ความสัมพันธ์ของไบเดน-เซเลนสกี เริ่มขึ้นในเดือน ก.ย. 2564 เมื่อผู้นำสหรัฐ ให้การต้อนรับผู้นำหนุ่มของยูเครน ซึ่งมีอายุน้อยกว่าเขา 36 ปี ก่อนรัสเซียเริ่มปฏิบัติการทางทหารประมาณ 5 เดือน แต่การเดินทางเยือนกรุงวอชิงตันครั้งแรกของเซเลนสกี กลับไม่เป็นไปด้วยดี
เซเลนสกี ซึ่งเป็นทั้งอดีตนักแสดงตลก และนักการเมืองมือใหม่ กดดันไบเดน นักการเมืองผู้มีประสบการณ์มากกว่า 50 ปี เพื่อให้รัฐบาลเคียฟ เข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ “นาโต” ซึ่งแน่นอนว่า ไบเดนรู้สึก “ไม่ประทับใจ” เพราะเขาคาดหวังที่ได้รับคำขอบคุณจากยูเครน จากการที่สหรัฐช่วยต่อสู้กับกองกำลังนิยมรัสเซีย ในภาคตะวันออกของยูเครน นับตั้งแต่ปี 2557
จากนั้น เซเลนสกีก็วิพากษ์วิจารณ์นาโตว่า “ล้าสมัย” ซึ่งมันยิ่งทำให้ไบเดนรู้สึกไม่พอใจ แม้แต่กลุ่มคนที่เห็นอกเห็นใจเซเลนสกีมากที่สุดในรัฐบาล ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า เซเลนสกี “วางระเบิดตัวเอง” ด้วยคำพูดเหล่านั้น
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา สถานการณ์ระหว่างสองผู้นำไม่มีความแตกต่าง หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงเลย จนกระทั่งเซเลนสกี สร้างความประหลาดใจด้วยการเดินทางเยือนกรุงวอชิงตันอีกครั้งในชุดทหาร เมื่อเดือน ธ.ค. 2565 ซึ่งนับเป็นการเดินทางไปต่างประเทศครั้งแรก หลังจากรัสเซียเปิดปฏิบัติการทางทหาร เมื่อเดือน ก.พ. ในปีเดียวกัน
“คุณจะไม่ยืนหยัดตามลำพัง” ไบเดนให้สัญญากับเซเลนสกี ซึ่งเดินทางมาเยือนเป็นครั้งที่สอง โดยนอกจากการต้อนรับในฐานะวีรบุรุษ เซเลนสกี และรัฐบาลเคียฟ ยังได้รับผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมจากรัฐบาลวอชิงตันด้วย
ต่อมาในเดือน ก.พ. ของปีนี้ เพียงไม่วันก่อนสงครามรัสเซีย-ยูเครน ครบรอบ 1 ปี ไบเดนกลายเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนแรก ที่ไปเยือนเขตสงครามซึ่งไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพอเมริกัน การแสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนของสหรัฐ จะตามมาด้วยความช่วยเหลือมหาศาลจากรัฐบาลวอชิงตัน เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับยูเครน สำหรับการตอบโต้กองกำลังของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย
เมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา เซเลนสกี เยือนสหรัฐเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งไบเดนยังคงยืนยันว่า รัฐบาลวอชิงตันจะอยู่เคียงข้างรัฐบาลเคียฟ แต่ในคราวนี้่ เบื้องหลังของรอยยิ้มคือความกลัวเกี่ยวกับภาวะเหนื่อยล้านจากสงครามที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งสมาชิกพรรครีพับลิกันที่รู้สึกกังขา ยังต้องการหยุดมอบความช่วยเหลือให้แก่ยูเครน ซึ่งถือเป็นสัญญาณแรกของปัญหาที่ทำให้งบประมาณช่วยเหลือรัฐบาลเคียฟ อาจหมดลงภายในสิ้นปีนี้
จากความผิดหวังที่ไม่มีข้อตกลงเงินทุนเพิ่มเติม เซเลนสกีจึงตัดสินใจเดินทางเยือนทำเนียบขาวอีกครั้ง เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2566 เพื่อพยายามป้องกันไม่ให้เงินทุนช่วยเหลือของสหรัฐหมดลง จนอาจทำให้ยูเครนเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในสงครามได้.
เลนซ์ซูม
เครดิตภาพ : AFP