รัฐบาลเคียฟ จะได้รับงบประมาณความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจมหภาค ระยะเวลา 4 ปี เป็นจำนวนเงิน 50,000 ล้านยูโร (ราว 1.9 ล้านล้านบาท) ซึ่งนับเป็นการช่วยชีวิตรัฐบาลที่ได้รับความเสียหายจากสงคราม รวมถึงคำเชิญในการเริ่มการเจรจาเรื่องสมาชิกอียู อย่างเป็นทางการ
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีวิกเตอร์ ออร์บาน ผู้นำฮังการี ซึ่งเป็นผู้นำในอียูที่มีความใกล้ชิดมากที่สุด กับรัฐบาลมอสโก ของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย และต่อสู้กับฝ่ายบริหารอียูในกรุงบรัสเซลส์ เกี่ยวกับเงินทุนพัฒนาเศรษฐกิจมูลค่าหลายพันล้านยูโรของฮังการี ซึ่งถูกระงับไว้ ดูเหมือนจะไม่มีอารมณ์ให้ความร่วมมือ และใช้สิทธิวีโต้ หรือคัดค้านแผนการของอียู ในการเพิ่มงบประมาณความช่วยเหลือให้แก่ยูเครน
ออร์บานประกาศว่า การเริ่มเจรจาสถานะสมาชิกอย่างเป็นทางการกับยูเครน เป็นการตัดสินใจที่ไม่มีเหตุผล ไม่สมเหตุสมผล และไม่ถูกต้องเลย แต่แทนที่เขาจะวีโต้ในเรื่องนี้ ออร์บานกลับใช้สิทธิงดออกเสียง และปล่อยให้ผู้นำอียู จาก 26 ประเทศที่เหลือ มีมติเห็นชอบ ให้มีการเจรจาสถานภาพสมาชิกกับอีกฝ่ายอย่างเป็นทางการ
ออร์บานกล่าวว่า ฮังการีไม่ต้องการแข็งข้อขนาดนี้ แต่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่จะเชื่อมโยงการสนับสนุนยูเครน เข้ากับวงเงิน 21,000 ล้านยูโร ( ราว 800,000 ล้านบาท ) ในกองทุนของอียู ซึ่งฝ่ายบริหารของสหภาพยังคงระงับไว้ เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับหลักนิติธรรมของฮังการี
ด้านนายฟร็องซัวส์ ไฮส์บูร์ นักวิเคราะห์กิจการระหว่างประเทศ และนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาระหว่างประเทศเพื่อการศึกษาเชิงกลยุทธ์ (ไอไอเอสเอส) ในกรุงลอนดอน กล่าวว่า พฤติกรรมของออร์บาน เป็นรูปแบบของการขู่กรรโชกที่ค่อนข้างสม่ำเสมอ
“ออร์บานต้องการรีดเงินออกจากฝ่ายบริหารอียูในกรุงบรัสเซลส์ต่อไป ผู้นำฮังการีกำลังเผชิญกับแรงกดดันรอบด้าน ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้หลักนิติธรรม ด้วยเหตุนี้ เขาจึงใช้วิธีข่มขู่ว่าจะขัดขวาง ทุกการตัดสินใจที่สำคัญ” ไฮส์บูร์ก กล่าวเพิ่มเติม
นักการทูตของอียูคนหนึ่ง กล่าวว่า ออร์บานไม่เคยขัดขวางการคว่ำบาตรรัสเซีย แม้จะมีใครหลายคนพูดถึงความใกล้ชิดของเขา กับปูตินก็ตาม ขณะที่เจ้าหน้าที่อียูอีกคนหนึ่ง ระบุเสริมว่า ออร์บานรู้ว่าเมื่อใดที่เขาจะได้อะไรสักอย่าง และรู้ว่าเมื่อใดที่เขาเสี่ยงต่อการจนมุม
แต่สำหรับผู้สังเกตการณ์ชาวฮังการีอย่าง นายแดเนียล เดอัก นักวิจัยจากสถาบันฮังการีแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งสนับสนุนรัฐบาลบูดาเปสต์ โต้แย้งว่า เรื่องนี้ไม่ยุติธรรมเล็กน้อย และฮังการี “ไม่มีอยู่ลำพัง” ในประเด็นเกี่ยวกับยูเครน เนื่องจากหลายประเทศที่ยอมรับจุดยืนของออร์บาน ไม่กล้าที่จะพูดออกมาอย่างเปิดเผย เพราะแรงกดดันจากสหรัฐ และสื่อมวลชน.
เลนซ์ซูม
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES