…นี่เป็นส่วนหนึ่งจากการระบุผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” โดย นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. หรือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในโอกาสลงพื้นที่ อ.หลังสวน จ.ชุมพร เพื่อประชุมรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยบริการ โรงพยาบาล ประชาชนผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งนี่ก็เป็นแนวทางขับเคลื่อน…

แนวทางนโยบาย “ยกระดับบัตรทอง”

ขับเคลื่อน “ให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น”

ทาง นพ.จเด็จ ได้ลงพื้นที่ดังกล่าวพร้อมด้วย นพ.พินิจ กุลละวณิชย์ ประธานมูลนิธิราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย และเจ้าหน้าที่ สปสช. เขต 11 โดยมี นพ.ศักดิ์สิทธิ์ มหารัตนวงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหลังสวน พร้อมด้วยตัวแทนบุคลากรทางการแพทย์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชุมพร (สสจ. ชุมพร), โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในพื้นที่ ให้ข้อมูล ซึ่งการประชุมระหว่าง สปสช. และหน่วยบริการในพื้นที่ครั้งนี้ เป็นการรับฟังการดำเนินงานของหน่วยบริการ โรงพยาบาล มุ่งเน้นที่แนวทางแก้การเบิกจ่ายเงินชดเชย ปัญหาอุปสรรคการให้บริการสุขภาพประชาชน และข้อเสนอแนะต่าง ๆ เพื่อให้การดำเนินการดูแลสุขภาพร่วมกันระหว่างหน่วยงานมีคุณภาพดียิ่งขึ้น

อีกทั้งทางคณะยังได้เดินทางไปที่องค์การบริหารส่วนตำบล  (อบต.) บางน้ำจืด เยี่ยมชมการบริหารจัดการ กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น (กปท.) บางน้ำจืด โดยมี สุชาติ ตังสุรัตน์ นายก อบต.บางน้ำจืด ต้อนรับและพาเยี่ยมชมโรงเรียนผู้สูงอายุ ลงพื้นที่เยี่ยมผู้ป่วยติดบ้าน-ติดเตียง ในความรับผิดชอบของ รพ.สต. ในพื้นที่ และ กปท.บางน้ำจืด อีกด้วย

ทั้งนี้ ในส่วนของ นพ.ศักดิ์สิทธิ์ ได้ระบุไว้ในโอกาสนี้ว่า…โรงพยาบาลหลังสวนเป็นโรงพยาบาลขนาด 120 เตียง แต่ให้บริการเตียงจริง 178 เตียง ซึ่งให้บริการดูแลสุขภาพประชาชน อ.หลังสวน และยังทำหน้าที่เป็นโรงพยาบาลแม่ข่ายให้อีก 5 อำเภอตอนใต้ของ จ.ชุมพร ทำให้มีประชาชนจากต่างอำเภอเข้ามารับบริการจำนวนมากด้วย รวมแล้วโรงพยาบาลหลังสวนต้องดูแลประชากรโดยรอบประมาณ 200,000 คน อีกทั้งยังเป็นโรงพยาบาลที่รับส่งต่อผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่ต้องมีการรักษาต่อเนื่อง โดยเฉพาะโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคไต ซึ่งจากประเด็นที่ประชาชนมารับบริการจำนวนมากนี้ จึงทำให้มี “ปัญหาการเบิกจ่ายเงินชดเชยค่าบริการ” เนื่องเพราะจำนวนรายได้จากค่าเหมาจ่ายรายหัวนั้นไม่สมดุลกับค่าใช้จ่าย

“นอกจากนี้ยังพบด้วยว่าคลินิกเอกชนบางแห่งที่ให้บริการฟอกไต จะผลักภาระการตรวจแล็บประจำปีของผู้ป่วยมาให้โรงพยาบาล ทั้งที่มีการเหมาจ่ายค่าบริการให้กับคลินิกแล้ว ทำให้โรงพยาบาลต้องรับค่าใช้จ่ายในส่วนนี้แทน รวมถึงยังมีประเด็นการทำ CT scan ให้ผู้ป่วยอุบัติเหตุก่อนส่งต่อโรงพยาบาลชุมพร ที่ต้องให้ทำ CT scan ทุกครั้งก่อนส่งตัว ซึ่งโรงพยาบาลหลังสวนเบิกค่าใช้จ่ายไม่ได้ จากปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้มีค่าใช้จ่ายติดลบ 2-3 ล้านบาททุกเดือน และไม่มีรายได้เพื่อลงทุนเพิ่มศักยภาพโรงพยาบาล ซึ่งเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ อยากให้ สปสช. พิจารณานำระบบ DRGs มาจ่ายสำหรับผู้ป่วยนอกเพื่อสะท้อนค่าใช้จ่ายที่แท้จริง และอีกประเด็นคือค่าใช้จ่ายตรวจแล็บต่าง ๆ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายจริงมากกว่าค่าเหมาจ่ายรายหัวที่โรงพยาบาลได้รับ และถ้าเป็นไปได้อยากให้ สปสช. กำหนดให้คลินิกล้างไตเอกชนต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายตรวจแล็บประจำปี หรือมีการตรวจสอบที่เข้มงวดมากขึ้น” …นพ.ศักดิ์สิทธิ์ ระบุ

อย่างไรก็ดี ผอ. โรงพยาบาลหลังสวน เผยว่า… เมื่อได้ประชุมกับ สปสช.  ก็ได้รับคำแนะนำเรื่องการเบิกจ่าย และคลายกังวลได้มาก ซึ่ง สปสช. มีนโยบายสนับสนุนโรงพยาบาลชุมชน แต่เป็นโรงพยาบาลเองที่อาจยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ ขั้นตอนการเบิกจ่ายทำให้ไม่สามารถใช้เงิน สปสช. ได้ครบถ้วน แต่จากนี้ทิศทางก็จะดีขึ้น… “แม้ที่ผ่านมาจะประสบปัญหางบประมาณ แต่เราเอาบริการสุขภาพนำหน้าเรื่องเงินไว้ก่อน ซึ่งหลังได้รับคำแนะนำแล้วก็เห็นถึงแนวทางใช้เงินจาก สปสช. มากขึ้น และจะเป็นรายได้สำคัญของโรงพยาบาลที่จะใช้ลงทุนด้านสุขภาพกับประชาชนในพื้นที่ต่อไป”

สลับกลับมาฟังข้อมูลฝั่ง สปสช. นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี ระบุว่า… โรงพยาบาลหลังสวนควบคุมค่าใช้จ่ายได้ค่อนข้างดี ทั้งเรื่องยา ค่าจ้างบุคลากรทางการแพทย์ แต่พบว่ายังเบิกค่าบริการจาก สปสช. ได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย จึงมาพูดคุยกันว่าจะทำอย่างไรได้บ้างเพื่อให้สามารถใช้เงินจาก สปสช. ได้ครบตามสิทธิ ทั้งนี้ หลังได้พูดคุยกับผู้บริหารโรงพยาบาลหลังสวนแล้วก็มีความเข้าใจกันมากขึ้นเกี่ยวกับระบบการเบิกจ่ายค่าบริการจาก สปสช. ซึ่งพบจุดบกพร่องของระบบ รวมถึงต้องมีการตรวจสอบและแก้ไขอย่างเร่งด่วน นอกจากนี้ ยังได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันถึงแนวทางการทำให้โรงพยาบาลมีรายได้ โดยเฉพาะการบริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค (P&P) และคัดกรองสุขภาพ ที่จะช่วยให้มีเงินค่าบริการที่เบิกได้จาก สปสช. มากขึ้น

“หากโรงพยาบาลให้บริการครบถ้วน โดยเฉพาะการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคที่ทำมากขึ้น ครอบคลุมขึ้น สปสช. ก็พร้อมจะจ่ายให้มากขึ้น ซึ่งผมเชื่อว่าโรงพยาบาลทำได้ดีแล้ว แต่ยังเบิกเงินได้ไม่ครบ” …ทาง นพ.จเด็จ ระบุ พร้อมบอกย้ำในภาพรวมด้วยว่า… โรงพยาบาลใดต้องการคำแนะนำ มีปัญหาและต้องการแก้ปัญหาเรื่องเบิกจ่าย ทาง สปสช. ยินดีไปช่วย ซึ่งไม่ใช่การไปตรวจสอบ… “จะเป็นการไปพูดคุยกัน เพื่อให้เบิกจ่ายงบประมาณจาก สปสช. ได้ครบเต็มที่…

ให้กำลังใจกัน เพื่อเป้าหมายที่สำคัญ

ให้บริการประชาชนมีประสิทธิภาพ”.