การเดินทางไปประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 30 ระหว่างวันที่ 12-17 พ.ย.ที่ผ่านมา ณ นครซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง นอกจากได้ประชุมหารือกับผู้นำหลายประเทศแล้ว นายเศรษฐายังมีคิวแน่นเอียดในการพบปะหารือกับผู้บริหารบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ในสหรัฐอเมริกา กว่า 10 บริษัท เพื่อเชิญชวนเข้ามาลงทุนในประเทศไทย

สำหรับภาพรวมและข้อสรุปในการพบปะหารือกับผู้บริหารบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่เป็นอย่างไรบ้างนั้น ทีมข่าว Special Report สนทนากับ นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่ร่วมเดินทางไปกับคณะของนายกฯในการประชุมเอเปคครั้งนี้ด้วย  

“อเมซอน-กูเกิล-ไมโครซอฟท์” มาครบ!

นายนฤตม์กล่าวว่าผู้บริหารบริษัทเอกชนรายใหญ่ที่มาคุยกับนายกฯเศรษฐามี 3 กลุ่ม 1.กลุ่มดาต้าเซ็นเตอร์-คลาวด์ 2.กลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) 3.กลุ่มไมโครชิพ-อิเล็กทรอนิกส์

โดยกลุ่มบริษัทเหล่านี้ ส่วนหนึ่งเป็นบริษัทที่นายกฯได้เจอเมื่อครั้งไปประชุมที่นิวยอร์ก หลังจากนั้นในช่วง 2 เดือน ได้มีทีมการทำงานของนายกฯ+กระทรวงดิจิทัลฯ+บีโอไอ ติดตามบริษัทดังกล่าว เรียกว่ามีการดูว่ามีอิมแพคเรื่องการลงทุนอย่างไร เขาติดขัดเรื่องอะไรบ้าง จึงประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปลดล็อกปัญหา แล้วนำไปสู่การเซ็น MOU ร่วมกัน คือ Google และMicrosoft  เรียบร้อยแล้ว

โดย MOU มีประเด็นที่จะพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของบุคลากรไทย มีความร่วมมือทางด้านการลงทุน การพิจารณาแผนของการลงทุนในประเทศไทย รายละกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นสิ่งที่เราได้ทำการบ้านในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา แล้วครั้งนี้ได้มาตอกย้ำเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเขา ส่วน AWS (อเมซอน) นั้นเราทำกันมาสักพักหนึ่งแล้ว

คือสถานะของแต่ละบริษัทไม่เหมือนกัน โดย Google และ Microsoft เคยเจอกับนายกฯที่นิวยอร์ก แล้วมีทีมทำงานร่วมกัน จนนำไปสู่การเซ็น MOU และนำไปสู่วางแผนการลงทุนในประเทศไทย สำหรับ AWS เคยทำงานร่วมกันในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และเป็น Hyper scale รายแรกที่ได้ตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยประมาณ 5 พันล้านเหรียญฯ ในช่วงเวลา 15 ปีข้างหน้า

“ถ้าพูดถึง Hyper scale อเมซอนเป็นอันดับ 1 โดยมีมาร์เก็ตแชร์ 32% รองคือ Microsoft 22% Google 21% นี่คือ 3 รายใหญ่ของโลก แต่เมื่อมาเจอกันอีกครั้งนี้ บริษัท AWS (อเมซอน) มายืนยันชัดเจนถึงแผนการลงทุนระยะยาวในประเทศไทย ส่วนนายกฯได้สร้างความมั่นใจว่ารัฐบาลไทยพร้อมให้การสนับสนุน เพราะอุตสาหกรรมดิจิทัลเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ เนื่องจากกิจการเป้าหมายทั้ง “ดาต้าเซ็นเตอร์-คลาวด์” ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ จะช่วยยกระดับทางด้านดิจิทัลของประเทศ และช่วยยกระดับเรื่องดิจิทัล อินฟอร์เมชั่น ทำได้เร็วขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการในไทยสามารถเข้าถึงบริการคลาวด์ที่มีคุณภาพระดับโลก ในราคาที่ไม่สูงมาก อันนี้คือสิ่งที่เรายืนยันกับเขา และเขายืนยันเดินหน้าลงทุนในประเทศไทย 5 พันล้านเหรียญฯ”

โดยเฟสแรกจะตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ 3 แห่ง กำลังก่อสร้างอยู่ที่ จ.ชลบุรี-ระยอง และมีการขยายอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน AWS ลงทุนในอาเซียน 3ประเทศ คือ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และไทย รวมๆกันแล้ว 17 ประเทศทั่วโลก แต่ปัจจุบันสิงคโปร์มีข้อจำกัดในเรื่องพื้นที่และพลังงานไฟฟ้าสะอาด ประกอบกับมีความต้องการสูงขึ้นมากในเรื่องของ Generative AI เป็นตัวเร่งให้ความจำเป็นของดาต้าเซ็นเตอร์ และคลาวด์ มีมากขึ้น

ส่วนเหตุผลสำคัญที่มาลงทุนในไทย เนื่องจากดาต้าเซ็นเตอร์พวกนี้จะใช้พลังงานสะอาด 100% (ลูกค้าบังคับ) และเขามั่นใจว่าไทยมีพลังงานสะอาดให้เขาพอ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยในเรื่อง 1.ไทยไม่มีภัยธรรมชาติรุนแรง 2.เป็นประเทศที่ไม่ขัดแย้งกับใคร 3.กฎระเบียบเอื้อต่อการลงทุน 4.มีสาธารณูปโภคพื้นฐานพร้อม 5.รัฐบาลมีนโยบาย “คลาวด์ภาครัฐ”

ในส่วนการจ้างงานนั้น ธุรกิจพวกนี้ใช้คนไม่มาก แต่สามารถทำให้ผู้ประกอบการในไทยสามารถเข้าถึงคลาวน์ที่มีคุณภาพ ในราคาที่เหมาะสม ดังนั้นภาพรวมของกลุ่มดาต้าเซ็นเตอร์ และคลาวด์เซอร์วิส 3 รายใหญ่ของโลก มาลงทุนในประเทศไทยอย่างแน่นอน

เจอ “เทสล่า” 2 ครั้ง-มีแนวโน้มในทางที่ดี

เลขาฯบีโอไอกล่าวต่อไปว่า สำหรับกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เรามีแนวโน้มที่ดีกับค่าย “เทสล่า” หลังจากผู้บริหารเทสล่าได้พบกับนายกฯเศรษฐา 2 ครั้ง คือที่นิวยอร์ก และซานฟรานซิสโก โดยนายกฯได้ให้ความมั่นใจกับเทสล่าไปว่าเราเดินหน้าเป็นฐานการผลิตรถอีวีในระดับโลกอย่างจริงจัง ตั้งแต่การส่งเสริมให้มีการประกอบรถยนต์อีวีเพื่อขายในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ ส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง (แบตฯ-ชาร์จ-อะไหล่) และส่งเสริมให้หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจใช้รถยนต์อีวี

สิ่งที่ชัดเจนมากคือในช่วง 9 เดือนของปี 66 ประเทศไทยมีการจดทะเบียนใช้รถยนต์อีวีกว่า 5 หมื่นคัน เรียกว่าเติบโตแบบก้าวกระโดดถึง 7 เท่าของปี 65 เติบโตสูงสุดในอาเซียน ดังนั้นวันนี้ไทยจึงยืนอยู่ในจุดที่ดีที่สุดกว่าประเทศอื่นในอาเซียน โดยคาดว่าเทสล่าจะตัดสินใจเรื่องการลงทุนในประเทศไทยช่วงไตรมาสแรก ปี 67

สำหรับนักลงทุนในกลุ่มที่ 3 คือพวกไมโครชิพ-อิเล็กทรอนิกส์ เช่น บริษัท HP-ADI- WESTERN DIGITAL บริษัทเหล่านี้เป็นนักลงทุนระดับโลกที่อยู่ในประเทศไทยมานาน ยังมีการขยายการลงทุนอยู่เรื่อยๆ เกี่ยวกับเป็นฐานการผลิตฮาร์ดดิสก์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ไฮเทค ชิ้นส่วนเครื่องมือแพทย์ ตัวเซ็นเซอร์ เลเซอร์สำหรับอุตสาหกรรม และโน้ตบุ๊ก (20%ของการผลิตโน้ตบุ๊กทั่วโลก)

บางบริษัทอยู่ในประเทศไทยมาแล้ว 20 ปี เขาบอกกับนายกฯว่าอยู่เมืองไทยแล้วมีความสุขมาก มีโรงงาน 2 แห่ง ที่จ.ปทุมธานี-ชลบุรี กิจการโตขึ้นทุกปีๆ ละกว่า 10% มีการจ้างงานรวมกันกว่า 13,000 คน (2โรงงาน) ในจำนวนนี้เป็นวิศวกรกว่า 1,000 คน และเป็นดร.กว่า 100 คน ไม่น่าเชื่อ!

นายกฯมาจากภาคธุรกิจ-รู้เรื่อง-นำทัพมาเอง-เจรจามีน้ำหนัก

นอกจากนักลงทุน 3 กลุ่มแล้ว ยังมีผู้บริหารของ TikTok และ META เข้ามาคุยด้วย โดยนายกฯได้ขอให้ TikTok และ META เข้ามาช่วยเกี่ยวกับการพัฒนาบุคคลากรไทย ในรูปแบบของการตั้งอะคาเดมี่ และช่วยส่งเสริมทางด้านการท่องเที่ยว และซอฟต์ เพาเวอร์

โดยภาคธุรกิจที่มาคุยในครั้งนี้ ส่วนใหญ่มีปัจจัยสำคัญในเรื่องของพลังงานสะอาด เพราะเขาถูกบังคับจากลูกค้ามาเป็นทอดๆ และในอาเซียน ประเทศถือว่าเป็น Hub ในเรื่องพลังงานไฟฟ้าสะอาดอย่างชัดเจน และมีเพียงพออย่างแน่นอน

“เรื่องสุดท้ายที่มีการพูดถึงในเอเปคครั้งนี้ คือโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมของสินค้า-น้ำมัน เส้นทางใหม่ของโลก โดยหลายประเทศให้ความสนใจมาก เพราะกระทรวงคมนาคมอธิบายให้เห็นภาพอย่างชัดเจนในทุกมิติ ดังนั้นทุกประเทศต่างมองว่าเขาจะมีส่วนร่วมกับแลนด์บริดจ์ตรงไหนได้บ้าง ผมมองว่าการมาเอเปคครั้งนี้ดีมาก เพราะนายกฯนำทีมมาเอง นายกฯมาจากภาคธุรกิจ ทำให้การพูดคุยเจรจามีน้ำหนักมากขึ้น ในยุคปัจจุบันไม่มีประเทศไหนเป็นแบบนี้ ที่เบอร์ 1 เคยเป็นนักธุรกิจ จึงมองลู่ทางธุรกิจออก แล้วนำทัพมาเอง จึงเป็นทิศทางและโอกาสในการดึงนักลงทุนเข้ามาในประเทศไทย ประกอบกับเรื่องของสถานการณ์โลก ทำให้นักลงทุนต่างมองหาพื้นที่ลงทุนที่มีความปลอดภัย ดังนั้นในเวลานี้ไทยจึงโดดเด่นมากในภูมิภาคอาเซียน” เลขาฯบีโอไอ กล่าว