ก่อนอื่นก็ต้องขอแสดงความยินดีกับ แอนโทเนีย  เพอร์ซิว ที่ได้รับตำแหน่งรองอันดับหนึ่งมิสยูนิเวิร์ส ซึ่งประเทศไทยไม่ได้เข้ารอบลึกอย่างนี้มานานหลายปีแล้ว ..ตอนประกวดกองเชียร์ลุ้นกันตัวเกร็ง แอนโทเนียมาในมาดแบบนางพญา ตอบคำถามได้ดี ..จนมีกระแสความไม่พอใจต่อคนชนะ ( หรือที่เรียกว่าคนมง )  คือ ผู้เข้าประกวดจากนิคารากัว ทำนองว่า เหมือนโกงเวลาในการตอบคำถามเพราะต้องใช้ล่าม เลยมีเวลาคิดมากกว่าคนอื่น ..กระแสความไม่พอใจลามไปถึง “แอน จักรพงษ์” เจ้าของลิขสิทธิ์เวทีด้วย แนวๆ เจ้าของลิขสิทธิ์เป็นคนไทย ทำไมคนไทยไม่มง แถมกรรมการก็พวกฝั่งลาตินทั้งนั้น ..ส่วนตัวคิดว่า ถ้าแอน จักรพงษ์ ถือลิขสิทธิ์อยู่  ทำอะไรก็เอาใจแฟนนางงามลำบาก รีบให้ประเทศตัวเองมงก็ถูกด่า อาจต้องถึงเวลา ถึงจังหวะจริงๆ แบบ “ถูกคนแล้ว” แต่ก็ลำบากอีกเพราะปีนี้แอนโทเนียมาตรฐานสูงมาก

แอนโทเนีย โพซิ้ว

ดราม่าโถมใส่นิคารากัว..คิดว่าไม่น่าจะใช่จากฝั่งคนไทยเท่านั้น แต่ประเทศอื่นๆ ที่บ้านางงามอย่างฟิลิปปินส์ ประเทศในลาตินอเมริกาก็น่าจะลงมาเล่นด้วย ..หลังจากถูกกระแสโวยว่าเหมือนได้เวลาตอบคำถามมากกว่าชาวบ้าน พอภาพออกงานภาพแรกก็ถูก Bully ( กลั่นแกล้งรังแก ) อีกว่าไม่สวย หน้าเหี่ยว… สายคนโลกสวยบอกว่า เราควรเคารพและให้เกียรติกันและกัน กรรมการตัดสินแล้วควรยอมรับ อย่าไปเหยียด อย่าไป Bully นางงาม

แต่สายเบื่อคำว่า Bully ที่บอกใช้กันเกร่อจนทำตัวต่อกันไม่ถูกแล้ว เอะอะๆๆ ก็ว่า Bully บอกว่า ..ก็มันประกวดความงาม คนประกวดพร้อมขึ้นไปโชว์ตัวว่าตัวเองสวยกว่าชาวบ้าน ถ้าไม่สวยก็ต้องถูกวิจารณ์ได้ว่าไม่สวย  คือมันเป็นเรื่องของการมองและเรื่องของการเชียร์ แค่บอกไม่สวยแล้วจะต้องเจ็บปวดนี่อย่ามาประกวดเลย นางงามสมัยนี้ต้องมาสายสตรอง สายสปีช สายหญิงแกร่งหญิงมั่น สาย advocate เพื่อความเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่นางงามยุคโบราณ แบบประกวดบางเวทีในอดีตที่เขาว่า หาคนสวยจริตกิริยาเอี่ยมเฟี้ยมเพื่อไปเป็นเมียน้อยให้คนใหญ่คนโต ( ก็อย่างเช่นละครคุณชายพุฒิภัทร ) ..สายรำคาญ Bully กล่าวว่า กลับกัน ถ้านักกีฬาคนไหนถูกด่าว่าเล่นห่วย  ถือว่าเป็นการ Bully ไหม ก็มา “แข่งขัน”เหมือนกัน

เอาเป็นว่า Bully หรือไม่ แล้วแต่คนจะคิด คือมันมี sense ของการสื่อสารอยู่ในเนื้อความ คำว่า “ไม่สวย” คำเดียว บางคนก็ว่า Bully บางคนก็ว่า “ก็ปกตินี่ ไม่สวยคือไม่สวย” ..มองง่ายๆ ถ้าทั้งผู้ส่งสารและผู้รับสารรับรู้ได้ถึง sense ของการเหยียด การด้อยค่า ก็ตีเป็น Bully ไปแล้วกัน แต่เรื่องการวิจารณ์ใครสวยไม่สวยนี่มันปกติของเวทีประกวด อย่าไปซีเรียสมาก …บางเรื่อง พวกผู้รักความยุติธรรมก็มองเป็นเรื่องขำๆ เสียด้วยซ้ำ ทั้งที่ไม่รู้ว่า “คนต้นเรื่อง”ขำออกไหม เช่นกรณีชุดราตรีของ “นิ้ง โสภิดา”ที่กลายเป็นตำนานประดับวงการกะเทย เรียกว่าชุด“แดงไหน” ..เพราะมีพิธีกรรายการอะไรสักอย่างวิจารณ์นางงาม แล้วพูดถึงเรื่องสีแดงของชุด แล้วถามขึ้นมาว่า “มันแดงไหนล่ะ ?” ก็เห็นคนเอามาเป็น meme บ่อยๆ แบบว่า “แม่นิ้งไม่เคยได้พัก” แต่ไม่รู้ดีไซเนอร์เขาจะว่าไป Bully งานเขาหรือเปล่า เพราะตอนประกวดก็เห็นคนเอาไปตัดต่อเดินในฉากลิเกบ้างอะไรบ้าง ทั้งที่ดีไซเนอร์เขาบอกตัวเป็นล้าน เฉพาะค่าคริสตัลก็แพงหูฉีกแล้ว

PM commends Miss Thailand

จะว่าไป การประกวดนางงามนายงามอะไรเดี๋ยวนี้มีเยอะแยะมาก จาก Miss Universe  มา Miss World  แล้วก็ Miss Earth  เพิ่งเห็นแว้บๆ มี Miss planet ( ดาวเคราะห์ ) ด้วย อะไรที่สื่อถึงการเป็นเบอร์หนึ่งของโลกงัดมาตั้งชื่อกันให้สนุกไปเลย ไม่แน่ใจว่า Miss Global  มีหรือยัง แต่มี Mr Global แล้ว ..สำหรับเวทีประกวดนางงามที่เขานับเป็นเวทีใหญ่ ( แกรนด์สแลม ) คือ  Miss Universe , Miss World , Miss International , Miss Supranational , Miss Grand ..นางงามก็เวียนๆ ประกวดกัน ไม่มงเวทีนี้ไปลุ้นเผื่อมงอีกเวที หรือเวทีผู้ชายก็ปัจจุบันมีเยอะแยะมากมาย เวทีอินเตอร์ของประกวดผู้ชายก็มีแกรนด์สแลม คือ Mr World , Mr Supranational , Mr Global , Mr International  , Manhunt International นอกจากนั้น..ทั้งเวทีชายเวทีหญิง เวทีสาวสอง ก็มีเวทีอีกยิบย่อยเยอะแยะจนสายดูประกวดตามกันไม่ไหว เลือกตามแต่แกรนด์สแลมพอ

ทำไมการประกวดมันมีเยอะขึ้นเรื่อยๆ ? ก็เป็นเพราะเราอยู่ในโลกที่คน “มีตัวตนในสังคม” เสียงดังพอ และอยู่ในโลกที่ความหล่อความสวยมีราคา ( beauty privilege ) ง่ายๆ ใช้หากินได้ หน้าตาดี หุ่นดี แต่งตัววับๆ แวมๆ หน่อย มียอดฟอลโลว์ในสื่อโซเชี่ยลฯ อย่างอินสตาแกรม หรือติ๊กต่อก แบบไม่ต้องสร้างสตอรี่อะไรมาก โพสต์รูปเซกซี่แล้วโพสต์ข้อความตลกๆ ก็มีคนตามคอยกดไลค์เยอะ สักพัก ผู้ติดตามขึ้นถึงหลักหมื่นหลักแสน ก็รับโฆษณาได้อีก เผยแพร่ในพื้นที่โซเชี่ยลฯ ของตัวเอง ซึ่งการช่วยให้มีตัวตน หรือตัวตนมีราคาส่วนหนึ่งคือการเคยผ่านเวทีประกวด .. นอกจากงานรับโฆษณาที่ว่า บางทีก็มี“รับงานกินข้าวหรืองานเอนท์” บ้าง ก็ต้องรู้วิธี มันจะมีนายหน้าแจ้งรูปแบบงาน เอ็นปกตินั่งชงเหล้า กี่ชม.ว่าไป หรือ “เอ็นวี” วีมาจากวีไอพี ก็ทำอย่างอื่นมากกว่ากินข้าว ..เขาก็จะแจ้งกันว่า ต้องการกี่คน งานแค่ไหนทำอะไรบ้าง นานเท่าไร บั๊ด ( budget ) เท่าไร ใครสนใจส่งคอมการ์ดมาให้นายหน้าส่งผู้ว่าจ้างเลือก

..หรือบางคน ผ่านเวทีประกวดมา หล่อสวยแต่ไปทำ onlyfans การเคยผ่านเวทีประกวดมัน“อัพราคา”ให้ค่าซับฯ ( หรือค่าเข้าดูรายเดือนนั่นแหละ ) แพงขึ้น และรับโฆษณาสินค้าประเภทเกี่ยวกับอวัยวะเพศได้ เช่น คลินิกทำช็อคเวฟ  สบู่สำหรับจุดซ่อนเร้น ร้านรับแวกซ์ขน ..หรือบางคนรักษาตัวไม่ถึงกับโป๊เปลือยมาก การประกวดก็เป็นลู่ทางให้เข้าวงการบันเทิง อาจเริ่มจากการไปเป็นเอกซตรา หรือเป็นตัวประกอบในหนัง ในละคร ซึ่งตอนนี้เวทีผู้ชายดูจะได้เปรียบตรงที่มีการสร้างซีรีย์วายออกมาเยอะมากขึ้น นักแสดงก็ต้องการใช้ผู้ชายมากขึ้น  จับพลัดจับผลูขึ้นมา ดัง มีแฟนคลับสนับสนุน

นึกๆ ไป มันก็มีหลายตัวแปรที่สังคมเปลี่ยนแปลงเร็วขนาดนี้ ช่วงปี พ.ศ. 37-45 ที่พวกโฟโต้บุคเซกซี่ออกมามากนี่คนดังคนไหนไปถ่ายโป๊นี่ถูกตีตราเป็นดาราไม่ดีเอาง่ายๆ ( ยกเว้นคนมาสายนางแบบที่ดูหัวสมัยใหม่จริงๆ ) แล้วก็ต้องหาเหตุผลประเภท บุพการีป่วยต้องใช้เงิน ติดหนี้ เลิกกับแฟนอยากประชดถึงถ่าย แต่เดี๋ยวนี้ .. ก็ไม่มีอะไรมาก อยากโชว์ แนวๆ ออกกำลังกายมา ศัลยฯ มาซะขนาดนี้ ลงทุนไปเยอะ ภูมิใจก็โชว์ ซึ่งก็ไม่ผิดอะไร คือชุดความคิดในสังคมมันเปลี่ยนไปตามยุคสมัย การเติบโตของโซเชี่ยลมีเดียก็คือตัวแปรหนึ่งที่ทำให้รู้สึกว่า การโชว์เนื้อหนังมังสามันเป็นเรื่อง “เพิ่มราคา”ให้ตัวเอง.. ถ้าคำๆ นี้แรงไป ก็เปลี่ยนเป็นคำว่า สร้าง privilege ให้ตัวเองด้านใดด้านหนึ่ง      

การประกวด และความต้องการมีตัวตน มันสนับสนุนธุรกิจอื่นๆ อันดับแรกคือธุรกิจความงาม ถ้ายังไม่ดัง แต่ดูท่าทีพอไปได้ ก็ไปขอเป็นเคสรีวิวให้คลินิก หรือขอผลิตภัณฑ์มารีวิว ถ้าเป็นเวทีใหญ่ คลินิกความงามที่เปิดทั่วกรุงก็เป็นสปอนเซอร์ให้เอง ผลก็คือการโฆษณา  ต่อมา ก็กระตุ้นเศรษฐกิจด้านแฟชั่น เพราะจะประกวดต้องมีการประกวดชุดสูท ชุดราตรี ชุดประจำชาติ ชุดว่ายน้ำ เวทีใหญ่ก็คงรับสปอนเจ้าใหญ่อย่าง ISAVA , POEM , SURFACE อะไรพวกนี้ แต่เวทีกลางๆ ไปจนถึงเวทีเล็กๆ เพิ่งตั้งไข่ ก็เปิดโอกาสให้ดีไซเนอร์ คนอยากเป็นดีไซเนอร์ ได้เป็นสปอนเซอร์ชุด แล้วก็ไปวัดกันตอนขึ้นเวทีว่าชุดตัวเองจะว้าวหรือไม่ ..ก็คือการส่งเสริมการสร้างงานสร้างสรรค์รูปแบบหนึ่ง

แล้วการจัดเวทีประกวด เป็น “ซอฟต์พาวเวอร์” ที่ยุคนี้พูดกันหลอนหูพอๆ กับไทยแลนด์ 4.0 ยุคนายกฯ ประยุทธ์ได้หรือไม่ ? คิดว่า “มันไม่ได้ส่งเสริมขนาดนั้น” เพราะมันคือการ “ขายความเป็นไทย”ในช่วงสั้นๆ ไม่กระตุ้นให้เกิดกระแสความนิยมระดับสากลระยะยาว …ในไทยตอนนี้ก็มีหลายเวทีเห็นศักยภาพที่จะจัด เพราะขอสปอนเซอร์ไม่ยาก หาสื่อไม่ยาก ไม่ต้องใช้สื่อกระแสหลัก ถ้าเป็นประกวดในประเทศไทย หรือเวทีที่มีเฉพาะไทย ก็มีพวกเพจนางงามดังๆ หลายเพจคอยติดตามทำข่าว ไลฟ์สด สัมภาษณ์ผู้เข้าประกวด คนมง ..ถ้าเป็นเวทีอินเตอร์มาประกวดเมืองไทย ก็มีพวกเพจการประกวดจากต่างประเทศเข้ามาทำข่าว เก็บภาพบรรยากาศ

บางเวทีก็เริ่มสนับสนุนการประกวดในเมืองรองมากขึ้น อย่าง Mr Global ที่กำลังจะจัดในไทยก็เลือกไปขอนแก่น มหาสารคาม แทนที่จะมากรุงเทพฯ ระหว่างนั้นจะทำเป็นโปรโมทซอฟต์พาวเวอร์ โดยขายอาหาร สินค้า สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ผ่านผู้เข้าประกวดระหว่างเก็บตัว มันก็ไม่ได้สำเร็จ เพราะเป็นช่วงสั้นที่ไม่ได้สร้างสตอรี่หรือเอกลักษณ์อะไรที่เป็นภาพจำพอ  แตะความเป็นไทยแบบ elite แบบเปลือกๆ อย่างต้องแต่งชุดไทยลายวิจิตร ไปดู, ชิม อาหารชาววัง.. ซึ่งการเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ดี ต้องมีความเป็น pop culture ที่เข้าถึงได้ง่ายระดับหนึ่งด้วย ..ส่วนเรื่องดึงดูดการท่องเที่ยว  เวทีไม่ดังฐานแฟนคลับก็แคบ ไม่ใช่ระดับ Miss Universe ที่มีแฟนเดนตายบินตามมาดูนางงาม ..ง่ายๆ การประกวดก็คือความบันเทิงชนิดหนึ่ง ไม่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยซอฟต์พาวเวอร์ได้อย่างมีนัยยะสำคัญ

 พอพูดถึงเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ ก็นึกถึงสิ่งที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ต้องการกระตุ้น “หมูกระทะ” เป็นซอฟต์พาวเวอร์ บางคนก็ดูเหมือนจะค้านว่า หมูกระทะมันเป็นอาหารชาติอื่นไม่ใช่อาหารไทย  ไอ้พวกปิ้งย่างมันย้อนไปตั้งแต่สมัยเจงกีสข่านโน่น ที่กรำศึกล่าอาณานิคม ไปไหนนอนนั่น อาหารง่ายๆ ก็คือปิ้งย่าง ..และบางที่ก็เรียกหมูเกาหลี สมัยก่อน ตอนเตาปิ้งย่างไฟฟ้าเพิ่งเข้ามาขาย มันมีสูตรอาหารแจกมาพร้อมกัน ในนั้นมีสูตรหมูหมักซอสกับงาย่าง เรียกว่าหมูเกาหลี ไปดูร้านอาหารอย่างสกายลาร์คซึ่งเปิดมานานก็มีเมนูหมูเกาหลี  

ซึ่งเอาเข้าจริง ซอฟต์พาวเวอร์ อาจไม่ใช่อะไรที่เราสร้างขึ้นมาเอง แต่เป็นการ “ฉกฉวยอัตลักษณ์มาดัดแปลงจนคนเห็นว่าเป็นของชาตินั้น” ดูอย่างญี่ปุ่น กีฬาเบสบอลไม่ใช่กีฬาญีปุ่นด้วยซ้ำมันของอเมริกา  แต่พวก 40 ปีขึ้นไปรู้จักกีฬานี้จากการ์ตูนญี่ปุ่น อย่างโดราเอมอน หรือพวกการ์ตูนตาหวาน รูปลักษณ์ตัวการ์ตูนมันก็ไม่ใช่ลักษณะคนญี่ปุ่นแล้วแต่เป็นคนตะวันตก แต่เห็นการ์ตูนตาหวานก็นึกถึงการ์ตูนญี่ปุ่นทันที มันก็คือการฉกฉวยทางวัฒนธรรมมาดัดแปลงจนเป็นอัตลักษณ์

อย่างหมูกระทะ มันมีโจทย์อะไรที่เป็นลูกเล่นที่กลายเป็น “หมูกระทะไทย” แทนเนื้อย่างยากินิคุ หรือหมูเกาหลีได้ ก็ลองหยิบมาเล่นดู เช่น ความหลากหลายของน้ำจิ้ม การมีกระทะแบบปิ้งและต้มได้ในเวลาเดียวกัน ..การส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ด้านหนึ่งคือการฉกฉวยทางวัฒนธรรมให้เป็น ดัดแปลงให้เป็น ไม่ใช่เคลมเอาแบบมักง่ายน่าหมั่นไส้อย่างบางประเทศชอบเคลมว่าเป็นต้นรากของอารยธรรมไทย

เมื่อซอฟต์พาวเวอร์ช่วยสร้างรายได้และเอกลักษณ์ไทยได้ กรรมการซอฟต์พาวเวอร์ก็เพิ่งตั้งไข่ จะต้องออกเป็น พ.ร.บ.เพื่อเอื้อต่อการทำงานอีก นาทีนี้ก็อย่าเพิ่งด่วนตัดสินหรือดูแคลน ดูการทำงานและความคิดไปก่อน ว่า สุดท้ายแล้ว มันจะบรรลุเป้าหมายในการส่งออก “ความเป็นไทย”ทั้งแบบเดิมและแบบประยุกต์สู่ตลาดโลกได้หรือไม่

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”