หลายฝ่ายเชื่อว่า รัฐบาลมอสโกคอยช่วยเหลืออยู่เบื้องหลัง เพื่อแลกกับการที่รัฐบาลเปียงยางส่งมอบอาวุธ ให้กองทัพรัสเซียนำไปใช้ในสงครามยูเครน แต่จนถึงตอนนี้ รัสเซียไม่เคยให้ความเห็นเกี่ยวกับการส่งดาวเทียมสอดแนมของเกาเหลีเหนือ
ขณะที่เกาหลีใต้ตอบสนองต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ด้วยการระงับการปฏิบัติตาม “เนื้อหาบางส่วน” ข้อตกลงลดความตึงเครียดทางทหาร ที่ลงนามร่วมกับเกาหลีใต้ เมื่อปี 2561 ระหว่างประธานาธิบดีมุน แจ-อิน ผู้นำเกาหลีใต้ในเวลานั้น กับนายคิม จอง-อึน ผู้นำสูงสุดคนปัจจุบันของเกาหลีเหนือ โดยกองทัพเกาหลีใต้จะกลับมาปฏิบัติภารกิจสอดแนมตามแนวชายแดน
ทว่าเกาหลีเหนือประกาศระงับการปฏิบัติตาม “เนื้อหาทั้งหมด” ของข้อตกลงฉบับดังกล่าว กาหลีเหนือประณามเกาหลีใต้ เป็นฝ่ายละเมิดข้อตกลงลดความตึงเครียดทางทหาร ที่ทั้งสองประเทศลงนามร่วมกัน เมื่อปี 2561 “ด้วยเจตนากระตุ้นสงคราม” ผ่านการซ้อมรบร่วมกับสหรัฐและญี่ปุ่น
อนึ่ง รัฐบาลเปียงยางอ้างสถิติของตัวเอง ว่าเกาหลีใต้และสหรัฐซ้อมรบร่วมกัน “ที่เป็นการแสดงออกซึ่งความก้าวร้าวในสงคราม” มากกว่า 600 ครั้ง ภายในระยะเวลา 4 ปีล่าสุด จากจำนวนดังกล่าวประมาณ 250 ครั้ง เป็นการซ้อมรบเฉพาะเมื่อปี 2565
อย่างไรก็ตาม เนื้อหาตอนหนึ่งของข้อตกลงฉบับดังกล่าว ไม่ได้ระบุห้ามการซ้อมรบระหว่างเกาหลีใต้กับสหรัฐ แต่ห้ามการซ้อมรบด้วยกระสุนจริงตามแนวชายแดน และการฝึกฝนทางยุทธวิธีตามแนวชายแดน
หลังประกาศเรื่องนั้นแล้ว กองทัพเกาหลีเหนือส่งเจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่งลงพื้นที่ชายแดน ที่ติดกับเกาหลีใต้ เพื่อปรับปรุงและซ่อมแซมฐานประจำการอย่างน้อย 11 แห่ง ซึ่งถูกปล่อยทิ้งร้าง ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ข้อตกลงมีผลบังคับใช้
นอกจากนี้ สื่อของเกาหลีเหนือเสนอรายงานด้วย ว่านายคิม จอง-อึน ตรวจสอบภาพถ่ายที่ดาวเทียมมัลลิกย็อง-1 บันทึกไว้ได้ โดยล้วนเป็นภูมิภาคซึ่งรัฐบาลเปียงยางถือว่า “เป็นเป้าหมายหลักทางทหาร” รวมถึง กรุงโซล เมืองพย็องแท็ก เมืองโอซาน เมืองม็อกโป และเมืองกุนซาน ซึ่งล้วนเป็นสถานที่ตั้งของฐานทัพสหรัฐในเกาหลีใต้
นอกจากนี้ ยังมีภาพภูมิประเทศ และสถานที่บางแห่งในเกาหลีเหนือ และภาพถ่ายทำเนียบขาวของสหรัฐ
แม้ไม่มีการแสดงภาพถ่ายจากดาวเทียมอย่างเป็นทางการ แต่หากเป็นความจริง คือการบ่งชี้ว่า ดาวเทียมสอดแนมดวงนี้ ซึ่งเป็นดวงแรกของประเทศ สามารถใช้งานได้จริง
ด้านนายคิม ซอง เอกอัครราชทูตเกาหลีเหนือประจำสหประชาชาติ ( ยูเอ็น ) แถลงต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ( ยูเอ็นเอสซี ) ซึ่งจัดการหารือวาระพิเศษเกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่าเกาหลีเหนือเป็นประเทศ ที่กำลังเผชิญกับวิกฤติด้านความมั่นคงในระดับสูงสุด เนื่องจากสหรัฐยังคงข่มขู่ และคุกคามรัฐบาลเปียงยางด้วยอาวุธนิวเคลียร์
ด้วยเหตุนี้ “จึงเป็นสิทธิอันชอบธรรม” ของเกาหลีเหนือ ในการพัฒนา ทดสอบ ผลิต และครอบครองอาวุธ ในแบบเดียวกับที่สหรัฐกำลังดำเนินการ
ขณะที่นางลินดา โธมัส-กรีนฟิลด์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำยูเอ็น กล่าวว่า การซ้อมรบระหว่างสหรัฐกับเกาหลีใต้ “เป็นไปตามกำหนดการ” และ “เป็นการป้องกันตัวเองโดยธรรมชาติ” นอกจากนี้ การฝึกซ้อมรบระหว่างทั้งสองประเทศ “ไม่ได้ละเมิดมติข้อใดของยูเอ็นเอสซี”
ส่วนนายเกิ่ง ส่วง อัครราชทูตจีนประจำยูเอ็น กล่าวว่า สหรัฐเป็นฝ่ายสร้างบรรยากาศของความโกรธเกรี้ยว และการเผชิญหน้า ผ่านการซ้อมรบร่วมกับเกาหลีใต้ ส่งผลให้เกาหลีเหนือรู้สึกว่า ถูกข่มขู่และคุกคามตลอดเวลา
สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ยิ่งเพิ่มความตึงเครียดให้กับบรรยากาศบนคาบสมุทรเกาหลี ที่ในทางทฤษฎียังคงถือว่า เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้มีสถานะเป็นประเทศคู่สงคราม เนื่องจากทั้งสองฝ่ายลงนามใน “ข้อตกลงหยุดยิง” ไม่ใช่ “สนธิสัญญาสันติภาพ” เพื่อยุติสงครามเกาหลี ระหว่างปี 2493-2496
แม้ดาวเทียมมัลลิกย็อง-1 อาจยังไม่สามารถสำรวจและบันทึกภาพได้คมชัด และละเอียดเท่ากับดาวเทียมสอดแนวของสหรัฐ แต่การมีดาวเทียมของเกาหลีเหนือเคลื่อนที่อยู่ร่วมวงโคจรเดียวกัน บ่งชี้ศักยภาพและประสิทธิภาพทางทหารของรัฐบาลเปียงยาง ที่พัฒนาขึ้นอีกขึ้น ในการสังเกตการณ์ความเคลื่อนไหวทางทหารของสหรัฐ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น สามประเทศซึ่งรัฐบาลเปียงยางถือเป็น “ปรปักษ์” ได้ตามเวลาจริง
ไม่ว่าจะมีความพยายามชักแม่น้ำทั้งห้าแค่ไหน แต่ทั้งสามประเทศยากที่จะปฏิเสธได้ว่า เกาหลีเหนือพัฒนาขึ้นอีกขั้นแล้ว หากวิเคราะห์เฉพาะในบริบททางทหาร.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : AFP