โดยเฉพาะหลังการหลบหนีและยังติดตามตัวกลับมาไม่ได้ของ “เชาวลิต  ทองด้วง” หรือ เสี่ยแป้ง ผู้ต้องขังเรือนจำกลางนครศรีธรรมราช ที่หลบหนีขณะรับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล 

นักโทษ “รายแรก” ที่หลบหนีคุมขังไปแล้วยังจับตัวกลับมารับโทษไม่ได้ …

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2565 มีการหลบหนีคุมขังที่เป็นข่าวโด่งดัง ไม่เพียงตัวผู้หลบหนี แต่เพราะพฤติกรรมเตรียมการและการหลบหนีที่เกิดขึ้นกลางศาลของ “ประสิทธิ์  เจียวก๊ก” กลายเป็นที่สนใจและวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้างถึงความเข้มงวดการควบคุมตัวนักโทษที่ออกมานอกเรือนจำ

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 ธ.ค.65 ที่ศาลอาญา ในวันดังกล่าว ประสิทธิ์ถูกนำตัวจากเรือนจำกลางคลองเปรมมาที่ศาล เพื่อสืบพยานในห้องพิจารณาคดี ระหว่างสืบพยานมีการแจ้งเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่ควบคุมตัวว่า ตัวเองปวดท้องหนักต้องการเข้าห้องน้ำ เจ้าหน้าที่จึงนำตัวไปเข้าห้องน้ำข้างบัลลังก์ โดยยืนคุมเจ้าตัวอยู่ที่หน้าประตู 

อย่างไรก็ตาม ระหว่างอยู่ในห้องน้ำ ปรากฏว่าประสิทธิ์เปลี่ยนชุดที่มีผู้นำมาวางไว้ พร้อมไขกุญแจข้อเท้าเดินออกมาจากห้องน้ำ ก่อนเจ้าหน้าที่จะรู้ตัวและรวบประสิทธิ์ไว้ได้ทัน ก่อนออกนอกพื้นที่ศาล ทำให้การหลบหนี “ล้มเหลว” 

ผ่านไป 1 ปี วันที่ 22 ธ.ค. 66 เชาวลิต หรือเสี่ยแป้ง สร้างปรากฏการณ์หลบหนีคุมขังที่ “อื้อฉาว”มากสุดอีกครั้งในพื้นที่โรงพยาบาล เพราะเตรียมการอย่างดี สามารถปลดกุญแจและเปลี่ยนเสื้อผ้าเดินออกจากโรงพยาบาลขึ้นรถยนต์หลบหนีง่ายดาย เป็นการหลบหนีที่ “สำเร็จ” รายแรก เพราะผ่านไปเกือบเดือน ก็ยังนำตัวกลับไปคุมขังในเรือนจำไม่ได้

แม้การหลบหนีการคุมขังของเรือนจำจะเกิดขึ้นเป็นระยะ ก่อนหน้านี้มักเป็นกลุ่มถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี สาเหตุส่วนใหญ่เป็นเรื่องการปรับตัวไม่ได้ คิดถึงครอบครัว

ขณะที่จุดหลบหนีมักเกิดขึ้น เช่น เมื่อนำตัวไปรักษาที่โรงพยาบาล เมื่อนำตัวไปศาล และเมื่อออกไปทำงานสาธารณะ หรืองานอื่นใดนอกเรือนจำ ส่งสัญญาณชัดถึงมาตรการควบคุมขณะอยู่นอกเรือนจำที่อาจต้องปรับปรุงให้รัดกุมมากขึ้น

โดยเฉพาะเมื่อข่าวคราวการหลบหนีของนักโทษไม่เพียงสร้างความหวาดหวั่นให้คนในสังคม แต่ยังสะท้อนถึงระบบการทำงานที่กระทบความเชื่อมั่นของสังคมไปด้วย

เฉพาะเดือน ธ.ค. ที่ผ่าน ปรากฏนักโทษหลบหนีการควบคุมตามที่เป็นข่าวแล้ว 2 กรณี ได้แก่

วันที่ 9 ธ.ค. 66 นักโทษคดีลักทรัพย์ เรือนจำพิเศษพัทยา ตัดตรวนหนีออกจากโรงพยาบาลขณะไปรักษาตัว ติดตามจับตัวได้วันรุ่งขึ้น

วันที่ 11 ธ.ค. 66 นักโทษคดียาเสพติด เรือนจำจังหวัดนนทบุรี หนีงานกองนอกประจำร้านกาแฟ ซึ่งเป็นร้านสวัสดิการของเรือนจำ 

ย้อนหลับไปช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 65 (ต.ค. 64-ม.ค. 65) เป็นช่วงที่ปรากฏสถิติหลบหนีสูงมาก พบมีจำนวน 19 ครั้ง รวม 76 คน แม้จะติดตามตัวกลับมาได้ทั้งหมดอย่างรวดเร็ว แต่ก็เป็นข้อมูลที่น่าสนใจกว่าปกติสำหรับงานควบคุมตัวของราชทัณฑ์

ถึงขั้นนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรมขณะนั้น ต้องออกมาชี้ถึงปัญหา และสั่งการแก้ไข แม้การหลบหนีหลายครั้งจะไม่ได้เป็นการหลบหนีจากเรือนจำ แต่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลและสถานที่กักโรคโควิด-19 ที่โครงสร้างไม่แข็งแรงเท่าเรือนจำ และมีเจ้าหน้าที่ดูแลไม่เพียงพอ

แต่ ณ ปัจจุบัน การแหกหักหลบหนี โดยเฉพาะที่มี “ผู้สมรู้ร่วมคิด” หยิบยื่นอุปกรณ์และให้ความช่วยเหลือ น่าจะสะท้อน “ความแตกต่าง” และนัยโดยตรงไปที่ระบบการทำงาน 

“บกพร่อง” หรือมี “ช่องโหว่” ตรงไหน คงถึงเวลาต้องทบทวนและลงมือปิดช่องความผิดพลาดจริงจัง อย่าให้ต้องมีเหตุการณ์ซ้ำรอยบ่อยๆ เพราะแม้ส่วนใหญ่จะตามจับกลับมาได้ แต่ก็มีตัวอย่างแล้วว่า มีนักโทษบางรายอาจเล็ดรอดไปได้ถาวรจริงๆ.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]