…นี่เป็นส่วนหนึ่งจากการระบุของ ฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ “ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร” หรือ “ธ.ก.ส.” ถึงอีกหนึ่ง “โครงการดี ๆ เพื่อสังคม” ของ ธ.ก.ส. ที่มุ่ง “ช่วยเด็ก ๆ”…

“ปลูกความรู้ด้านการเกษตร…

เพื่ออาหารกลางวันในโรงเรียน”

ทั้งนี้ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ได้สะท้อนเกี่ยวกับโครงการนี้ไว้ในโอกาสนำคณะ ธ.ก.ส. ลงพื้นที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนตะโกปิดทอง ต.สวนผึ้ง อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี เพื่อร่วมกิจกรรม สร้าง “โมเดลทางการเกษตรในโรงเรียน“ เพื่อการ ’สนับสนุนส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการทำการเกษตรสมัยใหม่ให้กับนักเรียน” เพื่อพัฒนาทักษะด้านการเกษตรให้กับนักเรียน ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต ไปจนถึงเก็บเกี่ยวผลผลิตไปใช้ในการประกอบอาหารกลางวันที่ปลอดภัยปราศจากสารเคมีตกค้าง  และรวมถึงจำหน่ายผลผลิตที่เหลือไปยังตลาดชุมชนเพื่อสร้างรายได้เสริม ผ่าน “โครงการปลูกความรู้ด้านการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันในโรงเรียน” ซึ่งเป็น “โมเดลการทำเกษตรแบบใหม่ที่สร้างความยั่งยืนด้านอาหาร” ด้วย

ฉัตรชัย ศิริไล ระบุว่า… “ธ.ก.ส.” ได้ขับเคลื่อนภารกิจด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมผ่าน “โครงการปลูกความรู้ด้านการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันในโรงเรียน” มาต่อเนื่องกว่า 13 ปี โดย มีโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศไทยเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 1,300 โรงเรียน เพื่อสนับสนุนให้เด็กนักเรียนมีความรู้พื้นฐานด้านการเกษตร โดยเฉพาะการผลิต “อาหารปลอดภัย” เพื่อเป็น “อาหารกลางวันในโรงเรียน” ที่สร้างสุขภาพพลานามัยที่ดี ลดภาระค่าใช้จ่ายผู้ปกครอง และสร้างรายได้เสริม โดยเติมหลักสูตรความรู้ด้านการเกษตร และการลงมือปฏิบัติจริง อาทิ… การปลูกผักสวนครัวไร้สารพิษ, เลี้ยงปลา, เลี้ยงไก่, เลี้ยงเป็ด, เพาะเห็ด, หมักปุ๋ยอินทรีย์ ฯลฯ ซึ่งองค์ความรู้ที่เด็ก ๆ ได้รับจากโครงการนี้สามารถต่อยอดเป็นอาชีพได้ในอนาคต อีกทั้งยัง มีการขยายผลการทำเกษตรที่สร้างความยั่งยืนไปยังครอบครัวเด็กนักเรียน และคนในชุมชน

ธ.ก.ส. ตั้งเป้าหมายขยายโครงการปลูกความรู้ด้านการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันในโรงเรียนตามโมเดลดังกล่าวไปยังโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศเพิ่มในปีบัญชี 2567 อีก 200 แห่ง มีจำนวนนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมอีกกว่า 9,000 คน เพื่อสร้างอาหารปลอดภัย สร้างความรู้ สร้างความเข้มแข็ง ให้กับโรงเรียน และชุมชน อย่างยั่งยืน”

ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ระบุขยายความต่อไปว่า… เรื่องการทำ CSR ของทาง “ธ.ก.ส.” นั้นมีหลายมิติ อย่างที่ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนตะโกปิดทอง ต.สวนผึ้ง อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี หลักการก็คือ… อยากให้มีการนำ “องค์ความรู้การทำเกษตรสมัยใหม่” เข้าสู่โรงเรียน เพื่อที่นักเรียนจะมีความรู้ในการทำการเกษตรทั้งเพื่ออาหารกลางวันของตัวเอง และระยะยาวเด็กก็จะมีความรู้เบื้องต้นในการทำการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นการ… เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ เลี้ยงเป็ด ปลูกพืชผัก หรือแม้กระทั่งการทำปุ๋ย การหมักดิน ปรับปรุงดิน ซึ่งปัจจุบันที่นี่สามารถทำเพื่อใช้บริโภคเป็นอาหารกลางวัน และที่เหลือก็ขายสร้างรายได้

ความรู้ทางด้านการทำการเกษตรเหล่านี้ จะเป็นองค์ความรู้ที่ติดตัวพวกเด็ก ๆ ไป เมื่อเขาโตขึ้นก็สามารถนำองค์ความรู้ที่มีไปพัฒนาต่อยอดทำอาชีพได้ง่ายขึ้นและเร็วขึ้น ในขณะเดียวกันเมื่อเขามีความรู้แล้วนำกลับไปที่บ้าน พ่อแม่ พี่น้อง หรือคนในชุมชน ก็สามารถที่จะเรียนรู้ความรู้ที่ติดตัวไปกับเด็ก ๆ เพื่อใช้พัฒนาอาชีพ สร้างอาชีพ ในเรื่องการทำการเกษตรสมัยใหม่ รวมถึงใช้ช่วยลดค่าครองชีพ จากการที่มีอาหารบริโภคโดยที่ไม่ต้องซื้อ …นี่เป็นอีกแนวคิดการทำ CSR ของ ธ.ก.ส. ที่สอดรับกับการช่วยฟื้นฟูศักยภาพลูกค้าของเรา” …ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าว

พร้อมกันนี้ยังระบุอีกว่า… การ “ทำเกษตรสมัยใหม่” ที่ไม่ใช่การทำแบบเดิม ๆ นั้น เริ่มต้นคือต้องมีองค์ความรู้ เช่น ในการปรับปรุงดิน ในการฟื้นฟูปศุสัตว์ที่เลี้ยง ในการลดค่าใช้จ่าย ที่ ไม่ใช่ว่าจะต้องใช้เงินซื้อปัจจัยการผลิตอย่างเดียว ซึ่งการสร้างเป็นองค์ความรู้ให้กับเด็ก ๆ ในโรงเรียนเป็นการปูพื้นฐาน วิธีคิด ช่วยให้รู้ว่าอะไรที่สามารถทำได้โดยไม่ต้องเสียเงินซื้อ และสามารถสร้างรายได้ รวมถึงลดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน …เหล่านี้เป็นพื้นฐานที่สำคัญที่จะได้รับรู้ตั้งแต่ยังเป็นเด็กนักเรียน

สำหรับประเด็น “พัฒนาความมั่นคงทางอาหาร” และ “สร้างความยั่งยืน” จากการทำการเกษตรสมัยใหม่ ทาง ฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ระบุว่า… “ธ.ก.ส.” ก็สนับสนุนการพัฒนา การสร้าง ด้วยการ นำองค์ความรู้ใหม่ ๆ เข้าไปเสริมให้กับเด็ก ๆ ที่อาจมีการปลูกพืชต่าง ๆ เลี้ยงสัตว์ต่าง ๆ กันอยู่แล้ว ก็ไปช่วยเสริมองค์ความรู้ให้ ลงไปที่ต้นน้ำคือที่ตัวเด็ก ให้เขามีความรู้ ว่าทำอย่างไรจึงจะใช้ต้นทุนต่ำ แต่ได้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพสูง สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะเป็นองค์ความรู้ติดตัวไปกับเด็ก

ทั้งนี้ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ยังสะท้อนย้ำถึง “โครงการดี ๆ เพื่อสังคม” ของ “ธ.ก.ส.” โครงการนี้ด้วยว่า… องค์ความรู้ที่ติดตัวไปกับเด็กนี้จะมีการถ่ายทอดสู่พ่อแม่ คนในครอบครัว คนในหมู่บ้าน ที่สามารถจะนำไปใช้ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และก็ใช้สร้างรายได้เพิ่มได้ด้วย… “การทำเกษตรโมเดลใหม่ที่ ธ.ก.ส. สนับสนุน จะทำให้พวกเขามีรายได้เสริม ลดค่าใช้จ่ายในเรื่องของอาหาร และเป็นเรื่องความมั่นคงทางอาหารด้วย ซึ่งเมื่อเด็ก ๆ โตไปก็สามารถนำองค์ความรู้เหล่านี้ไปใช้…

สามารถใช้สร้างความมั่นคงทางอาหาร

และใช้องค์ความรู้นี้สร้างความยั่งยืน” .