ทั้งนี้ จากเหตุที่เกิดขึ้นก็ก่อเกิดปุจฉาจากสังคมที่หันมาตั้งคำถามอีกถึง “แนวทางจัดการปัญหา??” ซึ่งที่ผ่านมาแม้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาแอ็กชันขึงขังในการแก้ปัญหาดังกล่าวนี้ แต่ครั้นเวลาผ่านไปกระแสเรื่องนี้ก็ดูเหมือนจะค่อย ๆ แผ่วลง??…

จนเมื่อมีเหตุร้ายเกิดอีกก็จึงขึงขังอีก

เป็นเช่นนี้มานานหลายยุคหลายสมัย

“ปุจฉา” คือ…สรุป “แก้ได้?-แก้ไม่ได้?”

จากเหตุร้ายที่ครึกโครมล่าสุดนั้น…ก็คงต้องตามดูกันไปว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีแนวทางอะไรใหม่ ๆ ในการแก้ไขปัญหานี้หรือไม่?? อย่างไรก็ตาม ถ้าจะพิจารณากันผ่าน “มุมวิชาการ-มุมวิจัย” แล้วล่ะก็…ปัญหานี้ได้มีการศึกษาวิจัยไว้ไม่น้อย…และก็ตั้งนานแล้ว มีการศึกษาวิจัย “ปัจจัย-แรงกระตุ้น” ที่ทำให้ “วัยเรียนยกพวกตีกัน” มานานแล้ว ซึ่งที่น่าฉงนและน่าคิดไม่น้อย นั่นก็คือ…เคยมีการใช้ผลศึกษาทางวิชาการเพื่อเป็นข้อมูลในการแก้ปัญหานี้มากน้อยแค่ไหน?? ซึ่งการศึกษาวิจัยหลาย ๆ ชิ้นนั้นนอกจากจะมีผลการศึกษาและวิเคราะห์แล้ว ก็ยัง “มีข้อเสนอแนะ” หลาย ๆ ประการที่น่าสนใจ…

รวมถึงการ “ลดปัจจัย-ลดแรงกระตุ้น”…

ที่น่าจะ “เป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหา”

ทั้งนี้ หนึ่งในงานศึกษาวิจัยกรณีปัญหา “วัยเรียนก่อความรุนแรงกับวัยเรียนด้วยกัน” ที่น่าสนใจ ที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลในวันนี้โดยสังเขป ก็คืองานศึกษาวิจัยที่มีหัวข้อว่า… “แนวนโยบายการแก้ไขพันธนาการแห่งความขัดแย้งและความรุนแรงของนักศึกษาในสถาบันการศึกษาระดับอาชีวะ” ที่จัดทำไว้โดย อภิญญา ดิสสะมาน ในฐานะนักศึกษา หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์ สาขานโยบายสาธารณะและการจัดการภาครัฐ ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ผลศึกษานี้มีการตีพิมพ์ในวารสารศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ปีที่ 17 ฉบับที่ 1 มกราคม-มีนาคม 2558 หรือผ่านมาเกือบ 10 ปีแล้ว แต่ถึงวันนี้หลักใหญ่ใจความนั้นก็ยังน่าสนใจ…

ฉายภาพ “ความรุนแรง” ในกรณีนี้…

ปัญหานี้ “มีมานาน…และก็รุนแรงขึ้น!!”

ทางผู้ศึกษาวิจัยหัวข้อดังกล่าวได้ระบุถึงวัตถุประสงค์การศึกษาเรื่องนี้ไว้ว่า… ต้องการที่จะนําเสนอแนวนโยบายการแก้ไข “ปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงของนักศึกษาในสถาบันการศึกษาระดับอาชีวะ” จากการที่เหตุลักษณะนี้มีแนวโน้ม “ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น” มีแนวโน้ม “เกิดขึ้นในที่สาธารณะบ่อยขึ้น” เช่น ห้างสรรพสินค้า ป้ายรถประจําทาง บนรถประจําทาง เวทีคอนเสิร์ต ตลาด ฯลฯ จน ทำให้ประชาชนทั่วไปได้รับบาดเจ็บ หรือถึงขั้นเสียชีวิต เพราะ “ถูกลูกหลง”

กับ “สาเหตุ” การเกิดเหตุเช่นนี้นั้น ในงานศึกษาวิจัยนี้มีการอ้างอิงผลการศึกษาของ กองวิจัย สำนักยุทธศาสตร์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อฉายภาพ “ปัจจัยการก่อเหตุ” จากที่ได้มีการศึกษาไว้ตั้งแต่ปี 2555 โดยพบว่า… สาเหตุที่ทำให้นักศึกษาต่างสถาบันทะเลาะวิวาทกันนั้น มักเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ อาทิ ความต้องการแก้แค้นคู่กรณี, การขาดความยับยั้งชั่งใจ และความคึกคะนอง, ต้องการเรียกร้องความสนใจ, อยากเป็นที่ยอมรับของกลุ่ม, เกิดจากรุ่นพี่ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม รวมถึง การเติบโตในครอบครัวแตกแยก ในขณะที่ มีอาจารย์ฝ่ายปกครองไม่เพียงพอต่อการควบคุม

เหล่านี้เป็น “ปัจจัยสำคัญ” ที่ถูกระบุไว้

ที่ “นำสู่กรณีทะเลาะวิวาทต่างสถาบัน”

ทั้งนี้ นอกจากประเด็นสาเหตุ ปัจจัย ที่มีการอ้างอิง-ฉายภาพ งานวิจัยที่ระบุข้างต้นได้จัดทำ “ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อแก้ปัญหา” ไว้ ผ่านแนวทางต่าง ๆ ดังนี้คือ… 1.สร้างความร่วมมือสมานฉันท์ระหว่างสถาบันการศึกษาระดับอาชีวะ ผ่านทางการส่งเสริมกิจกรรมความร่วมมือด้านวิชาการ รวมถึงการ ตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยเพื่อลดประเด็นความขัดแย้ง ระหว่างต่างสถาบัน 2.ปรับปรุงการเรียนการสอนของสถาบันการศึกษา โดย ปัญหาการทะเลาะวิวาทนั้นเกิดขึ้นกับสถาบันเพียงไม่กี่แห่งที่สะท้อนว่าระบบการเรียนการสอนอาจมีช่องว่าง? ทำให้ นักศึกษามีเวลามากพอในการออกมาก่อเหตุ?

3.ปฏิรูปอาชีวศึกษาทั้งระบบ โดยควร เน้นการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐและผู้ประกอบการ ให้เชื่อมโยงกันมากขึ้น 4.สร้างค่านิยมของนักศึกษาอาชีวะขึ้นมาใหม่ เพื่อให้เห็นว่า การใช้ความรุนแรงเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ และ 5.ตั้งศูนย์รวมข้อมูลสถานศึกษากลุ่มเสี่ยง เพื่อเป็นศูนย์เฝ้าระวัง-ศูนย์กลางเครือข่ายแจ้งข่าว ติดตามความเคลื่อนไหวนักศึกษาที่มีความเสี่ยงก่อเหตุทะเลาะวิวาท รวมถึง 6.จัดทำระบบเฝ้าระวังทั้งในและนอกสถานศึกษา ภายใต้ความร่วมมือของภาคส่วนต่าง ๆ อาทิ เจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานศึกษาอื่นที่ใกล้เคียง และชุมชน …เหล่านี้เป็น “ข้อเสนอ” ที่เคยมีงานวิจัยเสนอไว้

“น่าสนใจ” …ถ้ามีการทำจริงจัง-ต่อเนื่อง

เพื่อ… “แก้ปัญหาความรุนแรงวัยเรียน”

“ปัญหาเลวร้ายที่เกิดในไทยซ้ำซาก!!”.