แต่มันก็มีข้อสงสัยว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะกลายเป็นรูปธรรม ในสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนได้หรือไม่ อีกทั้งยังมีความกังวลที่เพิ่มขึ้น เกี่ยวกับผลกระทบของการเดินทาง ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศด้วย
ภาคส่วนการบินได้รับผลกระทบทั่วโลกในช่วงการระบาดใหญ่ เนื่องจากหลายประเทศมีคำสั่งห้ามการเดินทางระหว่างประเทศ ทว่าอุตสาหกรรมนี้กลับมีความมั่นใจเกี่ยวกับการฟื้นตัว เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังกลายเป็นที่สนใจอย่างร้อนแรง ปัจจุบัน ภูมิภาคนี้มีสัดส่วน 10% ของการจราจรทั่วโลก และมีผู้โดยสารมากกว่า 500 ล้านคน เมื่อปี 2562
การเติบโตข้างต้นทำให้รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่รัฐบาลกรุงเทพฯ ไปจนถึงรัฐบาลฮานอย ทุ่มเงินหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อปรับปรุงและขยายโครงสร้างพื้นฐานของสนามบิน ดังเช่นสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นท่าอากาศยานนานาชาติหลักของไทย เปิดอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่ เมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา และกำลังสร้างรันเวย์แห่งที่สาม
นอกจากนี้ ไทยยังมีแผนสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 3 ที่สนามบินดอนเมือง รวมถึงเพิ่มความจุของสนามบินเชียงใหม่เป็นสองเท่า และการขยายสนามบินภูเก็ต ซึ่งเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเกาะที่สำคัญของประเทศ
ขณะเดียวกัน กัมพูชาก็มีแผนการใหญ่ที่จะสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ มูลค่า 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 53,000 ล้านบาท) ในกรุงพนมเปญ ซึ่งเป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาคที่จะแข่งขันกับไทยและสิงคโปร์ โดยคาดว่าจะมีผู้โดยสารประมาณ 50 ล้านคน ภายในปี 2593.
อย่างไรก็ตาม บางประเทศกำลังประสบปัญหากับผลกระทบสิ่งแวดล้อม อันเป็นผลมาจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของการก่อสร้าง ยกตัวอย่างเช่น เวียดนาม ซึ่งกำลังสร้างสนามบินขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ มูลค่า 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 530,000 ล้านบาท) บริเวณนอกเมืองโฮจิมินห์ แต่การดำเนินงานดังกล่าว ทำให้พื้นที่ใกล้เคียงถูกปกคลุมด้วยฝุ่นสีแดงหนาทึบ
อีกด้านหนึ่ง นายมยุระ ปาเทล ผู้อำนวยการประจำเอเชีย ฝ่ายที่ปรึกษาข้อมูลการบิน ของบริษัท โอเอจี กล่าวว่า จำนวนนักท่องเที่ยวในตอนนี้ ยังไม่แตะระดับสูงสุดของช่วงก่อนการระบาดใหญ่ และมันไม่น่าจะไปถึงจุดนั้นได้ก่อนปลายปี 2567 หรือช่วงต้นปี 2568
แม้นักวิเคราะห์หลายคนคาดการณ์ว่า การเติบโตจะได้รับแรงหนุนที่เพิ่มขึ้น จากลุ่มชนชั้นกลางชาวจีนกับชาวอินเดีย รวมถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งมีความกระตือรือร้นในการเดินทาง มากกว่าผู้ปกครองของพวกเขา กระนั้น โอเอจี เตือนว่า ภาคส่วนการท่องเที่ยวของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พึ่งพาจีนมากเกินไป ซึ่งในขณะนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนการระบาดใหญ่อย่างมาก เนื่องจากมหาอำนาจของทวีปเอเชีย ต้องรับมือกับความท้าทายจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว.
เลนซ์ซูม
เครดิตภาพ : AFP