เรื่องราวชีวิตของสองตายายคู่ทรหด ที่ดิ้นสู้ชีวิตร่วมทุกข์สุขฝ่าฟันอุปสรรค แม้จะหนักหนาสาหัสเพียงใดก็ไม่เคยทิ้งกัน ทั้งสองเคยคิดแม้แต่จะขาย “ดวงตา” เพื่อใช้หนี้และปัญหาที่ถาโถม แต่ด้วยความที่ร่วมแรงร่วมใจกัน จับมือเผชิญกับทุกสิ่งที่เข้ามา ทำให้ผ่านเวลาอันเลวร้ายมาได้ กับอาชีพขาย “ขนมหูช้าง” ที่สร้างรายได้นับแสนบาทต่อเดือน
หน้าหนาวนี้ นายบุญเชี่ยว ศรีสวัสดิ์ อายุ 76 ปี และนางฮ่อง ก่ำเกลี้ยง อายุ 74 ปี สองสามีภรรยาจะมาที่สวนสาธารณะห้วยน้ำคำ เกาะกลางน้ำศรีสะเกษ หรือ สวนเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา (เกาะห้วยน้ำคำ) อ.เมืองศรีสะเกษ ในช่วงเช้ามืดเกือบทุกวัน เพื่อตั้งร้านขาย “ขนมหูช้าง” ซึ่งเป็นขนมโบราณ ที่คนนิยมรับประทานกันในช่วงอากาศหนาว
ลูกค้าที่มาเดินเล่นออกกำลังกาย หลังทำกิจกรรมเสร็จส่วนใหญ่ ก็จะนั่งรับประทานขนมหูช้างและผิงไฟคลายหนาว พร้อมกับใช้เวลาพักผ่อนนั่งพูดคุยกันในเรื่องต่างๆ มีทั้งรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ นับว่าเป็นบรรยากาศที่น่าประทับใจอย่างยิ่ง
สำหรับสองตายายที่คอยให้บริการลูกค้าอย่างเป็นกันเอง กับรสชาติของขนมหูช้างที่เอร็ดอร่อย ราคาถูก ทำให้หลายคนมาเป็นลูกค้าประจำกันเลยทีเดียว แต่แทบไม่เคยมีใครรู้เลยว่า ประวัติของสองตายายคู่นี้ ต้องฟันฝ่าอุปสรรคชีวิตมามากเพียงใด
ยายฮ่อง เล่าเรื่องราวชีวิตในอดีตให้ฟังว่า ยายกับตาบุญเชี่ยวมาพบรักกันตอนแก่ อยู่กินกันด้วยความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจช่วยเหลือ เป็นเพื่อนกันยามยาก อยู่กันมาได้ 14 ปีแล้ว โดยตาบุญเชี่ยวมีลูก 1 คน ส่วนยายมีลูก 5 คน ลูกเต้าทุกคนเติบโตและมีครอบครัวแยกกันไปทำงานอยู่ต่างจังหวัดกันหมด ทุกวันนี้ก็อยู่กันแค่สองตายาย
โดยตาบุญเชี่ยวเขาจะมีฝีมือในการทำขนมหูช้าง และนั่งปิ้งไปเรื่อยๆ ส่วนยายก็จะรับลูกค้าอยู่หน้าร้าน ทุกวันนี้ก็มีความสุขกับสิ่งที่ทำและคอยดูแลกันไป ที่ผ่านมาก็เคยประสบปัญหาหนักในชีวิต เนื่องจากบ้านเดิมนั้นได้อาศัยเขาอยู่ ต่อมาก็ถูกไล่ที่ ทำให้ไม่มีบ้าน ต้องพากันเร่ร่อนหาที่อยู่อาศัยใหม่
ยายกับตาจึงตัดสินใจมาซื้อที่ดินใหม่ เพื่อปลูกบ้านภายในหมู่บ้านสวนฝ้าย ต.สำโรง อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ โดยจ่ายมัดจำไป 50,000 บาท และค้างเงินเจ้าของที่ไว้อยู่ 150,000 บาท ซึ่งยายกับตาก็ช่วยกันทำขนมหูช้าง ข้าวเกรียบ ข้าวแต๋น ขนมต่างๆ ออกขายตามงานเพื่อหาเงินมาใช้หนี้
พอเจอปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจทรุดหนัก ขายขนมก็ไม่ดีเหมือนแต่ก่อน ต้องเร่เดินขายขนมไปยังหมู่บ้านต่างๆ บางคนสงสารก็ช่วยอุดหนุน แต่บางคนเขาหวาดกลัว ก็ไม่ซื้อขนมของตากับยาย ทำให้ขาดรายได้ บางวันต้องอดมื้อกินมื้อ จึงตัดสินใจประกาศขาย “ดวงตา” เพื่อหาเงินใช้หนี้และประทังชีวิต
จากนั้นก็ได้รับการช่วยเหลือจากนายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ในอดีต เข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยให้เจ้าของที่ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ ยินยอมโอนที่ดินเข้าธนาคาร และให้ตายายผ่อนกับธนาคารต่ออีกที ตายายจึงได้ยกเลิกการประกาศขายดวงตาไป และจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย เศรษฐกิจเริ่มกลับมาดีขึ้น ขนมหูช้าง ของตายายก็กลับมาขายดีขึ้น
ด้านตาบุญเชี่ยว กล่าวว่า สำหรับขนมหูช้างโบราณของตนนั้น จะมีความพิเศษแตกต่างจากที่อื่น ก็คือเรื่องของความหอมจากส่วนผสม ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นแตงโม หรือ กลิ่นใบเตย และเอกลักษณ์ของรสชาติของข้าวในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ ที่ไม่เหมือนที่ใด ทำให้ขนมหูช้างน่ารับประทานมากยิ่งขึ้น ส่วนราคาขาย ถ้าแบบปิ้งสำเร็จรูปพร้อมกิน จะอยู่ที่ถุงละ 20 บาท มี 2 ชิ้น ส่วนแบบดิบพร้อมนำไปปิ้ง จะอยู่ที่แผ่นละ 5 บาท
ปกติตากับยายจะตระเวนขายขนมหูช้างตามงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงาน OTOP หรืองานเทศกาลต่างๆ ในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ โดยจะขายดีเป็นพิเศษในช่วงหน้าหนาว เนื่องจากจะมีประชาชนที่มารอซื้อขนมหูช้าง ได้ผิงไฟคลายหนาว และซื้อกลับบ้านเพื่อไปผิงไฟปิ้งรับประทานกับครอบครัว
“แต่ละวันสามารถขายขนมหูช้าง ได้กำไรวันละประมาณ 3,000-4,000 บาท เฉลี่ยรายได้ 1 เดือน โดยเฉพาะในช่วงอากาศหนาวนี้ จะตกถึงเดือนละเกือบ 100,000 บาท ซึ่งถือเป็นเรื่องดีอย่างยิ่งสำหรับตาและยาย สำหรับคนที่สนใจหรือผ่านไปมา สามารถมาแวะชิมขนมหูช้างของตากับยายได้นะครับ”
ตาบุญเชี่ยวและยายฮ่อง กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า ตากับยายเคยเจอปัญหากันมามากมาย แต่ก็ร่วมกันสู้ผ่านมาได้ ยังไงก็ขอฝากถึงคนที่กำลังประสบปัญหาชีวิต หรือมีปัญหาที่ยังแก้ไม่ได้ ก็ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคน ขอให้ลุกขึ้นสู้ อย่าท้อถอย เพื่อตัวเราและครอบครัว เพื่อคนที่เรารัก หรือจะดูตัวอย่างพวกเราสองคน ซึ่งอายุ 70 กว่าปีแล้ว แต่ก็ยังสู้ไม่ถอย แล้วสักวันทุกอย่างจะดีขึ้นเอง
คอลัมน์ : นิยายชีวิต โดย : อสงไขย
เรื่องและภาพโดย : จิรภัทร หมายสุข จ.ศรีสะเกษ
[[คลิก]] อ่านเรื่องราว “นิยายชีวิต” ได้ที่นี่..