เพื่อรณรงค์และให้ความรู้ในการป้องกันการคลอดก่อนกำหนดแก่หญิงตั้งครรภ์และประชาชนทั่วไป รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ที่มีหน้าที่ดูแลหญิงตั้งครรภ์และทารกแรกคลอด เพื่อร่วมส่งมอบเด็กคุณภาพสู่ครอบครัว
เรื่องนี้ถือว่า เป็นเรื่องที่สำคัญ โดย นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ย้ำว่า “การคลอดก่อนกำหนด” เป็นปัญหาสำคัญทางด้านสาธารณสุขของทุกประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย เนื่องจาก เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ทารกแรกคลอดเสียชีวิต
ส่วนทารกที่รอดชีวิตอาจมีภาวะทุพพลภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาวตามมาได้ ซึ่งไม่เพียงส่งผลกระทบกับทารก แต่ยังส่งผลถึงครอบครัว สังคม และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เนื่องจากการดูแลทารกคลอดก่อนกำหนดมีค่าใช้จ่ายสูงและต้องใช้ทรัพยากรในการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกพบว่า ในปี พ.ศ. 2563 มีจำนวนทารกที่คลอดทั้งหมด 134.7 ล้านราย โดยมีทารกคลอดก่อนกำหนด 13.4 ล้านราย คิดเป็นอัตราร้อยละ 9.9 เทียบเท่า กับว่ามีทารกคลอดก่อนกำหนด 1 ราย ในทารกที่คลอดทุก ๆ 10 ราย และในปี พ.ศ. 2564 พบว่ามีทารกคลอดก่อนกำหนดเสียชีวิตในช่วง 5 ขวบปีแรกประมาณ 1 ล้านรายจากผลโดยตรงของการคลอดก่อนกำหนด
“ปัจจุบันพบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่มีประวัติเคยคลอดก่อนกำหนดและตรวจพบปากมดลูกสั้นจะมีความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนดสูงขึ้น ดังนั้น หญิงตั้งครรภ์ควรมาฝากครรภ์แต่เนิ่น ๆ เพื่อให้สูติแพทย์ตรวจคัดกรองและให้การป้องกันในรายที่มีปัจจัยเสี่ยงเพื่อลดภาวะทุพพลภาพหรือการเสียชีวิตของทารกแรกคลอดลงให้ได้มากที่สุด”
อย่างไรก็ตาม การพบแพทย์เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการมีบุตร จะช่วยเพื่อลดความเสี่ยงการคลอดก่อนกำหนด รวมทั้งจะได้รับคำแนะนำในเรื่องของการป้องกันการคลอดก่อนกำหนด สัญญาณเตือนของการคลอดก่อนกำหนด การดูแลตนเองเพื่อลดความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนด และเมื่อมีภาวะคลอดก่อนกำหนดขึ้นแล้วจะปฏิบัติตัวอย่างไร รวมทั้งการดูแลทารกคลอดก่อนกำหนดอย่างไร.
อภิวรรณ เสาเวียง