พญ.ชไมพันธ์ อดีตที่ปรึกษาประจำองค์การอนามัยโลก ภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ด้านป้องกันการบาดเจ็บและภาวะพิการ และผู้รับผิดชอบโครงการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ผู้ใช้จักรยานยนต์ปลอดภัย บอกว่า ขณะนี้ ตัวเลขการบาดเจ็บและเสียชีวิตที่เพิ่มสูงขึ้น ของกลุ่มแรงงานนอกระบบที่ไม่ได้รับการคุ้มครองอย่าง ไรเดอร์ และมอเตอร์ไซค์รับจ้าง โดยเฉพาะกลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้างใน กทม. ที่มีมากกว่า 80,000 คน โดยมีวินมอเตอร์ไซค์กระจายอยู่ทั่วกรุงเทพฯ มากกว่า 5,500 วิน
“ข้อมูลจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่าในปี 2565 มีกลุ่มไรเดอร์ เกิดอุบัติเหตุ 81 ครั้ง เสียชีวิต 28 ราย บาดเจ็บอีก 36 ราย ขณะที่มอเตอร์ไซค์รับจ้างแม้จะยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน เพราะบางครั้งมอเตอร์ไซค์รับจ้างก็เป็นไรเดอร์ด้วย และไรเดอร์ก็เป็นมอเตอร์ไซค์รับจ้างด้วย แต่ไม่ว่าจะเป็นอะไร คนกลุ่มนี้ เปรียบเสมือนคนชายขอบของเมืองที่ไม่ได้รับการคุ้มครองหรือดูแลอย่างดีพอ”
พญ.ชไมพันธ์ กล่าวว่า สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุของกลุ่มไรเดอร์และมอเตอร์ไซค์รับจ้าง มีหลายสาเหตุ ทั้งการขาดทักษะการขับขี่ โดยเฉพาะทักษะคาดการณ์ความเสี่ยงทั้ง ๆ ที่ต้องทำงานแข่งกับเวลา ขับเร็ว ย้อนศร ขับบนทางเท้า ใช้โทรศัพท์ขณะขับขี่ ทำงานแข่งกับความเร็วและเวลา เส้นทางที่ไม่คุ้นชิน และถนนที่ไม่เอื้อต่อการขับขี่รถจักรยานยนต์
ด้าน ผศ.ดร.พฤกษ์ เถาถวิล อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี หัวหน้าโครงการศึกษา “งานสวัสดิการไรเดอร์” ระบุว่า ไรเดอร์ถือเป็นแรงงานกลุ่มใหม่ที่ไม่ได้รับความคุ้มครอง มีการศึกษาสถิติอุบัติเหตุระหว่างการทำงานของกลุ่มนี้พบว่า สถิติการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มสูงขึ้น บาดเจ็บ พิการ และเสียชีวิตสูงขึ้นจนน่าตกใจ สร้างผลกระทบกับทั้งตัวไรเดอร์ คนในครอบครัว และผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่น ๆ
หัวหน้าโครงการศึกษา “งานสวัสดิการไรเดอร์” ให้ข้อมูลว่า ปัญหาไม่ได้เกิดจากตัวไรเดอร์เพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากระบบการทำงานแพลตฟอร์ม ที่เจ้าของแอปพลิเคชัน อ้างว่าตัวเองเป็นเพียงผู้ให้บริการเทคโนโลยี ที่ไรเดอร์ดาวน์โหลดมาใช้เอง และยอมรับเงื่อนไขการให้บริการเอง โดยเรียกไรเดอร์ว่าเป็น “ผู้รับจ้างอิสระ” ส่วนผู้ให้บริการแอปไม่ใช่นายจ้าง เมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือความผิดพลาดใด ๆ ไรเดอร์ต้องรับผิดชอบตัวเอง และกำหนดการจ่ายค่าจ้างเป็นรายชิ้น สามารถปรับลดค่ารอบได้
นอกจากนี้ ยังมีระบบวิเคราะห์พฤติกรรมผู้ใช้ หรือที่ไรเดอร์เรียกว่าอัลกอริทึ่มให้ลูกค้าประเมินความพึงพอใจ หากไรเดอร์ขยัน ระบบจะประเมินและจ่ายงานให้มากขึ้น ใครไม่ขยันระบบก็ไม่จ่ายงานให้ ทั้งหมดนี้เป็นตัวกระตุ้นให้ไรเดอร์ทำงานหนักขึ้น ค่ารอบลดลง ทำให้ต้องวิ่งงานมากขึ้นเพื่อให้ได้เงินมากขึ้นส่งผลให้ต้องอยู่บนถนนวันละกว่า 10 ชั่วโมง พอรีบก็ขับรถเกิดอุบัติเหตุ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นไรเดอร์ต้องรับผิดชอบเอง
ขณะที่เจ้าของแอปกลับไม่ได้จ่ายอะไรเลย เอาแต่ผลประโยชน์ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วปฏิเสธไม่ได้เลยว่าผู้ให้บริการแอปก็ถือเป็นนายจ้าง แต่เอาเทคโนโลยีมาซ่อนตัวอยู่ข้างหลังเพื่อปฏิเสธความรับผิดชอบทั้งหมด เป็นเรื่องที่รัฐบาลไม่ควรปล่อยให้ผิดที่ผิดทาง โดยต้องยอมรับว่านี่คือการจ้างงานรูปแบบหนึ่ง ที่ต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิสวัสดิการ.
อภิวรรณ เสาเวียง