ซึ่งตำรวจเรียกแอดมินเพจเข้ารับทราบข้อหาชักชวนให้มีการแข่งรถ โดยข้อหานี้มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 10,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะร่วมสะท้อน… “ปัญหาแว้นในไทยยังแก้ไม่ตก!!!” ซ้ำทุกวันนี้มี “แว้นต่างชาติร่วมก่อปัญหา” ด้วย…

นี่ก็มีปุจฉา “เหตุใดแก้ปัญหานี้ไม่ได้?”

แม้จะแก้กฎหมายปรับแผนรับมือแล้ว

เกี่ยวกับการแก้ “ปัญหาแว้น” หรือ “ปัญหาการแข่งรถบนถนนสาธารณะ” นั้น เมื่อปี 2565 ไทยมีการนำกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับปัญหานี้มาปรับปรุงแก้ไขใหม่ อย่าง พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2565 ที่ถือเป็น พ.ร.บ.จราจรทางบกฉบับที่ 13 ของไทยแล้ว นำมาบังคับใช้เพื่อ กวดขัน-เข้มงวด กรณี แข่งรถบนถนนสาธารณะ ซึ่งรวมถึง ห้ามไม่ให้มีการชักชวน เพื่อให้มีการแข่งรถบนถนนสาธารณะ ตลอดจนมีเนื้อหาในกฎหมายที่เข้มงวดขึ้นเกี่ยวกับการ ห้ามดัดแปลงสภาพรถนำมาใช้แข่งบนถนนสาธารณะ โดยหลักใหญ่ใจความก็คือ เข้มกฎหมายเพื่อลดปัญหาจากกรณีเด็กแว้น แต่…ผ่านมา 1 ปีกว่าแล้ว…

สังคมไทยก็คงทราบคำตอบกันดี

กฎหมายนี้ใช้สัมฤทธิผลแค่ไหน??

ทั้งนี้ กับแนวทาง “แก้ปัญหาแว้น” จากนี้…ก็คงต้องตามดูกันไปว่าจะมีทิศทางใหม่ ๆ หรือไม่? จะมีการปรับแผนใหม่ในการรับมือกับปัญหานี้หรือไม่? อย่างไรก็ตาม วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ขอพลิกแฟ้มนำข้อมูลที่เกี่ยวกับ “การวิจัยปัญหาแว้น” ในส่วนที่เกี่ยวกับ
“เด็กวัยรุ่น” หรือ “เด็กแว้น” มาสะท้อนให้พิจารณากันอีกโดยสังเขป ซึ่งเป็นข้อมูลงานวิจัยหัวข้อ “แนวทางการจัดการความรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามเด็กแว้น” โดย ดร.สุรีย์พร นิพิฐวิทยา และคณะ ซึ่งติดตาม “ศึกษาวิจัยเด็กแว้นในพื้นที่กรุงเทพฯ” เพื่อให้เกิดการทำความเข้าใจในปัญหานี้…

และได้ฉายภาพให้เห็น “บริบทเด็กแว้น”

ข้อมูลโดยสังเขปจากผลศึกษาวิจัย มีการระบุไว้ว่า… การรวมกลุ่มเพื่อแข่งรถ มักจะแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ… รวมกลุ่ม แบบบังเอิญ เช่น ที่ร้านแต่งรถ ร้านเกม ร้านสนุกเกอร์ หรือในชุมชน และรวมกลุ่ม แบบไม่บังเอิญ ที่จะมีการ หาข้อมูลการรวมกลุ่มจากเว็บไซต์ เว็บเพจ โซเชียลมีเดีย ที่ใช้เป็นช่องทางแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน ขณะที่วัน-เวลาแข่งรถนั้นกลุ่มเด็กแว้นส่วนใหญ่ที่เป็นผู้ให้ข้อมูล ระบุไว้ว่า… จะมีการแบ่งวัน-เวลาชัดเจนระหว่างรถยนต์กับรถจักรยานยนต์ โดย ยุคนี้เด็กแว้นมีทั้งชายและหญิง ส่วนช่วงอายุเด็กแว้น ในปัจจุบัน มีตั้งแต่อายุ 13-14 ปี ซึ่ง…

เด็กแว้นมีแนวโน้มอายุน้อยลงเรื่อย ๆ

ก็น่าคิดว่า… “อะไรคือปัจจัยที่โน้มน้าว?”

ข้อมูลผลการศึกษาวิจัยดังกล่าว ยังมีส่วนที่ระบุไว้ว่า… จากคำบอกเล่าของเด็กแว้นได้ให้ข้อมูลถึง วิธีหลบหนีการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยจำแนกได้ 2 แบบ คือ… จากการ สืบหาข่าวและข้อมูลก่อนการปิดล้อมจับกุม โดยใช้คนรู้จักหรือลูกหลานเจ้าหน้าที่เป็นคนคอยให้ข่าวว่าวันใดจะมีการสกัดจับกุม หรือจะ “ปิดกล่อง” ที่ใด โดยจะส่งข่าวกันทางโซเชียลมีเดีย หรือบนเพจของเด็กแว้น ซึ่งมีทุกจังหวัด โดยจะบอกรายละเอียดกันแบบ real time และอีกแบบ… จากการ ส่งสัญญาณโดยกลุ่มแว้นกลุ่ม ต่าง ๆ ในพื้นที่ โดย “คนที่อยู่ต้นสาย” จะคอยสังเกตความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เมื่อเห็นอะไรผิดสังเกตก็จะ “ใช้แตรรถส่งสัญญาณ” เพื่อให้แก๊งแว้นสามารถหลบหนีไปได้ทันที

ทั้งนี้ งานวิจัยโดย ดร.สุรีย์พร นิพิฐวิทยา และคณะ ยังได้ชี้ถึง “ปัญหาแว้น” ไว้ว่า… “เป็นปัญหาเรื้อรังในสังคมไทย!!” ซึ่งที่ผ่านมาแม้พยายามป้องกัน-ปราบปราม แต่การจะจับกุมดำเนินคดีแต่ละครั้งก็ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่าย ๆ ซึ่งผลศึกษา พบอุปสรรค ข้อจำกัด ที่อาจเป็นปัจจัยทำให้การแก้ปัญหานี้ทำได้ไม่ดีนัก จึงนำสู่ “ข้อเสนอแนะ” ดังนี้…

ข้อเสนอแนะด้านนโยบาย ควรจับกุมต่อเนื่องสม่ำเสมอ, ควรสนับสนุนอุปกรณ์ให้เจ้าหน้าที่อย่างเพียงพอ, ควรส่งเสริมการนำเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้, ควรมีขั้นตอนปฏิบัติที่ชัดเจน เหมือนการปราบจลาจล, ควรตั้งงบประมาณด้านการป้องกันความเสี่ยงให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติ, ฝึกทบทวนยุทธวิธีอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้สอดคล้องสถานการณ์ปัจจุบันยิ่งขึ้น รวมถึง ควรมีหน่วยพิเศษเข้ามาจัดการปัญหาโดยตรง และ ควรผลักดันปัญหาเด็กแว้นเป็นวาระแห่งชาติ

ข้อเสนอแนะด้านการปฏิบัติ ควรจัดทำคู่มือที่ระบุขั้นตอนชัดเจนจากเบาไปหาหนัก, ควรดำเนินมาตรการเชิงรุก เช่น จัดชุดเจ้าหน้าที่ออกตรวจพื้นที่เสี่ยง, ควรกำหนดให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมแก้ปัญหา เช่น กรรมาธิการสิทธิ นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา อัยการ ศาล …เหล่านี้เป็น “ข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาแว้น” จากการศึกษาวิจัย …ทั้งนี้ “ไทยก็มีการปรับปรุงกฎหมายปราบแว้น” นานแล้ว…แต่วันนี้สังคมก็ยังตั้งคำถาม… “เหตุใด แว้นยังไม่หมดไปดังที่คาด?”…

เกิดคำถาม… “ไฉนแว้นในไทยดูอมตะ?”

กฎหมายเข้มก็ปราบได้ไม่เข้ม “ทำไม?”

หรือ “น่าจะต้องเพิ่มเติมอะไร ๆ อีก?”.