นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง แสดงความไม่พอใจทันทีว่าค่าจ้างขั้นต่ำปรับขึ้นน้อยเกินไป ต้องทบทวนใหม่ บางจังหวัดขึ้นแค่ 2 บาท ซื้อไข่ยังไม่ได้! หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) ประกอบด้วยฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล พิจารณาการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.66 โดยมีมติขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ 2-16 บาท โดยจ.ภูเก็ต เพิ่มสูงสุด 16 บาท ได้ปรับจาก 354 บาท เป็น 370 บาท ขณะที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา ได้ปรับน้อยสุดคือ 2 บาท จาก 328 บาท เป็น 330 บาท เมื่อเฉลี่ยค่าจ้างขั้นต่ำอัตราใหม่ทั่วประเทศ 77 จังหวัด จะเท่ากับ 345 บาท และเตรียมเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันที่ 12 ธ.ค.นี้
ขณะที่ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ระบุว่ากรณีดังกล่าวคงทบทวนอะไรไม่ได้ ต้องเสนอครม.ในวันที่ 12 ธ.ค. 66 เพื่อสั่งให้มาทบทวนใหม่ แม้ตนอยากให้ทบทวนใหม่ โดยอำนาจของรัฐมนตรีไม่สามารถทำอะไรได้ แต่เป็นเรื่องของบอร์ดไตรภาคี
เกี่ยวกับเรื่องนี้ รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีมุมมองเสนอผ่านทีมข่าว Special Report ว่า 1.ครั้งนี้การเมืองไม่สามารถแทรกแซงกระบวนการไตรภาคีได้ นโยบายหาเสียงปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาท จึงไม่เกิด ไม่เหมือนยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ฝ่ายการเมืองใหญ่กว่า ทำให้ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทเกิดขึ้นได้
ดังนั้นจึงเป็นบทเรียนให้ประชาชนได้รู้ว่า เรามี “ไตรภาคี” ทำหน้าที่กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย
2.นายกฯเศรษฐาไม่พอใจขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำน้อย ซึ่งก็น้อยจริงๆ เมื่อเทียบกับเงินเฟ้อ ค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้ปรับขึ้นเฉลี่ย 2.37% แต่หากคิดเงินเฟ้อจากครั้งก่อนที่ปรับขึ้นเมื่อเดือนต.ค.65 เงินเฟ้อ 3.26% (ก.ค. 65-พ.ย.66) จะเห็นว่าจริงๆ แล้วค่าจ้างขั้นต่ำที่แรงงานจะได้รับตั้งแต่ม.ค.67 มีอำนาจการซื้อลดลง หรือค่าจ้างขั้นต่ำที่แท้จริงลดลงจากเมื่อปีก่อน แรงงานสามารถซื้อของได้น้อยลง
3.คงต้องตั้งคำถามกับไตรภาคี ว่าทำไมค่าจ้างขั้นต่ำจึงขึ้นต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ
-มีปัญหาในเรื่องอำนาจการต่อรองในไตรภาคีหรือไม่ ลูกจ้างยอมได้อย่างไร ลูกจ้างเป็นตัวแทนที่ดีไหม ลูกจ้างมีความรู้ความเข้าใจมากเพียงไร
-นักข่าวควรเอาสูตรและตัวเลขที่ใช้คำนวณมาเผยแพร่ในทุกครั้งที่มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้ สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ และตรวจสอบความถูกต้อง อย่าลงแค่ขึ้นกี่บาท กี่เปอร์เซ็นต์ ควรบอกที่มาของตัวเลขด้วยว่ามาอย่างไร
-ในสูตรมีการใช้อัตราการสมทบของแรงงานที่อ้างอิงทฤษฏีเศรษฐศาสตร์และใช้มาแล้วตั้งแต่ปี 60 ไม่ถูกต้อง อันนี้ต้องแก้ไข เพราะผิดหลักวิชาการ จะชดเชยย้อนหลังกันอย่างไร
-มีการผูกขาดอำนาจหรือไม่ กรรมการค่าจ้างอยู่ในวาระได้ไม่เกินกี่วาระต่อเนื่อง มีการกำหนดไว้หรือไม่ มีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามาเป็นตัวแทนของนายจ้าง ลูกจ้าง และผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อสร้างสมดุลอำนาจและการตรวจสอบหรือไม่
“ค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้ นอกจากจะขึ้นไม่ทันเงินเฟ้อแล้ว แรงงานยังไม่ได้รับส่วนแบ่งจากการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะโต 2.5-2.7% อีกด้วย” รศ.ดร.กิริยา กล่าว