ครั้งนี้เป็นการ “จมน้ำเสียชีวิตระหว่างการเข้าค่าย” โดยภายหลังเกิดเหตุการณ์สูญเสีย เกิดการเสียชีวิต ก็เป็นอีกครั้งที่เกิดปุจฉาถึงฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เกิดกระแสอื้ออึงเกี่ยวกับ “มาตรฐานความปลอดภัยในการจัดกิจกรรมเข้าค่าย?” …ซึ่งกับเหตุล่าสุดฝ่ายใดว่าอย่างไรกันบ้าง?…ก็ดังที่ทราบ ๆ…

ขณะที่ในภาพรวม ๆ เกี่ยวกับ “กิจกรรมเข้าค่าย” ทั่ว ๆ ไปนั้น หลังจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุด ก็ตามมาด้วยคำถามจากบรรดาผู้เป็นพ่อแม่ผู้ปกครองกรณีกิจกรรมการเข้าค่าย ว่า…มีความจำเป็นที่จะต้องจัดกิจกรรมนี้หรือไม่?-อย่างไร? และ หากกิจกรรมนี้มีประโยชน์…คำถามคือเรื่อง “ความปลอดภัย” ในการจัดกิจกรรมลักษณะนี้ “ควรต้องเตรียมเช่นไร?” ไม่ว่าจะเป็น… การประเมินความปลอดภัยในการจัดกิจกรรม การดูแลรักษาความปลอดภัยให้เด็ก-เยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรม ฯลฯ หรือโดยสรุปก็คือ…มาตรฐานการจัดกิจกรรมเข้าค่าย “ควรต้องเป็นเช่นไรจึงจะไม่เกิดอันตราย?” จึงจะปลอดภัย…

เกี่ยวกับกรณี “กิจกรรมเข้าค่าย” นั้น…

จะ ต้องมีหลักปฏิบัติอะไร?-อย่างไร?”

ก็ “มีคำแนะนำสิ่งที่จะต้องคำนึง-ต้องมี”

ทั้งนี้ กับ “การจัดกิจกรรมเข้าค่ายให้ปลอดภัย” ที่วันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนข้อมูลคำแนะนำโดย มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ที่ได้เสนอแนะไว้เพื่อให้นำไปใช้เป็น “แนวทางเพื่อความปลอดภัยสำหรับเด็ก-เยาวชน” ที่เข้าร่วมกิจกรรมแบบนี้ โดยคำแนะนำแบ่งเป็น ก่อนวันจัดกิจกรรม วันจัด-วันจบกิจกรรม ซึ่งมีรายละเอียดโดยสังเขปดังนี้…

คำแนะนำ “ก่อนวันจัดกิจกรรมเข้าค่าย” สิ่งที่ผู้จัดกิจกรรมต้องปฏิบัติ ได้แก่… 1.คำนึงถึงความปลอดภัยในการเดินทาง เช่น การเลือกรถ บริษัทรถ พนักงานขับรถ ที่ปลอดภัย การเลือกเส้นทางที่ปลอดภัย มีรถนำขบวน, 2.คำนึงถึงความปลอดภัยของสถานที่พักแรม โดย ประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ หรือภัยพิบัติในสถานที่นั้น ๆ เช่น แหล่งน้ำบริเวณที่พักแรม สภาพอากาศของพื้นที่ หรือระบบไฟฟ้า อาคารสถานที่ มีความปลอดภัยหรือไม่? ซึ่งถ้าพบความเสี่ยง ต้องมีแผนป้องกัน เช่น ปิดกั้นพื้นที่เสี่ยง กำหนดพื้นที่ปลอดภัยในการใช้ชีวิตหรือทำกิจกรรม หรืออาจต้องเปลี่ยนสถานที่

3.คำนึงถึงความปลอดภัยของกิจกรรม อย่างเช่น ไม่จัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เช่น เสี่ยงต่อการจมน้ำ เสี่ยงต่อการตกจากที่สูง เสี่ยงต่อสัตว์มีพิษ เสี่ยงอันตรายจากไฟฟ้า เป็นต้น รวมถึงกิจกรรมที่จะจัดขึ้นจะต้องมีความเหมาะสมกับเด็กที่เข้าร่วมกิจกรรมด้วย, 4.คำนึงถึงสภาวะของเด็กที่เข้าร่วมกิจกรรม อาทิ เด็กมีข้อจำกัดอะไรบ้างหรือไม่อย่างไร? เช่น มีเด็กออทิสติก มีเด็กสมาธิสั้น มีเด็กมีโรคประจำตัว ที่ยิ่งต้องเฝ้าระวังหรือไม่? ซึ่งถ้าพบว่ามีเด็กที่มีสภาวะดังกล่าว ในกรณีนี้ ต้องปรับแผนกิจกรรมให้สอดคล้อง และต้องมีแผนเฝ้าระวังและดูแลเฉพาะกรณี ด้วย

นี่เป็นสิ่ง “ต้องคำนึง” ก่อนวันกิจกรรม

และก็ “ต้องมีการเตรียม” อื่น ๆ อีก…

คือยังต้องมี… 5.มีการจัดระบบการดูแลเด็กที่เหมาะสม เช่น มีการกำหนดครู อาจารย์ ผู้รับผิดชอบในการดูแลเรื่องต่าง ๆ ให้ชัดเจน เช่น ความปลอดภัยของสถานที่ ที่พัก ที่ทำกิจกรรม รวมถึงอาหาร และ ควรกำหนดให้มีครูหรืออาจารย์ทำหน้าที่ดูแลเด็กในอัตราส่วนที่เหมาะสมตลอดช่วงเวลาที่ทำกิจกรรม กับควรวางระบบการตรวจเช็กเด็กเป็นระยะ ๆ

ถัดมา… 6.มีแผนในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น กรณีมีเด็กหายไป กรณีมีเด็กเกิดอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วย และ ควรมีเบอร์โทรศัพท์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จัดกิจกรรมเตรียมไว้ หรือแจกให้เด็กรับรู้ไว้ เป็นต้น และรวมถึง… 7.มีการเตรียมความพร้อมเด็กในการดูแลตนเองให้ปลอดภัย นี่ก็อยู่ในคำแนะนำ เช่น การวางกฎกติกาต่าง ๆ กับเด็กก่อนเดินทาง การแบ่งกลุ่มเด็กในการดูแลกันและกัน การให้เด็กนำอุปกรณ์ที่จำเป็นไปด้วยกรณีฉุกเฉิน เช่น ไฟฉาย เป็นต้น

สำหรับ คำแนะนำ “วันจัด-วันจบกิจกรรมเข้าค่าย” นั้น… มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ให้แนวทางเอาไว้ดังต่อไปนี้คือ… 1.มีการประชุมชี้แจงเด็กเรื่องกฎระเบียบ และข้อปฏิบัติในการใช้สถานที่ ตลอดจนการปฏิบัติตนของเด็กขณะอยู่ในบริเวณที่จัดกิจกรรมและที่พักแรม และย้ำว่ารวมถึง…ควรมีการแบ่งกลุ่มให้เด็กดูแลกันและกันด้วย, 2.มีการเตรียมความพร้อมให้กับเด็กในกรณีต่าง ๆ เช่น เกิดการพลัดหลงต้องทำอย่างไร? หรือหากพบเห็น หรือ เกิดความผิดปกติใด ๆ เช่น มีเพื่อนหายไป มีเพื่อนประสบอุบัติเหตุ หรือเกิดภัยจากบุคคลอื่น เด็กจะต้องทำเช่นไร? ต้องรีบแจ้งต่อใคร?

3.มีการเช็กจำนวนเด็กเป็นระยะ ตั้งแต่ก่อนเดินทาง จนถึงสถานที่พักแรม เมื่อจบกิจกรรมช่วงเที่ยง เย็น กลางคืน และก่อนกลับออกจากสถานที่พักแรม รวมถึงเช็กจำนวนเด็กเมื่อกลับถึงโรงเรียน-จุดหมายปลายทาง, 4.มีการแจ้งผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดหากมีกรณีเด็กหาย ทั้งผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ ครอบครัว และ ต้องเริ่มการค้นหาทันทีที่ทราบว่ามีเด็กหาย...ทั้งนี้ ต่าง ๆ เหล่านี้คือ “แนวทางความปลอดภัยการจัดกิจกรรม” ที่จะ “ต้องมี” และก็ “ต้องทำ” ด้วย ไม่ว่าจะกับเด็กเล็ก-เด็กโต…

“กิจกรรมเข้าค่าย” …ว่ากันว่ามีประโยชน์

เช่นนั้น…ก็ “ต้องใส่ใจป้องกันเกิดโทษ”

ต้องเช่นนี้… “จึงจะหยุดการสูญเสีย!!”.