหายจากสงคราม ต่างแสดงเสียงของพวกเขา ด้วยการร้องทุกข์เกี่ยวกับผลกระทบสิ่งแวดล้อม จากการสู้รบอย่างต่อเนื่อง

ตามข้อมูลของธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ ประเทศซึ่งเสี่ยงต่อสภาพอากาศมากที่สุดราว 70% อยู่ในกลุ่มประเทศมีการเมืองและเศรษฐกิจที่อ่อนแอที่สุด เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการแย่งชิงทรัพยากร สามารถผลักดันให้ประเทศเหล่านี้เข้าสู่สงครามได้

นายทอว์ฟิก อัล-ชาร์จาบี รมว.น้ำและสิ่งแวดล้อมของเยเมน กล่าวว่า สงครามกลางในเยเมนที่ยืดเยื้อมานานกว่า 8 ปี เพิ่มแรงกดดันต่อวิกฤติน้ำประปา ขณะที่ประธานาธิบดีซัลวา คิอีร์ ผู้นำซูดานใต้ กล่าวกับบรรดาผู้นำโลกในช่วงต้นของซัมมิต คอป 28 ว่า ประชาชนของเขาจำนวนมากต้องพลัดถิ่น จากการต่อสู้แย่งชิงน้ำ

ด้านนายฮาดีล อิคห์มาอิส ผู้สันทัดกรณีด้านสภาพอากาศของทางการปาเลสไตน์ ระบุว่า การทิ้งระเบิดของอิสราเอล ในฉนวนกาซา ทำลายโรงกลั่นน้ำทะเล โรงบำบัดน้ำเสีย และบ่อน้ำหลายแห่ง ส่งผลให้แผนการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ถูกร่างขึ้น ไม่สามารถดำเนินการได้

ส่วนนายโรเบิร์ต มาร์ดินี ผู้บริหารระดับสูง ของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ไอซีอาร์ซี) กล่าวว่า โครงการที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศในฉนวนกาซา ขององค์กร “ถูกระงับทั้งหมด” ทั้งที่ฉนวนกาซาเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น ทรัพยากรน้ำที่น้อยลง คุณภาพน้ำที่ต่ำลง และเหตุการณ์สภาพอากาศที่คาดเดาไม่ได้

อย่างไรก็ตาม นายกิเดียน เบฮาร์ ทูตพิเศษด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความยั่งยืนของอิสราเอล กล่าวว่า ทุกฝ่ายควรแยกแยะความแตกต่าง ระหว่างปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ กับปัญหาด้านสภาพอากาศ

ทั้งนี้ คอป 28 กลายเป็นการประชุมของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ครั้งแรก ที่จัดให้มีวันสำหรับการหารือในประเด็นสันติภาพโดยเฉพาะ รวมถึงเชื่อมโยงความสัมพันธ์ ระหว่างสงครามกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และเรียกร้องการระดมทุนเพิ่มเติม ให้กับประเทศที่ประสบปัญหามากที่สุด.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP