เสียงเกษตรกรชาวนา เมืองซากะ ประเทศญี่ปุ่น บอกเล่ากับคณะจากไทย ที่รวมถึง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” โดยเป็นการบอกเล่าถึง “แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร” ที่เป็นอีกหนึ่ง “ตัวช่วยที่ดีของอาชีพเกษตร” จากที่ก่อนหน้านี้ชาวนาที่นี่ก็ประสบปัญหาคล้ายชาวนาไทย คือ… “ทำนาแล้วไม่เหลือรายได้เท่าไหร่!!” ซึ่งชาวนาญี่ปุ่นที่นี่ก็ถือเป็น “กรณีศึกษา”…

เป็น “กรณีศึกษาสำหรับเกษตรกรไทย”

กรณี “ซัคเซสสร้างรายได้เสริมเพิ่มเติม”

“กรณีศึกษา” ดังกล่าวนี้…มีที่มาจากการที่เมื่อเร็ว ๆ นี้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นำโดย ฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ ธ.ก.ส. นำคณะเกษตรกรหัวขบวนไปศึกษาดูงานการทำนาแบบขั้นบันไดที่ Hamanoura Rice Terraces เมืองซากะ ทั้งวิธี-ขั้นตอนทำนาแบบญี่ปุ่น ดูการบริหารต้นทุนการผลิต แนวคิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์ รวมถึง “การยกระดับพื้นที่เกษตรให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว” จนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ เพื่อให้เกษตรกรหัวขบวนนำไอเดียที่ได้จากการดูงานกลับมาปรับใช้ในการพัฒนาการทำเกษตรของตนเอง และขยายผลสู่ชุมชน

ทางเกษตรกรผู้ปลูกข้าวชาวญี่ปุ่นที่ทำนาแบบขั้นบันได เล่าว่า… ที่นาขั้นบันไดที่ Hamanoura Rice Terraces มีมาประมาณ 200 ปี แล้ว เกษตรกรที่นี่สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น ซึ่งต่างรักและหวงแหนที่นาตรงนี้ มีการดูแลเป็นอย่างดีมาจนถึงปัจจุบัน โดย รัฐบาลก็ได้เข้าช่วยเหลือสนับสนุน ด้วย ซึ่งที่มีการสนับสนุนนี้ก็เพื่อให้ชาวนาที่นี่อนุรักษ์พื้นที่ตรงนี้ไว้ เพราะถ้าเกษตรกรทำนาต่อไปไม่ไหว แล้วไม่ทำ พื้นที่แบบนี้ก็จะหายไป โดยนาที่นี่มีพื้นที่ประมาณ 10.5 เฮกเตอร์ หรือประมาณ 65 ไร่

การทำนาที่นี่ ร่วมกันทำเป็นกลุ่มสหกรณ์ มีสมาชิก 9 คน โดยทำนาปีละ 1 รอบ เดือน เม.ย.-ส.ค. ซึ่งการปลูก 1 ไร่เก็บเกี่ยวข้าวได้ประมาณ 678 กิโลกรัม ต้นทุนประมาณ 130,000 เยน/ไร่ (ประมาณ 32,500 บาท/ไร่) ขายข้าวได้ประมาณ 160,000 เยน/ไร่ (ประมาณ 40,000 บาท/ไร่) เหลือกำไรประมาณ 30,000 เยน/ไร่ (ประมาณ 7,500 บาท/ไร่) โดยราคาข้าวที่สีแล้วอยู่ที่ 600-800 เยน/กิโลกรัม ซึ่งชาวนาญี่ปุ่นที่นี่ก็ประสบปัญหาทำนาแล้วไม่เหลือกำไรสักเท่าไหร่…คล้าย ๆ ชาวนาไทย

“เมื่อก่อนชาวนาทำนาอย่างเดียวอยู่ได้ แต่ในปัจจุบันต้นทุนสูงขึ้น และค่าครองชีพก็สูงขึ้น ทำให้การทำนาอย่างเดียวอยู่ไม่ได้ ต้องทำการเกษตรอื่น ๆ เสริม ปลูกผลไม้ และเลี้ยงวัว ควบคู่ไปด้วย ซึ่งที่ยังทำนากันอยู่ก็เพราะต้องการที่จะอนุรักษ์รักษาพื้นที่นาที่นี่เอาไว้” เกษตรกรญี่ปุ่นที่เมืองซากะที่ทำ “นาขั้นบันได” ระบุ พร้อมทั้งบอกว่า…

“นอกจากนี้ ได้มีการพัฒนาในเรื่องการท่องเที่ยวชุมชนเข้ามาเสริมอีกส่วนด้วย โดยเริ่มจากมาคิดกันว่าจะต้องทำอย่างไรที่จะให้มีนักท่องเที่ยวมาดูมาชมที่นี่ ซึ่งบรรยากาศและวิวทิวทัศน์ของที่นาขั้นบันไดเมืองซากะของเรานั้นก็มีความสวยงาม จึงได้พยายาม ยกระดับสถานที่ พื้นที่นาขั้นบันได ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน มีการผลักดัน โปรโมต เพื่อจะดึงนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเที่ยวในชุมชนแห่งนี้” …เป็นอีกส่วนจากการแปลความคำบอกเล่า

ฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ ... ระบุว่า… สิ่งหนึ่งที่เห็นชัดเจนใน ภาคเกษตรของญี่ปุ่น คือ…ไม่ใช่ปลูกไปเรื่อย แต่ เริ่มจากวางแผนว่าจะขายสินค้าให้ใคร ไปจนถึงเรื่องการ พัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้ตอบสนองความต้องการผู้บริโภค ได้…ซึ่งคล้ายกับที่ ... กำลังส่งเสริม…“Local consumption” นั่นคือ… การผลิตเพื่อบริโภคในท้องถิ่นในเมืองนั้น ๆ และ…ญี่ปุ่นมีการ ส่งเสริมเรื่องเกษตรท่องเที่ยว ด้วย เช่น นาแบบขั้นบันไดที่ Hamanoura Rice Terraces ซึ่ง ธ.ก.ส. อยากให้เกษตรกรหัวขบวนได้ดูวิธีคิด วิธีวางแผน วิธีการผลิต และวิธีเติมแหล่งรายได้ต่าง ๆ เพื่อปรับใช้ต่อยอดกับภาคเกษตรไทย

“เกษตรกรหัวขบวนที่เราพาศึกษาดูงาน น่าจะสามารถนำไอเดียที่ได้ไปใช้พัฒนาทั้งตนเอง และขยายผลสู่ชุมชนด้วย ซึ่ง ธ.ก.ส. พร้อมสนับสนุนเงินทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำให้เกษตรกรใช้ต่อยอด เพื่อให้มีรายได้อย่างยั่งยืน” …ผจก. ธ.ก.ส. ระบุ และว่า… “เกษตรท่องเที่ยวญี่ปุ่น” อย่างนาขั้นบันได มีการส่งเสริม การวางแผน การจัดการ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวได้อย่างเต็มรูปแบบเป็นระบบ และ ในชุมชนหมู่บ้านมีการจัดสรรกันว่าบ้านไหนจะผลิตอะไรขาย ไม่ขายแข่งกันหรือขายตัดราคากันเอง ซึ่งทำให้พัฒนาไปด้วยกัน สามารถดึงรายได้ได้ดี ทำให้ทั้งชุมชนและเกษตรกรเข้มแข็ง

ทั้งนี้ ในประเทศไทย…แม้การส่งเสริมเรื่องเกษตรท่องเที่ยวมีข้อจำกัดค่อนข้างเยอะ แต่ สิ่งที่ ธ.ก.ส. พร้อมส่งเสริมและให้การสนับสนุนคือเรื่อง “สินเชื่อ” ซึ่งเมื่อเกษตรกรหัวขบวนได้เห็นโมเดลภาคเกษตรญี่ปุ่นหลากหลายมิติ ก็ทำให้เห็นว่าจากนี้ไป การพัฒนาของภาคเกษตรไทยควรเป็นการพัฒนาแบบรวมกลุ่ม ที่สำคัญ ต้องมีการวางแผน เป็นแกนหลัก

“การรวมกลุ่ม ทำได้ผ่านสหกรณ์ หรือหน่วยงานพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ที่ ... พร้อมเข้าดูแล ช่วยกระตุ้นให้เกิดแนวคิดใหม่ ๆ ในการพัฒนา ซึ่งไม่เพียงส่งเสริมการผลิต แต่เริ่มตั้งแต่ช่วยเรื่องการวางแผน การออกแบบ การขาย โดยอาจจับมือมหาวิทยาลัยในพื้นที่ในการสร้างมูลค่าเพิ่ม แปรรูปผลิตภัณฑ์สินค้าการเกษตร ซึ่งจะช่วยยกระดับสินค้าเกษตรและเกษตรกรไทยมากขึ้น”…ผจก. ธ.ก.ส. ระบุ ซึ่งก็รวมถึง “ช่วยหนุนเกษตรท่องเที่ยว”

“น่าสนใจ” โดย “ใช่แค่กรณีศึกษาญี่ปุ่น”

“น่าลุ้น” กับ การส่งเสริมในไทย” ด้วย

“เชื่อว่าคนไทยจะหนุนเกษตรกรไทย”.