หลาย ๆ ท่านคงเกิดคำถามในใจเวลาที่พบข่าวรถเบรกแตกจนเกิดอุบัติเหตุตามมาบนท้องถนน แล้วหากเกิดเหตุเช่นนั้นกับรถของเรา จะมีวิธีป้องกันแก้ไขอย่างไรกัน? ซึ่งอาการ “เบรกแตก” จะเกิดขึ้นเมื่อเราเหยียบแป้นเบรกจนจมสุด แต่ระบบเบรกกลับไม่ตอบสนอง พูดง่ายๆก็คือ “ไม่สามารถชะลอรถได้ เหมือนไม่มีเบรก”
 
สาเหตุของอาการ “เบรกแตก”
-เกิดจากความร้อน เนื่องมาจาก “การเบรกกะทันหัน” หรือเบรกบ่อยๆ ภายใต้ความเร็วสูง ส่งผลให้ “น้ำมันเบรก” ซึมซับความร้อนเอาไว้แล้วระบายสู่ส่วนอื่นๆไม่ทัน จนถึงจุดเดือดสูงสุด น้ำมันเบรกก็จะระเหยกลายเป็นไอในกระบอกสูบเบรก ไม่มีแรงดันที่จะไปกระทำต่อลูกสูบเบรกให้ไปดันผ้าเบรกได้ ทำให้เกิดอาการ “เบรกแตก” ขึ้น
 
-เกิดจากรอยรั่วในระบบ เช่น ท่อแป๊ปเบรกผุกร่อนจนรั่ว สายอ่อนเบรกแตก ไปจนถึงผ้าเบรกหมดเป็นเวลานาน ทำให้ลูกสูบเบรกหลุดออกมา และเมื่อน้ำมันเบรกรั่วออกจากระบบจนหมด ก็จะเกิดอาการ “เบรกแตก”
 
“วิธีป้องกันเบรกแตก”
-“เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเบรก” ปีละ 1 ครั้ง แม้ว่าไม่มีการรั่วซึมก็ตาม เนื่องจาก “น้ำมันเบรก” มีคุณสมบัติเป็นสารที่ดูดซับความชื้นจากอากาศได้ดี แถมยังสามารถผสมเข้าเป็นเนื้อเดียวกันได้ เมื่อความชื้นเข้ามาปะปนอยู่ใน “น้ำมันเบรก” จะส่งผลให้มีจุดเดือดลดต่ำลง ยิ่งในประเทศไทยยังเป็นเขตที่มีความชื้นสูง จึงเป็นที่มาของการแนะนำให้ “เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเบรก” ทุก 1 ปี เพื่อไล่ความชื้นที่ผสมอยู่ในน้ำมันเบรก และยังเป็นการป้องกันการกัดกร่อนจากสนิมที่เกิดจากความชื้น ซึ่งจะทำให้ “ลูกยางเบรกรั่วได้ง่าย”
-ผ้าเบรก ควรเลือกใช้ชนิดที่ได้คุณภาพ เนื่องจากสามารถทนความร้อนได้ตามมาตรฐาน อีกทั้งเมื่อใช้งานไปเรื่อยๆ จนผ้าเบรกบางลงจนมีความหนาต่ำกว่า 3 มิลลิเมตรควรเปลี่ยนทันที
-จานเบรก เมื่อผ้าเบรกที่มีโลหะผสมอยู่มาก ฝุ่น หิน และการปล่อยให้ผ้าเบรกหมด จะทำให้จานเบรกเป็นรอย และการขับรถลุยน้ำขณะที่จานเบรกร้อน จะทำให้จานเบรกคด บิดตัว จนต้องทำการเจียร์จาน แต่การเจียร์จะทำให้จานเบรกบางลง และเมื่อบางลงต่ำกว่าค่าที่ผู้ผลิตกำหนด “ควรเปลี่ยนจานเบรกใหม่” ซึ่งหากไม่เปลี่ยน เมื่อผ้าเบรกบางลงอาจทำให้ลูกสูบเบรกหลุด นำมาสู่อาการ “เบรกแตก” ได้ในที่สุด
 
วิธีรับมือเมื่อรถเบรกแตก
1.ตั้งสติ เมื่อเหยียบเบรกแล้วรถไม่ชะลอหรือหยุด ควรตั้งสติ พยายาม หาวิธีแก้ปัญหาเพื่อทำให้รถช้าลง ถ้ามีช่องว่างให้ชิดซ้ายทันที เพราะรถเบรกแตกขับไม่ว่าจะช้าหรือเร็วก็ไม่ปลอดภัย เสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุทั้งนั้น
2.ลดคันเร่ง-ความเร็ว จำไว้ว่าเครื่องยนต์มีแรงเสียดทาน และจงใช้มันให้เป็นประโยชน์ โดยการ Engine Brake โดยเครื่องยนต์จะเกิดการหน่วง ช่วยให้เกิดการลดความเร็วอย่างกะทันหัน สามารถทำได้โดยเหยียบคลัทช์ ลดตำแหน่งเกียร์ลง โดยในเกียร์อัตโนมัติใช้วิธีกดปุ่ม Overdrive on หรือ สลับตำแหน่ง เกียร์ จาก D มาเป็น 3 และห้ามเปลี่ยนมาเป็น L โดยเด็ดขาดไม่เช่นนั้น อาจะทำให้เครื่องยนต์พังได้
3.เบรกมือ โดยการค่อยๆ ยกเบรกมือขึ้นจนสุด เน้นย้ำว่าค่อยๆ ยกขึ้นทีละนิด เพื่อช่วยลดความเร็วที่ล้อหลัง และห้ามดึงแรงๆ ทีดียวโดยเด็ดขาด
4.จับพวงมาลัยให้มั่นแล้วชิดซ้าย เมื่อพยายามลดความเร็วโดยวิธีต่างๆ ข้างต้น จนเริ่มรู้สึกว่ารถจะค่อยๆ ช้าลงแล้ว แต่ไม่ถึงกับหยุดสนิท ควรชิดซ้ายเข้าข้างทาง ห้ามเร่งคันเร่งเพิ่ม หากมีรถกีดขวางให้บีบแตรเพื่อเป็นการส่งสัญญาณ และถ้าเป็นไปได้เปิดไฟฉุกเฉินไปด้วยพร้อมๆ กัน
 
เพราะฉะนั้น หากมีเวลาก็ควรหมั่นเช็กสภาพรถของคุณที่คุณรักอยู่เป็นระยะ และตั้งสติหากเกิอดอุบัติเหตุอยู่เสมอ เพราะเชื่อว่าคงไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุ “รถเบรกแตก” กับตัวเองแน่นอนครับ…

………………………………….

คอลัมน์ : รู้ก่อนเหยียบ
โดย “ช่างเอก”
ติดต่อสอบถามข้อมูลโดยตรงที่ [email protected]