เมื่อไม่นานมานี้ เกิดกระแสใน “ติ๊กต็อก” ฝั่งตะวันตกที่เริ่มมีการกล่าวถึงคำว่า “Bed rotting” มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีผู้ออกมาแสดงความเห็นต่าง ๆ นานา หรือไม่ก็ถ่ายคลิปโชว์กิจกรรมที่เข้าข่าย ซึ่งจนถึงตอนนี้มีโพสต์ที่ติดแฮชแท็ก “bed rot” หรือ “bed rotting” เฉียด 33 ล้านโพสต์

Bed Rotting ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการเน่าเปื่อยคาเตียงตามความหมายตรงตัว แต่หมายถึงการขลุกอยู่บนเตียงนอนเพื่อทำกิจกรรมสารพัดอย่างเรื่อย ๆ เฉื่อย ๆ เช่น คุยโทรศัพท์, กินขนม, ดูซีรี่ส์, เล่นเกม หรืออาจจะแค่นอนกลิ้งไปกลิ้งมาเล่น ๆ ตลอดวันหรือนานกว่านั้น โดยมีเป้าหมายเพื่อคลายความเครียด สลายความเหนื่อยล้า ทำให้ตนเองได้รู้สึกว่ากำลังพักผ่อน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เริ่มมีอาการ “หมดไฟ” จากการทำงาน (Burnout Syndrome)

ประเด็นสำคัญกว่าการถกเถียงว่า bed rotting เป็นหรือไม่เป็นการเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ ก็คือว่า ไลฟ์สไตล์แบบนี้เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่

คุณหมอ เจน คอเดิล แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวจากมหาวิทยาลัยโรวัน รัฐนิวเจอร์ซีย์ ให้คำแนะนำผ่านช่องทางติ๊กต็อกของเธอว่า หากทำ bed rotting เพื่อการพักผ่อนจริง ๆ มีกำหนดเวลาที่ไม่นานจนเกินไปหรือทำบ่อยจนเกินไป ก็ไม่มีปัญหา ถือว่าเป็นการให้เวลาแก่ตัวเองและเป็นการคลายเครียดที่ดีด้วยซ้ำ

แต่ถ้าหากเราอยู่แต่บนเตียงและทำโน่นนี่ไปเรื่อยเปื่อยเพียงเพราะไม่อยากเผชิญหน้ากับสถานการณ์หรือปัญหาในชีวิต ตรงนี้จะเริ่มกลายเป็นปัญหาขึ้นมาจริง ๆ ได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาทางสุขภาพจิตอยู่แล้ว

นอกจากนี้การขลุกอยู่แต่บนเตียงแบบไม่ดูเดือนดูตะวันติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ หลายวัน ยังถือว่าเป็นสัญญาณแห่งปัญหาทางสุขภาพจิต ตามความเห็นของคุณหมอลินน์ บัฟคา ผู้ช่วยผู้อำนวยการบริหารด้านการวิจัยและดูแลนโยบายของสถาบันจิตวิทยาอเมริกัน

บัฟคาชี้ว่า สำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าแล้ว bed rotting คือวิธีปลีกตัวออกจากสังคม หลีกเลี่ยงการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นของผู้ป่วย หากมีพฤติกรรมดังกล่าวมากกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป ถือว่าเป็นอาการของโรคซึมเศร้า

สำหรับผู้ป่วยโรควิตกกังวลนั้น bed rotting อาจช่วยบรรเทาอาการได้ในระยะสั้น แต่ในระยะยาวแล้ว มันไม่ใช่วิธีรักษาที่เหมาะสม 

นอกจากนี้ ดร. ไดแอนน์ ออเกลลิ ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์การนอนหลับจากโรงพยาบาลนิวยอร์ก เพรสไบทีเรียนและ ดร. รีเบกกา รอบบินส์ นักวิทยาศาสตร์ด้านเวชศาสตร์การนอนหลับจากโรงพยาบาลหญิงในบอสตัน ก็แสดงความกังวลว่า พฤติกรรมของคนที่เอาแต่ขลุกอยู่บนเตียงในตอนกลางวัน โดยที่ไม่ได้หลับนั้น อาจรบกวนวงจรการนอนตามปกติของเราได้

นอกจากนี้ การใช้เตียงนอนทำกิจกรรมอย่างอื่นที่ไม่ใช่การนอน จะทำให้สมองสับสนและเริ่มแยกแยะไม่ได้ ซึ่งอาจกลายเป็นปัญหาเมื่อถึงเวลานอนจริง ๆ แต่สมองไม่เข้าใจว่านี่คือสถานที่เพื่อการพักผ่อนของเรา ทำให้เรานอนไม่หลับ

กล่าวโดยสรุปแล้ว เทรนด์ของ Bed rotting ไม่เป็นอันตราย หากไม่ทำบ่อยหรือนานจนเกินพอดี โดยผู้เชี่ยวชาญยังแนะนำว่า ถ้าจะให้ดี ควรมีการแยกเตียงที่เอาไว้นอนหลับพักผ่อนจริง ๆ กับเตียงที่เราจะเอาไว้นอนเกลือกกลิ้งทำกิจกรรมตามใจชอบของเรา 

นอกจากนี้ อย่าลืมลุกขึ้นยืดเส้นยืดสายทุก 1-2 ชม. เพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด เพราะการที่ร่างกายไม่เคลื่อนไหว หรือไม่มีการเดิน ยืน ต่อเนื่องกันนาน ๆ จะทำให้ระบบสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายไม่ทั่วถึง ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกับคนที่นั่งรถหรือเครื่องบินเป็นเวลานาน ๆ หลายชั่วโมง

ที่มา : nbcnewyork.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES