วันที่ 1 ธ.ค.ถือเป็น วันเอดส์โลก ซึ่งสถานการณ์ในประเทศไทยก็…บ้างก็บอกน่าเป็นห่วง บ้างก็บอกทำนองว่า “เราเอาอยู่” แต่จากการเปิดเผยของนายกฤษสยาม อารยะวงศ์ชัย ผู้จัดการองค์กร AHF ( Aids Health Care Foundation ) ประจำประเทศไทย ระบุสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวี 1 ม.ค.- 31 ต.ค.66 การแพร่กระจายในเยาวชนเยอะมากขึ้น ช่วงอายุ 15-19 ปี มาตรวจ 5,116 คน ติดเชื้อใหม่ 152 คน ช่วงอายุ 20-24 ปี มาตรวจ 10,530 คน ติดเชื้อใหม่ 387 คน นี่คือเฉพาะในส่วนที่องค์กรเอกชนให้การสนับสนุนการตรวจ ร่วมกับแลปโรงพยาบาลส่วนหนึ่ง ซึ่งยังไม่สรุปสถิติทั้งปี ที่อาจพุ่งปรี๊ดกว่านี้ก็ได้ และก็ไม่แน่ใจว่าประชากรแฝงอย่างกลุ่มต่างด้าว ติดเชื้อเอชไอวีไปมากแค่ไหน และ “ทำงาน”เสี่ยงกับการติดเอชไอวีมากแค่ไหน เช่น ค้าประเวณี หรือไปร่วมแสดงกับแอคเคอร์ในแอปพลิเคชั่นต่างๆ อย่าง onlyfans

ในส่วนของนายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ปี 2565 ประเทศไทย มีผู้อยู่ร่วมกับเอชไอวี 561,578 คน มีผู้เสียชีวิตเนื่องจากเอดส์ 10,972 คน มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 9,230 คน ซึ่งเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ติดเชื้อรายใหม่ เป็นเยาวชนอายุ 15-24 ปี จำนวน 4,379 คน  การติดเชื้อรายใหม่ร้อยละ 96 เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน และเมื่อพิจารณาสถานการณ์การเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 5 โรคหลัก ซิฟิลิส หนองใน หนองในเทียม แผลริมอ่อน กามโรคต่อมน้ำเหลือง

.

ช่วงปี 2560 – 2565 กลุ่มเยาวชนอายุ 15 – 24 ปี ยังเป็นกลุ่มที่มีอัตราป่วยมากและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยมีอัตราป่วย 99.6 ราย ต่อประชากรแสนคน ในปี 2560 เป็น 112.3 ราย ต่อประชากรแสนคน ในปี 2565 คาดการณ์ได้ว่าหากสถานการณ์โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีแนวโน้มเพิ่มสูงมากขึ้นเท่าใด ก็จะยิ่งส่งผลต่อสถานการณ์การติดเชื้อเอชไอวี ที่เพิ่มสูงขึ้นได้เช่นเดียวกัน ซึ่งสิ่งที่จำเป็นคือ ต้องกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่ เยาวชน เข้าใจและตระหนักถึงการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยและรับผิดชอบ โดยสวมถุงยางอนามัยทุกคน

นายชาติวุฒิ กล่าวว่า ปีนี้กำหนดแนวคิดการรณรงค์ คือ “Let Communities Lead” ( ให้ชุมชนนำทาง ) มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นชุมชน รัฐ เอกชนและเครือข่ายต่าง ๆ โดยเฉพาะเยาวชนที่ต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงสร้างสุขภาวะ มีบทบาทสำคัญในการสร้างความตระหนักในการป้องกันตัวเองและคนรอบข้าง และเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน ซึ่งจะนำไปสู่การยุติปัญหาเอดส์ต่อไป 

สถานการณ์นับว่าวิกฤตหรือไม่ เอาจริงก็ถือว่าวิกฤต ถ้าอัตราเยาวชนติดเชื้อหน้าใหม่พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง …คำถามตามมาคือ ทำไมเยาวชนถึงติดกันมาก ก็มีผู้ให้ความเห็นไปหลากหลาย อาทิ ความเห็นหนึ่ง บอกว่า เยาวชนพวกนี้ไม่ได้โตมาแบบรุ่น 40+ ที่คนวัยนั้น ในช่วงเป็นเยาวชน เพิ่งเริ่มรู้จักการแพร่ระบาดของเอดส์ ว่า “เป็นโรครักษาไม่หาย ตายทรมาน สังคมรังเกียจ” วิทยาการด้านยาอะไรก็ไม่พัฒนาขนาดมีทั้งยาต้าน หรือยากดอาการไม่ให้เกิดโรคแทรกแบบคอกเทล กินเม็ดเดียวทุกวันอยู่ ยังไม่มียาป้องกันก่อนการเสี่ยงคือ PrEP และยาป้องกันหลังการเสี่ยง คือ PEP ซึ่งปัจจุบันเข้าถึงระดับสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สามารถขอตามโรงพยาบาลหรือศูนย์สาธารณสุขได้ ประสานขอกับเอ็นจีโอได้ ( แต่ก็ต้องตรวจเลือดก่อน ถ้าติดเชื้อมาแล้วไปรับ PrEP ก็จะทำให้เชื้อดื้อยา )

คนอายุ 40+ จึงกลัวเอดส์มาก ถ้าเกิดใครติดก็กลายเป็นสังคมรังเกียจ และในช่วงที่มีการแพร่ระบาดแรกๆ เราคงจำได้ ( สำหรับคน 40+ นะ ) ถึงกรณีมีข่าวคนเอาเข็มเปื้อนเลือดติดเชื้อเอชไอวีไปไล่แทงคนในห้าง เป็นพฤติกรรมคุมแค้นสังคม ..ความกลัวถูกรังเกียจนี้ทำให้ไม่ยอมมีคนเข้าระบบตรวจ ทำนอง “ไม่รู้คือไม่เป็น” กว่าจะไปตรวจก็คือเกิดโรคแทรกต้องแสดงอาการแล้ว ( การติดเชื้อเอชไอวี อารมณ์ประมาณมันไปทำลายภูมิคุ้มกัน ที่เสียชีวิตกันมากก็เพราะโรคแทรกอื่น โดยเฉพาะวัณโรค ) ต่อมา การรณรงค์จึงต้องเปลี่ยนทัศนคติใหม่

วิธีที่ใช้คือการประกอบสร้างความหมายใหม่ เรียกคนติดเอดส์เป็น “ผู้อยู่กับเชื้อเอชไอวี” ( เพราะเดิม ความหมายคำว่าเอดส์มันดูน่ารังเกียจมาก )  และบอกว่า “ก็เหมือนคนปกติทั่วไป เพียงแต่ต้องกินยาสม่ำเสมอ ดูแลสุขภาพดีๆ” มีการทำโปสเตอร์เป็นรูปคนหุ่นล่ำมารณรงค์ว่า “นี่คือลักษณะผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ” หลีกเลี่ยงคำว่าเอดส์ .. และพัฒนาการด้านยาอะไรต่างๆ ก็มีมาเรื่อยๆ การเรียกร้องสิทธิ์เพื่อผู้อยู่ร่วมกับเชื้อก็จะมีการผลักดัน พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล พ.ศ…. ที่จะครอบคลุมถึงการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อผู้อยู่กับเชื้อด้วย เช่น ห้ามไล่ออกจากงาน ห้ามขอผลเลือด …แต่ขณะเดียวกัน เราก็ต้องให้ความรู้กับผู้อยู่ร่วมกับเชื้อด้วยว่า ในบางอาชีพถ้าทำงานก็มีความเสี่ยง เช่น งานที่เกี่ยวกับการค้าบริการทางเพศ , เกี่ยวกับเลือด , อาหาร , งานในที่ปิดอับแต่อยู่ร่วมกับผู้คนที่อาจเป็นพาหะวัณโรค ..แบบว่า บางอย่างอย่าดึงดันอ้างสิทธิ์

Free photo coronavirus test assortment in lab

ง่ายๆ คือ “การรณรงค์ไม่ทำให้เห็นว่าการติดเชื้อเอชไอวีเป็นเรื่องน่ากลัวเหมือนเมื่อก่อน” … ถ้าไม่อยู่ในอาชีพเสี่ยง สังคมก็พร้อมโอบรับผู้อยู่กับเชื้อมากขึ้น ความกลัวจึงลดลง …ซึ่งบางทีก็เลยเถิดขนาดก่อนหน้านี้เคยมีข่าวจะสอนกันเรื่องการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อเอชไอวีอย่างไร ..ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้จะทำให้คนกลับมารังเกียจผู้อยู่ร่วมกับเชื้อได้ว่าจงใจจะแพร่หรือเปล่า ? เอาจริง การมีเพศสัมพันธ์กับผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ ให้ปลอดภัยมันก็ต้องป้องกัน โดยฝ่ายที่ไม่มีเชื้อ ต้องกินยาป้องกันการติดเชื้อคือ PrEP และใช้ถุงยาง ขณะที่ฝ่ายอยู่ร่วมกับเชื้อ ก็ต้องกินยาต้านจนกดภูมิไม่ให้เชื้อมันสำแดงเดช

ขณะเดียวกัน พวกมาสายอนุรักษ์นิยม ก็บอกว่า “ที่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีมากขึ้น ก็เพราะการแสดงเสรีภาพทางเพศแบบไม่บันยะบันยัง” เขาว่า วัยรุ่นสมัยนี้ไม่ยึดติดเรื่องความพร้อมในการรับผิดชอบผลจากการมีเพศสัมพันธ์ เพราะถูกรณรงค์เรื่องสิทธิในร่างกายมาแล้วเอามาตีความผิดๆ เลยมีเพศสัมพันธ์กันแบบเสรีมากขึ้น แล้วพอเห็นอีกฝ่ายอายุไม่มากก็คิดไปเองว่า “น่าจะไม่มีโรคแฝง” มีการ “ขอสด” คือไม่ใส่ถุงยางบอกว่าไม่สนุก หรืออ้างใช้ยา PrEP ซึ่งอาจใช้จริงแต่กินไม่ถูกต้องตาม guideline สุดท้ายก็จั่วมา .. และบางทีไปดูอีพวกของโป๊ ก็เห็นตัวอย่างการร่วมเพศแบบไม่ใส่ถุงยาง ก็เอามาเลียนแบบ ..ถ้าจะให้ผู้ใหญ่เตือน…ก็ต้องถามว่า เยาวชนจะทำมิดีมิร้ายกันจะมีกี่คนที่ไปขอความเห็นผู้ใหญ่ ? และมีกี่รายที่อารมณ์พาไป

โจทย์คือ “เราต้องทำให้เยาวชนอย่าคิดว่า การอยู่ร่วมกับเชื้อไม่มีปัญหา” ซึ่งปัญหามันก็สำแดงออกมาเรื่อยๆ อย่างการรับยา PrEP , PEP ฟรี มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ผู้ใช้สิทธิประกันสังคมต้องรับเฉพาะกับโรงพยาบาลที่เลือก ซึ่งมีปัญหาสำหรับผู้ย้ายถิ่นฐาน และเรื่องยาต้าน ก็มีปัญหาที่หลายโรงพยาบาลชักจะหมุนยาต้านไม่ทัน จากรอบนัดยา 1 เดือน ก็กลายเป็นต้องนัดทีละ 10 วัน ขณะเดียวกัน ยาไม่พอ งบประมาณป้องกันรักษาก็ต้องเพิ่มในภาครัฐ ..จึงต้องทำให้เข้าใจว่า HIV มันเป็นปัญหาสุขภาพชั่วชีวิต ต้องมานั่งกินยา งานบางงานก็ทำไม่ได้ ปัจจุบันไม่มียารักษาให้หายขาดที่มีรายงานวิจัยยืนยันในระดับสากล ถ้าพวกขายอาหารเสริมเจ้าไหนบอกรักษาได้ เชื้อเอชไอวีหายให้ถือว่าตอแหล โทรแจ้ง อย.ตรวจที่ 1556  

และทำให้เยาวชนเข้าใจว่า “เห็นรูปลักษณ์ดีๆ ภายนอกไม่ใช่ปลอดเชื้อ” ไม่ใช่เห็นว่า ผิวดี หุ่นดี ดูแข็งแรงแล้วน่าไว้ใจนัก บางคนเล่นกล้ามฟิตหุ่นสวยแต่ซ่อนเชื้อไว้ก็เยอะแยะ คุณไม่มีทางรู้ว่าใครเป็นเพราะใครเขาจะกางผลเลือดให้ดู ยกเว้นการมีเซกส์แบบ consent ระดับเซ็นสัญญากันเลยว่าต้องดูผลเลือดก่อนมีได้ ซึ่งก็ยาก เพราะเซกส์ก็เป็นเรื่องของอารมณ์ ..และเดี๋ยวนี้เยาวชนก็เข้าถึงของโป๊มาก เห็นพวกแอคเคอร์ ( นักโชว์ในอินเทอร์เนต ) ไม่ใส่ถุงยาง ..ก็ไม่ทราบว่า รู้หรือไม่ว่าแอคเคอร์บางคนนี่คือค่าภูมิคุ้มกันต่ำมากแล้ว

อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ นายสมวงศ์ อุไรวัฒนา ผอ.มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ปัจจุบันสายด่วน 1663 เป็นผู้ให้บริการให้คำปรึกษากับเด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป ซึ่งในปี 2565 พบข้อมูลสำคัญว่าเพศชาย ขอรับคำปรึกษาเกี่ยวกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มากที่สุด ขณะที่เพศหญิงจะขอรับคำปรึกษาเกี่ยวกับการตั้งครรภ์มากกว่าโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยมีข้อแนะนำมายังคนรุ่นใหม่และผู้ปกครองด้วยว่า หากพบว่าตนเอง หรือบุตรหลานได้รับเชื้อเอชไอวี สิ่งที่ต้องรีบดำเนินการทันทีคือการเข้ากระบวนการรักษา ตามสิทธิ์รักษาพยาบาลของตนเอง เพื่อรับยาและรับประทานยาต่อเนื่องตามที่แพทย์กำหนด จะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพ สามารถใช้ชีวิตตามปกติแบบคนทั่วไปได้ รวมถึงสามารถแต่งงานมีบุตรได้ โดยที่บุตรจะไม่ได้รับเชื้อจากบิดามารดา

นายสุรเชษฐ์ โพธิ์แสง รองเลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย  มีข้อเสนอเร่งด่วนต่อรัฐบาล 2 ข้อ 

1. ขอให้กระทรวงพาณิชย์ พิจารณามาตรการปรับลดราคาถุงยางอนามัยที่จำหน่ายในประเทศ แม้ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  ( สปสช. ) จะให้บริการถุงยางอนามัยสำหรับประชาชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ยังมีข้อจำกัดในทางปฏิบัติ เช่น ความไม่สะดวกในการขอรับบริการผ่านแอปพลิเคชั่น ไม่รวดเร็วเท่าการไปร้านสะดวกซื้อ 

2. ขอให้กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานคอย. เปิดกว้างและลดการควบคุมการสื่อสารโฆษณาของถุงยางอนามัย เนื่องจากถุงยางอนามัยจัดเป็นเครื่องมือแพทย์ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ถุงยางอนามัย พ.ศ. 2556 ทำให้การโฆษณาต้องขออนุญาตและได้รับอนุญาต ซึ่งไม่เอื้อให้เกิดการสื่อสารที่สามารถสร้างแรงจูงใจในการซื้อและการใช้ถุงยางอนามัยเหมือนกับของใช้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน 

นี่คือสถานการณ์เชื้อเอชไอวีที่น่าจะนำมาเล่าสู่กันฟัง เพราะการป้องกันการติดเชื้อไม่ใช่ทำกันแค่วันเดียว.

………………………………………….
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”
ขอบคุณภาพจาก : Unsplash, Freepik