แม้ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่ปฏิญญาดังกล่าวเน้นย้ำถึงอำนาจสูงสุดในสิทธิของปัจเจกบุคคล ซึ่งเหนือกว่าสิทธิของรัฐ ตลอดจนกำหนดให้เสรีภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม อยู่ในระดับเดียวกับสิทธิพลเมือง และการเมือง
การประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (ยูเอ็นจีเอ) ครั้งแรก เมื่อปี 2489 จัดตั้งคณะกรรมการด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 18 คน จากภูมิหลังทางการเมือง วัฒนธรรม และศาสนาที่แตกต่างกัน เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับร่างปฏิญญาสิทธิระหว่างประเทศ
คณะกรรมการร่างปฏิญญาประชุมร่วมกันครั้งแรก เมื่อปี 2490 ภายใต้การนำของนางเอเลนอร์ รูสเวลต์ อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐ ในฐานะภริยาของอดีตประธานาธิบดีแฟลงคลิน ดี รูสเวลต์ ขณะที่ตัวแทนคนอื่น มาจากแปดประเทศที่ได้รับเลือกตามที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของพวกเขา ซึ่งนอกจากนายจอห์น ปีเตอร์ส ฮัมฟรีย์ จากแคนาดา และนายเรเน แคสซิน จากฝรั่งเศส ผู้หญิงหลายคนก็มีบทบาทสำคัญในการร่างปฏิญญาฉบับนี้เช่นกัน
ทั้งนี้ ยูดีเอชอาร์ ได้รับการรับรองโดยยูเอ็นจีเอ ครั้งที่ 3 ในกรุงปารีส เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2491 โดยประเทศสมาชิกยูเอ็น 48 ประเทศ มีมติเห็นชอบและให้การสนับสนุน จากสมาชิกทั้งหมด 58 ประเทศในเวลานั้น
ประเทศซึ่งปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ ระบุว่า การเน้นย้ำสิทธิส่วนบุคคลและสิทธิการเมืองที่มากเกินไป แลกมาด้วยสิทธิทางสังคม ซึ่งในขณะเดียวกัน ชาติตะวันตกที่มีระบอบประชาธิปไตย แสดงความกังวลว่า ปฏิญญาดังกล่าวอาจกลายเป็นเครื่องมือทางกฎหมายแบบจำกัด ของประเทศอาณานิคมของพวกเขาได้
แต่ไม่ว่าจะมีข้อสงสัยและการถกเถียงเกิดขึ้นหลายครั้งในเวลานั้น ยูเอชดีอาร์ เป็นแรงบันดาลใจให้กับสนธิสัญญาหลังสงครามทุกฉบับ และถือเป็นรากฐานของกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศด้วย ไม่ว่าจะเป็น อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ ในปี 2522, อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี ในปี 2527, สิทธิเด็ก ในปี 2533 และการก่อตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) ในปี 2541
นอกจากนี้ ยูเอชดีอาร์ ยังเป็นแรงบันดาลใจให้เกิด “สิทธิในการแทรกแซง” ในประเทศอื่น บนพื้นฐานด้านมนุษยธรรม ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากนายแบร์นาร์ คูชเนอร์ อดีตรมว.การต่างประเทศของฝรั่งเศส และผู้ก่อตั้งร่วมขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน (เอ็มเอสเอฟ)
อย่างไรก็ตาม ปฏิญญาฉบับนี้ไม่สามารถป้องกันการละเมิดสิทธิ ตามที่มีเนื้อหาสนับสนุนในเอกสาร และไม่อาจรอดพ้นจากการวิพากษ์วิจารณ์ ตลอดจนพบกับการต่อต้านทางอุดมการณ์ วัฒนธรรม และศาสนาจากหลายประเทศ เช่น จีน และรัสเซีย และประเทศซึ่งใช้กฎหมายชารีอะห์
ภายหลังการประกาศใช้ยูดีเอชอาร์ที่ยาวนาน 75 ปี ปัจจุบันมีการเรียกร้องให้ปรับปรุงเนื้อหาบางส่วน ไม่ว่าจะเป็น การรวมเข้ากับความท้าทายต่าง ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ, การย้ายถิ่นขนานใหญ่ และเทคโนโลยีสมัยใหม่.
เลนซ์ซูม
เครดิตภาพ : AFP