คนไทยน่าจะมีการติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาสูงถึงปีละ 88,000 ราย มีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาราว 38,000 รายต่อปี!! และหากคิดเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจก็จะสูงถึงราว 4.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งกับตัวเลขที่สูงลิ่ว ทั้งในแง่จำนวนผู้ติดเชื้อดื้อยา ผู้เสียชีวิต และมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูญเสียไปจากปัญหาการดื้อยาที่เกิดขึ้น…

สถานการณ์ปัญหานี้จำเป็นต้องเร่งแก้

สกัดกั้นมิให้ความสูญเสียยิ่งเพิ่มขึ้นอีก

“ต้องลดจำนวนการดื้อยา” ในคนไทย!!

ทั้งนี้ วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลเกี่ยวกับ “แนวทางแก้ปัญหาการดื้อยาต้านเชื้อจุลชีพ” ที่มีความคืบหน้าน่าสนใจ โดยมีโครงการศึกษาปัญหาการดื้อยาโดยนักวิชาการไทย ที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นบทความใน Lancet วารสารวิชาการระดับโลก ซึ่งในบทความดังกล่าวมีการนำเสนอมุมมอง-ให้มุมมองเกี่ยวกับความท้าทายที่เกิดขึ้นกับ “ห่วงโซ่การใช้ยา” ตั้งแต่ผู้ใช้ยา ผู้จ่ายยาหรือขายยา และบุคลากรด้านสาธารณสุข พร้อมกับมี “ข้อเสนอแนะ” ให้ใช้วิธี “ปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ยาปฏิชีวนะ” เพื่อให้ยากลุ่มนี้ “แตกต่างจากยาชนิดอื่น” โดยมีจุดมุ่งหมายก็คือเพื่อ “ลดปัญหาการดื้อยา”

นี่เป็นข้อเสนอแนะที่ได้รับความสนใจ

แวดวงวิชาการนานาชาติสนใจไม่น้อย

และเกี่ยวกับแนวทางดังกล่าว กับข้อเสนอให้นำเรื่องของการ “เปลี่ยนรูปลักษณ์ยา” เพื่อ “แก้ปัญหาการดื้อยา” นั้น เรื่องนี้ทาง รศ.ดร.สุรีย์พร พันพึ่ง นักวิชการ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการให้ข้อมูลไว้ว่า… สัญลักษณ์ที่ปรากฏบนเม็ดยา กล่องยา และคำอธิบายการใช้ยาที่ชัดเจน มีความสำคัญต่อสวัสดิภาพของผู้ใช้ยา แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยมีการศึกษาใด ๆ ที่เสนอเกี่ยวกับการ “ระบุรูปลักษณ์เฉพาะ” เพื่อให้เกิดการ “ใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผล” ด้วยเหตุนี้จึงเกิด “โครงการวิจัยการประเมินการระบุรูปลักษณ์ของยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน” ขึ้นมา เพื่อ…

หาแนวทางการ “ใช้ยาอย่างเหมาะสม”

เน้นที่ประเทศที่รายได้ต่ำถึงปานกลาง

ทาง รศ.ดร.สุรีย์พร ได้ให้ข้อมูลของโครงการดังกล่าวไว้ว่า… ได้ทำการศึกษาในพื้นที่ 6 ประเทศกำลังพัฒนา โดยแบ่งตามระดับรายได้ของประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ โมซัมบิก กานา เวียดนาม แอฟริกาใต้ และไทย ระหว่าง พ.ศ. 2559 ถึง 2566 ภายใต้การสนับสนุนจาก The Wellcome Trust ประเทศอังกฤษ โดยมี Prof.Dr.Heiman Wertheim จากศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัย Radboud ประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นนักวิจัยหลัก ซึ่งผลศึกษาพบว่า… ยังไม่เคยมีประเทศใดในโลกที่จัดทำสัญลักษณ์พิเศษบนซองยาเพื่อระบุว่าเป็นยาปฏิชีวนะที่พึงใช้ด้วยความระมัดระวัง!! …นี่ถือเป็นข้อค้นพบที่น่าตกใจ

ข้อมูลบนยานั้นสำคัญกับสวัสดิภาพผู้ใช้ยา

แต่ทว่ากลับไม่มีการให้ความสำคัญเรื่องนี้!!

ทางนักวิชาการไทยที่ได้ออกมาให้ข้อมูลเรื่องนี้ยังเผยประเด็นสำคัญที่โครงการวิจัยการประเมินการระบุรูปลักษณ์ของยาปฏิชีวนะชนิดรับประทานค้นพบเอาไว้อีกว่า… ปัจจุบันมีการเรียกชื่อเพื่ออ้างถึงยาปฏิชีวนะหลากหลาย โดยชื่อเหล่านี้มักเกี่ยวข้องกับรูปลักษณ์ภายนอกของยา ซึ่งส่งผลต่อการสื่อสารระหว่างผู้ใช้ยาและผู้ดูแลสุขภาพ ทั้งการจ่ายยาและการใช้ยาที่เหมาะสม โดยก่อนเริ่มลงพื้นที่เพื่อศึกษานั้นโครงการได้จัดเวทีหารือกับผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อเป็นแนวทางในการ วิจัยเกี่ยวกับ “การใช้รูปลักษณ์ภายนอกเป็นเครื่องมือ” ให้เกิดการรับรู้ และเกิดการใช้ยาอย่างมีความรับผิดชอบ

ทั้งนี้ ผลศึกษาได้พบเสียงสะท้อน ดังนี้…

ประเด็นที่หนึ่ง ผู้ใช้ยา ผู้จ่ายยา ต่างเห็นด้วยที่จะมีการ ระบุสัญลักษณ์ลงบนยา เพราะ ทำให้จำได้ง่ายขึ้น รวมถึงช่วยให้ระบุหรือจำแนกยาปฏิชีวนะออกจากยากลุ่มอื่นได้รวดเร็วขึ้น, ประเด็นที่สอง ผู้จ่ายยา ผู้ใช้ยา เห็นด้วยที่จะ จำแนกยาปฏิชีวนะให้ชัดเจน เพราะถ้าผู้บริโภคมีความรู้เกี่ยวกับผลกระทบ กับเหตุผลในการใช้ ก็จะช่วยลดการใช้ยาปฏิชีวนะ และยังมี ประเด็นที่สาม คือผู้ใช้ยาระบุคล้ายกันว่าการสื่อสารที่ไม่ชัดเจนเกี่ยวกับการอักเสบและติดเชื้ออาจนำสู่การวินิจฉัยที่ผิดพลาด หรืออาจก่อให้เกิดการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่เหมาะสม ซึ่งก็เป็นสาเหตุ “เชื้อดื้อยา” …นี่ก็ข้อค้นพบจากการศึกษา “ปัญหาดื้อยา”

ประเทศไทยจำเป็นจะต้องเพิ่มการให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะเพิ่มขึ้น เพื่อให้เข้าใจเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างการอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย การอักเสบจากการติดเชื้ออื่น และการอักเสบจากการไม่ติดเชื้อ เพื่อให้เกิดการใช้ยาที่สมเหตุสมผล และเพื่อป้องกันการดื้อยา“ …นี่เป็น “สิ่งที่ไทยยังต้องเร่งทำ!!”…

เพราะ “เชื้อดื้อยา” นั้น “อันตรายมาก”

“ปัญหาดื้อยา” นี่ “ร้ายแรงระดับชีวิต”

มี “คนไทยเสียชีวิตไปจำนวนมาก!!”.