ต้องถาม “สภาพัฒน์-ทีดีอาร์ไอ-แบงก์ชาติ” ว่า 8 ปีที่ผ่านมา การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของประเทศไทย เฉลี่ยปีละ 1.8% ถือว่าดีหรือไม่? การที่ปี 65 ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 8-22 บาท ส่วนปีนี้ “ไตรภาคี” ประชุมลงมติจะปรับขึ้นวันละ 2-16 บาท ทำให้คนส่วนใหญ่มีกำลังซื้อขึ้นมามากมายอย่างนั้นหรือ?

ปัญหาใหญ่ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน คือ หนี้ครัวเรือนสูงกว่า 16 ล้านล้านบาท ทั้งหนี้ผ่อนบ้าน ผ่อนรถยนต์ หนี้บัตรเครดิต หนี้นอกระบบหนักหนาสาหัส เนื่องจากดอกเบี้ยเงินกู้สูงขึ้น กลายเป็นปัญหารุนแรงของลูกหนี้ที่แบกรับดอกเบี้ยในปัจจุบันไม่ไหวแล้ว!

แบงก์ชาติในฐานะผู้บริหารนโยบายการเงิน ทราบหรือไม่ว่าปัญหาดอกเบี้ยขาขึ้นในช่วงที่ผ่านมา สร้างภาระให้ประชาชนมากขึ้นไปอีก ในสถานการณ์ที่การทำมาหากินยากลำบาก รายได้ไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นสอดคล้องกับรายจ่าย แต่ดอกเบี้ยกลับสูงขึ้น ภาระหนี้ที่มีอยู่แล้วจึงพุ่งขึ้นไปด้วย

แต่ธนาคารต่าง ๆ ฟันกำไรกันรวมปีละเป็นแสนล้านบาท แบงก์ชาติดูแลเรื่องดอกเบี้ยอย่างไร? เวลาประชุมพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เคยเห็นนายกรัฐมนตรี-คณะรัฐมนตรี ทำหนังสือทักท้วงหรือไม่?

ถ้า! นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และ รมว.คลัง เกิดนึกครึ้มขึ้นมาทำจดหมายเปิดผนึกทักท้วงการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติ เพราะส่งผลกระทบต่อดอกเบี้ยในตลาด ส่งผลต่อหนี้ครัวเรือน หนี้บ้านที่อยู่อาศัย-หนี้รถยนต์ และกระทบนโยบายการคลังของรัฐบาล แล้วอะไรจะเกิดขึ้น?

3 วันก่อน นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกฯ บอกว่าหนี้ครัวเรือนรายการใหญ่ ที่มิใช่เป็นความฟุ่มเฟือยของลูกหนี้ คือ “หนี้ผ่อนบ้าน”

สินเชื่อบ้านมีอยู่ 3.5 ล้านบัญชี มูลหนี้รวม 4.9 ล้านล้านบาท เป็นกลุ่มที่มีมูลหนี้สูงที่สุดในทั้งหมด สถานการณ์หนี้บ้านในไตรมาส 3/66 ชี้ให้เห็นว่าลูกหนี้กลุ่มที่มีค่างวดค้างชำระ 1-2 งวด (SM) แต่เสี่ยงจะกลายเป็นหนี้เสียมูลหนี้รวม 1.36 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หนี้ค้างชำระที่เพิ่มส่วนใหญ่เป็นบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท เป็นกลุ่มคนรายได้ปานกลางที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รวมถึงค่าครองชีพที่สูงขึ้น

ถ้าไม่แก้ไข แนวโน้ม “เอ็นพีแอล” ในระยะต่อไปจะเพิ่มขึ้นอีก โดยประเด็นปัญหาใหญ่ของหนี้บ้าน คือ ค่างวดที่ปรับตามอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว ในกรณีที่เป็นช่วงที่อัตราดอกเบี้ยคงที่ หรือ ช่วงวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาลง ค่างวดที่จ่ายจะไม่เปลี่ยนแปลง เพราะช่วงดอกเบี้ยขาลง ดอกเบี้ยที่ลดลงจะนำเงินที่จ่ายชำระหนี้จะถูกนำไปหักเงินต้นมากขึ้น

แต่ช่วงเวลาดอกเบี้ยขาขึ้นในปัจจุบันที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติ ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 2.50% ต่อปี ถือเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบหลายปี มีผลทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในประเทศปรับขึ้น (ทั้งๆที่ไม่ขึ้นก็ได้) ถ้าข้อตกลงกู้บ้านถูกผูกไว้กับอัตราดอกเบี้ยลอยตัว จะส่งผลทำให้ค่างวดที่ครัวเรือนต้องจ่ายปรับสูงขึ้น

ตัวเลขหนี้ค้างชำระ 1-2 งวดของสินเชื่อบ้านที่ล่าสุดปรับสูงขึ้นถึง 37.2% ต่อปีเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนส่วนสำคัญน่าจะมาจากเรื่องนี้ด้วย ถ้าเปรียบเทียบดอกเบี้ยเงินกู้ Minimum Retail Rate (MRR) ของ 5 ธนาคารใหญ่ปัจจุบันกับช่วงกลางปี 65 พบว่าปรับสูงขึ้น 1.3-1.4%

ผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น จะเห็นได้ชัดจากลูกหนี้ที่เป็นข่าวดังที่ว่าจ่ายค่างวด 10,900 บาท แต่หักจ่ายเงินต้นเพียง 5.50 บาทเท่านั้น ในขณะที่ตัดจ่ายดอกเบี้ย 10,894.5 บาท สิ่งที่เกิดขึ้นคืออัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น 1.4% ทำให้ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายถ้าเทียบกับเมื่อกลางปี 65 สูงขึ้นประมาณ 2,498 บาท นี่คือข้อมูลจากนายกิตติรัตน์

เมื่อปัญหาหนี้ในระบบ หนี้นอกระบบ กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจไทย รัฐบาลนี้จึงต้องจัดการแก้ปัญหาหนี้เป็น “วาระแห่งชาติ” ด้วยการดึงนายอำเภอ-ผู้กำกับการสถานีตำรวจ-สถาบันการเงิน เข้ามาช่วยทำงาน ถึงขั้นจะมีการทำ KPI (ผลชี้วัดความสำเร็จ) กับนายอำเภอ-ผู้กำกับฯ ที่ชัดเจนว่าใครจะต้องทำอย่างไรบ้างกับปัญหาหนี้นอกระบบ

ขั้นต่อไปประเภทเงินกู้ดอกเบี้ยโหด และทวงหนี้แบบดุๆ อาจจะต้องไปค้นบ้านดูสัญญาเงินกู้ เพื่อใช้มาตรการทางภาษีเล่นงานด้วย!

—————–

พยัคฆ์น้อย