คดีลอบสังหารประธานาธิบดีคนที่ 35 ของสหรัฐอเมริกา ‘จอห์น เอฟ เคนเนดี’ หรือ ‘เจเอฟเค’ ที่ช็อกโลกเมื่อ 60 ปีก่อน คือหนึ่งในคดีที่มีเงื่อนงำมากที่สุดในประวัติศาสตร์ แม้ว่าจะมีการจับกุมมือปืน ลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์ ได้ แต่คนมากมายเชื่อว่ามีเบื้องลึกมากกว่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อออสวอลด์ โดนยิงเสียชีวิตหลังจากโดนจับกุม และเอกสารมากมายที่เกี่ยวข้องกับคดี โดนเก็บเป็นความลับ ไม่เผยแพร่ให้สาธารณชนได้รับรู้

เมื่อมีข้อสงสัย ก็มีคนอยากสืบค้นเพื่อหาความจริง มีคนตั้งข้อสันนิษฐาน ตลอดจนตั้งทฤษฎีต่าง ๆ มากมาย และหนึ่งในนั้นก็คือสมมติฐานที่เชื่อว่า ออสวอลด์ ไม่ใช่มือปืนเพียงหนึ่งเดียว แต่มี “มือปืนคนที่ 2” ที่คอยซ้ำ เพื่อให้ปฏิบัติการบรรลุผล

แมรี ฮาเวอร์สติก เป็นคนหนึ่งที่เชื่อสมมติฐานนี้ แต่เหตุผลของเธอเหนือความคาดหมาย เพราะเธออ้างว่ามีเพื่อนคนหนึ่งที่ทำงานเป็นสายลับซึ่งเธอเชื่อว่าเป็นคนลั่นกระสุนสังหารประธานาธิบดีเจเอฟเค 

ฮาเวอร์สติก ถ่ายทอดเรื่องราวและมุมมองของเธอในหนังสือเรื่อง A Woman I Know: Female Spies, Double Identities, and a New Story of the Kennedy Assassination ซึ่งเพิ่งจะวางจำหน่ายเมื่อไม่นานมานี้ ท่ามกลางกระแสย้อนกลับไปพิจารณาคดีลอบสังหารอันโด่งดังนี้อีกครั้ง 

เดิมทีฮาเวอร์สติก ซึ่งมีอาชีพกำกับภาพยนตร์ มีโครงการที่จะสร้างหนังสารคดีเกี่ยวกับโครงการสำรวจดาวพุธ “เมอร์คิวรี 13” และ เจอร์รี คอบบ์ นักบินหญิงผู้ผ่านการทดสอบทางร่างกาย และคาดหวังว่าเธอจะได้เป็นหนึ่งในลูกเรือที่เดินทางสู่อวกาศ แต่โลกที่มีผู้ชายเป็นใหญ่ในยุคนั้น ทำให้เธอต้องผิดหวัง

ผู้กำกับวัย 63 ปีเล่าว่า ยิ่งสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับ คอบบ์ มากเท่าไหร่ เธอก็รู้สึกว่ามีบางอย่างที่แปลกประหลาดและไม่ลงตัว ยิ่งไปกว่านั้น ระหว่างการค้นคว้าของเธอ ก็มีเจ้าหน้าที่กระทรวงความมั่นคงสหรัฐเตือนว่า เอกสารบางอย่างที่ คอบบ์ นำมาให้เธอประกอบการค้นคว้าวิจัยนั้น เป็นเรื่องลับเฉพาะของทางราชการ

ฮาเวอร์สติก รู้สึกว่าเป็นคำเตือนที่แปลกมาก และยิ่งทำให้เธอสนใจสืบค้นจนกระทั่งพบว่า มีความเป็นไปได้ที่ คอบบ์ จะทำงานให้ซีไอเอและมีส่วนเกี่ยวข้องกับการลอบสังหารเจเอฟเค

แทนที่จะได้สร้างภาพยนตร์ ฮาเวอร์สติก ลงเอยด้วยการเขียนหนังสือ ซึ่งมีเนื้อหาเปิดเผยว่า คอบบ์ อาจเป็นมากกว่านักบินหญิงที่ท้าทายยุคสมัย โดยเธอพบว่า คอบบ์ เป็นคนขับเครื่องบินเอกชนลำหนึ่งทั้งขาไปและกลับจากเมืองดัลลัส ในวันที่มีการลอบสังหารเจเอฟเคที่เมืองเดียวกัน และคาดว่าสถานการณ์บีบให้เธอต้องรับบทเป็นมือสังหารบุคคลสำคัญของชาวอเมริกันเมื่อ 60 ปีที่แล้ว

แมรี ฮาเวอร์สติก ผู้สันนิษฐานว่าเพื่อนของเธอผู้ลั่นกระสุนสังหาร “เจเอฟเค”

ฮาเวอร์สติก ยังเชื่อว่า คอบบ์ คือหญิงลึกลับที่ทีมสืบสวนคดีเจเอฟเคตั้งฉายาให้ว่า “บาบุชกา เลดี้” ซึ่งเป็นคนถ่ายภาพเหตุการณ์ขณะที่เจเอฟเคโดนยิง แต่กลับหายตัวไปหลังจากนั้นพร้อมกับม้วนฟิล์มที่ถ่ายไว้ และยังหาไม่พบจนถึงทุกวันนี้

ฮาเวอร์สติก เล่าว่าหลังจากได้รับคำเตือนจากกระทรวงความมั่นคงแห่งชาติ เธอก็เริ่มค้นหาข้อมูลและพบชื่อของ “จูน คอบบ์” ในแฟ้มลับของซีไอเอ ซึ่งระบุว่าเป็นสายลับที่เคยทำงานเป็นเลขานุการของ ฟิเดล คาสโตร ในคิวบาช่วงทศวรรษที่ 1950 

เจอร์รี คอบบ์ นักบินหญิงและผู้เคยเข้าร่วมโครงการฝึกฝนนักบินอวกาศสู่ดาวพุธ

ชื่อของ จูน คอบบ์ ปรากฏซ้ำ ๆ หลายครั้งในแฟ้มคดีซึ่งเกี่ยวโยงกับการลอบสังหารเจเอฟเค เธอเป็นคนแจ้งเตือนซีไอเอถึงพฤติกรรมที่น่าสงสัยของ ออสวอลล์ ในเม็กซิโก หลายสัปดาห์ก่อนเกิดการลอบสังหาร แต่ข้อมูลอีกหลายหน้าของ จูน คอบบ์ ผู้นี้ ยังคงเป็นความลับเพราะอยู่ในเอกสารที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ปฏิเสธที่จะนำออกเผยแพร่สู่สาธารณะ

ฮาวเวอร์สติก ยังพบว่า จูน คอบบ์ และ เจอร์รี คอบบ์ มีความคลายคลึงกันหลายอย่างจนทำให้เธอเชื่อว่าผู้หญิงสองคนนี้เป็นคนเดียวกัน หรือไม่ก็แลกเปลี่ยนตัวตนกัน ซึ่งทำให้เธอตัดสินใจไปถาม เจอร์รี โดยตรง และได้คำตอบที่เธอคิดว่าประหลาดมาก

ในตอนแรก เจอร์รี คอบบ์ แสดงอาการตกใจที่ ฮาเวอร์สติก รู้เรื่อง จูน คอบบ์ แต่แล้วเธอกลับแสดงความยินดีและเล่าเรื่องราวมากมายที่เป็นเรื่องลับเฉพาะเกี่ยวกับซีไอเอสาวออกมา แต่ไม่เคยยอมรับว่าตัวเองเป็นคน ๆ นั้น แม้จะพูดว่า จูน เคยปลอมตัวเป็นเธอเองอยู่ระยะหนึ่ง นอกจากนี้ เจอร์รี คอบบ์ ยังเคยบอก ฮาเวอร์สติก ว่าเธอรู้จักทั้ง ฟิเดล คาสโตร และ เจเอฟเค

จากนั้น ฮาเวอร์สติก ลองเสี่ยงถามว่า จูน คอบบ์ เป็นคนขับเครื่องบินเล็กไปที่สนามบินเรดเบิร์ด เมืองดัลลัส ในวันที่ลอบสังหารใช่หรือไม่ แต่ เจอร์รี กลับยอมรับว่า เธอเองคือคนที่ขับเครื่องบินในวันนั้น โดยอ้างว่าเธอได้รับการว่าจ้างจากนิตยสาร “ไลฟ์” เพื่อขับเครื่องบินพาทีมผู้สื่อข่าวไปทำข่าวระหว่างที่เจเอฟเคไปเยือนเมืองดัลลัส แต่เกิดการลอบสังหารเสียก่อน งานในครั้งนั้นจึงต้องยกเลิกไป ซึ่ง ฮาเวอร์สติก เชื่อว่า เธอโกหก เพราะขัดต่อธรรมชาติของนักข่าวที่ตัดสินใจยกเลิกงาน แทนที่จะตามเกาะติดสถานการณ์ร้ายแรงที่เพิ่งเกิดขึ้น

ฮาเวอร์สติก พยายามหาภาพของ เจอร์รี คอบบ์ ในวันที่เกิดเหตุ แต่กลับพบเพียงภาพของ “บาบุชกา เลดี้” (เธอได้รับฉายานี้เพราะสวมผ้าโพกศีรษะทรงสามเหลี่ยมแบบที่หญิงรัสเซียชอบสวม) เธอเคยถามอีกฝ่ายว่านั่นคือ เจอร์รี่ หรือไม่ แต่ไม่เคยได้รับคำตอบที่ชัดเจน

ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี ระหว่างเดินทางเยือนดัลลัสร่วมกับ แจ๊คเกอลีน เคนเนดี สุภาพสตรีหมายเลข 1 เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2506 ก่อนจะโดนลอบสังหาร

ฮาเวอร์สติกตั้งทฤษฎีเกี่ยวกับ บาบุชกา เลดี้ เป็นมือปืนคนที่ 2 ว่า หญิงสาวโพกผ้าคลุมศีรษะคนนี้ซ่อนปืนไว้หลังกล้อง และเป็นคนยิงเจเอฟเค อีกทั้งเธออยู่ใกล้กลุ่มของประธานาธิบดีมากในระยะเพียง 33 ฟุต (ราว 10 เมตร) 

ผู้กำกับอาวุโสชี้ว่า บาบุชกา เลดี้ เป็นคนที่โดนมองข้ามมากที่สุดในการสืบสวนยุคนั้น อย่างไรก็ตาม เมื่อหลายปีก่อน ก็มีหญิงคนหนึ่งออกมาอ้างตัวว่าเป็น บาบุชกา เลดี้ และบอกว่ามีชาย 2 คนที่อ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐนำกล้องของเธอไป แต่คำพูดของเธอขาดความน่าเชื่อถือเพราะกล้องรุ่นที่เธอกล่าวอ้างถึง ยังไม่มีการผลิตออกมาในปีนั้น

ฮาเวอร์สติก ยังตั้งสมมติฐานอีกด้วยว่า เจอร์รี คอบบ์ ถูกวางตัวให้เป็นคนขับเครื่องบินพา อสสวอลด์ ออกจากดัลลัสหลังจากยิงเจเอฟเคแล้ว (มีทฤษฎีที่เชื่อว่า ออสวอลด์ ทำงานให้ซีไอเอในตอนนั้นซึ่งต้องการให้เจเอฟเคจบชีวิตด้วยเหตุผลหลายประการ) และพาเขาไปยังคิวบา เพื่อลวงว่าการลอบสังหารเจเอฟเคเป็นแผนของฟิเดล คาสโตร แต่เธอเชื่อว่า เจอร์รี เป็นคนร่วมลงมือด้วย เพราะสัมผัสได้ถึงความรู้สึกผิดของ เจอร์รี เมื่อเอ่ยถึงการลอบสังหารในวันนั้น

จากการติดต่อพูดคุยเพื่อการทำงานเป็นเวลายาวนานกว่าทศวรรษ จนในที่สุด ฮาเวอร์สติก กับ คอบบ์ ก็ได้ชื่อว่าเป็นเพื่อนกัน กระนั้น คอบบ์ ก็ไม่เคยสารภาพหรือบอกความจริง หรือทิ้งหลักฐานใด ๆ ที่ชัดเจนเกี่ยวกับการลอบสังหารเจเอฟเคไว้เบื้องหลัง เมื่อเธอเสียชีวิตไปในปี 2562 ด้วยวัย 88 ปี

ข้อมูล : telegraph.co.uk

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES