ตอนนี้หน่วยงานด้านการเกษตร ของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก กำลังดำเนินการรวบรวมข้อมูล เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดระบบอาหารแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็นเอฟเอสเอส (United Nations Food Systems Summit : UNFSS) ซึ่งจะมีขึ้นเป็นครั้งแรก ครั้งที่ 1 ในเดือน ก.ย. 2564 ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อช่วยผลักดัน การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ เอสดีจี (Sustainable Development Goals : SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ

ในส่วนของเวียดนาม ประเทศประชากร 98.2 ล้านคน จากรายงานของหนังสือพิมพ์เวียดนาม นิวส์ กลุ่มที่ปรึกษาการวิจัยเกษตรกรรมระหว่างประเทศ หรือ ซีจีไอเออาร์ (The Consultative Group for International Agricultural Research : CGIAR) เรียกร้องให้รัฐบาลฮานอยปรับเปลี่ยน ระบบอาหารเกษตรของประเทศ ซึ่งจะช่วยให้สามารถบรรลุเป้าหมาย เอสดีจี ของยูเอ็น ได้จำนวนมาก

ซีจีไอเออาร์ เป็นหุ้นส่วนโลก การรวมตัวกันของหลายองค์กรระหว่างประเทศ ที่เกี่ยวพันกับการวิจัย เพื่อความมั่นคงด้านอาหาร ของประชากรโลกในอนาคต

ระบบอาหารของเวียดนาม มีความหลากหลาย และกำลังเผชิญกับความท้าทายจำนวนมาก การทำนายแนวโน้มผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งสถานการณ์จริงที่กำลังเผชิญอยู่ ในระยะหลายปีล่าสุด แสดงให้เห็นว่า เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนขึ้น มากที่สุด

ความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการ ไม่ได้เอื้อประโยชน์เพียงแค่ประชากรเวียดนามเกือบ 100 ล้านคน แต่ยังมีส่วนรับประกัน ความมั่นคงทางด้านอาหารของโลกโดยรวมด้วย โดยเฉพาะในช่วงที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับพัฒนาการอันซับซ้อน จากการระบาดของไวรัสโควิด-19

ปัจจุบัน 10 ใน 15 องค์กรระหว่างประเทศ ที่รวมตัวกันเป็น ซีจีไอเออาร์ กำลังปฏิบัติงานอยู่ในเวียดนาม องค์กรเหล่านี้ รวมถึง Alliance of Bioversity International and CIAT, International Potato Center (CIP), World Agroforestry (ICRAF), International Livestock Research Institute (ILRI), WorldFish, และ International Rice Research Institute (IRRI)

ระหว่างการประชุมสัมมนา เมื่อสัปดาห์ก่อน ด๋าว เถอ แองห์ รองประธานสถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรเวียดนาม กล่าวว่า การวิจัยของ ซีจีไอเออาร์ มีส่วนช่วยในการปรับปรุง ความยั่งยืนของระบบอาหารเวียดนาม ด้วยการใช้วิธีแบบหลากหลายสาขาวิชา และแบบบูรณาการ

ส่วน ฌ็อง บอลลี ผอ. เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิกของ ซีจีไอเออาร์ กล่าวย้ำความสำคัญของการปรับเปลี่ยนระบบอาหารเกษตรในภูมิภาคอาเซียน ให้ดีขึ้นทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ ความยั่งยืนทางสังคม และมีความยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศ

นายเล มิญ ฮึง รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทเวียดนาม กล่าวว่า เวียดนามพร้อมที่จะร่วมสร้าง ระบบความปลอดภัยด้านอาหารโลก ด้วยการพัฒนาสู่ความเป็นประเทศผู้จัดส่งอาหาร ที่มีความรับผิดชอบ โปร่งใสและยั่งยืน รัฐบาลฮานอยมีแผนริเริ่มสำคัญ 3 ข้อ ที่จะใช้ร่วมมือกับหุ้นส่วนระหว่างประเทศ เพื่อปรับปรุงการปรับเปลี่ยน ระบบอาหารในเอเชียและทั่วโลก โดยแผนริเริ่มนี้ซึ่งเวียดนามจะนำเสนอต่อที่ประชุม UNFSS ในเดือน ก.ย.ที่จะถึง ประกอบด้วย

  1. เวียดนามต้องการส่งเสริมการเชื่อมต่อ ระหว่างเครือข่ายนวัตกรรมในประเทศและทั่วโลก โดยเวียดนามหวังจะกลายเป็นประเทศศูนย์กลางนวัตกรรมอาการของเอเชีย
  2. เวียดนามจะเสริมศักยภาพเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อพัฒนาห่วงโซ่การเกษตรอัจฉริยะ ที่มีความยั่งยืนและสามารถปรับตัวได้ดีกับปัญหาเกิดใหม่ รัฐบาลฮานอยมีแผนทำให้การปรับเปลี่ยนดิจิทัล เป็นภารกิจสำคัญในอุตสาหกรรมการเกษตร เกี่ยวพันกับภาคธุรกิจและเกษตรกร เพื่อใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ในการผลิตและบริการจัดส่งสินค้าการเกษตร
  3. เวียดนามมีเป้าหมายพัฒนาการผลิตทางการเกษตร ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเน้นการเชื่อมต่อระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค เป็นข้อกำหนดสำคัญ สำหรับความมั่นคงด้านอาหาร.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES