โดยพ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 มาตรา 107 ระบุ ห้ามผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ประเภท 2หรือประเภท 5 หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2 เพื่อเสพ

การมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท1ประเภท 2 หรือประเภท 5 หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2 ในปริมาณเล็กน้อยซึ่งไม่เกินปริมาณที่รมว.สาธารณสุข กำหนดในกฎกระทรวง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ

กลายเป็นโจทย์ที่ถูกพูดถึงกันมาก เพราะแม้กฎหมายหลักจะมีผลบังคับใช้เกือบ 2 ปีเต็ม แต่ที่ผ่านมายังไม่มีกฎกระทรวงกําหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. …. ของกระทรวงสาธารณสุขออกมาบังคับใช้ 

“ทีมข่าวอาชญากรรม” ไล่เรียงข้อเสนอปริมาณครอบครองที่ออกมาอย่างต่อเนื่องก่อนหน้านี้ โดยปริมาณที่ถูกพูดถึงแต่แรกคือ 15 หน่วยการใช้ หรือ “15 เม็ด”ขึ้นไป จึงเข้าข่ายเป็นผู้ค้า ต่ำกว่า 15 เม็ด ถือว่าครอบครองเพื่อเสพ

ก่อนที่ต้นปีที่ผ่านมานายอนุทิน  ชาญวีรกูล  รมว.สาธารณสุข ขณะนั้นจะเสนอแนวคิดแก้ไขร่างกฎกระทรวงให้ผู้ครอบครองยาบ้าเกิน 1 เม็ด” สันนิษฐานว่าเป็นผู้ขาย แต่สุดท้ายร่างกฎกระทรวงดังกล่าวก็ยังไม่ผ่านขั้นตอนออกมาบังคับใช้

กระทั่งเร็วๆนี้นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข คนปัจจุบัน เผยปริมาณแบ่งแยกการครอบครองระหว่างผู้เสพ และผู้ค้าควรกำหนดไม่เกินที่ 10 เม็ด” ซึ่งมีแนวโน้มจะเป็นที่ยุติและประกาศใช้ในเดือนธ.ค.

อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้มีการออกมาให้ข้อสังเกตถึงความเหมาะสมของกำหนดปริมาณดังกล่าว ซึ่งอาจมากไปหรือไม่สำหรับการครอบครองเพื่อเสพ และเสนอความเหมาะสมอยู่ที่“5 เม็ด”

หนึ่งในผู้มองความเหมาะสมปริมาณ5 เม็ด” คือ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผบ.ตร. ซึ่งระบุการกำหนดปริมาณ 5 เม็ด” เคยผ่านการหารือของศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศอ.ปส.ตร.) สมัยผบ.ตร.คนก่อน เหตุผลที่กำหนด “5 เม็ด” เพราะเป็นปริมาณที่ผู้ค้ารายย่อยไม่คุ้มค่า“ความเสี่ยง”ถูกดำเนินคดี

ขณะที่“10 เม็ด”เป็นปริมาณที่ผู้ค้ารายย่อยนิยมขายในชุมชน  เป็นเหตุให้เลี่ยงดำเนินคดีด้วยการสมัครใจบำบัด จนเกิดปัญหาแพร่ระบาด มีผู้ค้ารายย่อยเพิ่มขึ้น และอาจพัฒนาไปสู่การเป็นผู้ค้ารายใหญ่

เช่นเดียวกับ พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ  ผู้ช่วย ผบ.ตร. รักษาราชการแทนเลขาธิการ ป.ป.ส. เผยในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมาย การกำหนดปริมาณ10 เม็ด” อาจมีผลต่อจำนวนผู้ค้ารายย่อยที่มากขึ้น เพราะไม่เกรงกลัวกับการที่สามารถพกได้ถึง 10 เม็ด” ไม่ต้องรับโทษฐานครอบครองเพื่อจำหน่าย พร้อมแนะยึดหลักพฤติการณ์ที่แม้พกเพียง 1 เม็ด” แต่มีประวัติหรือพบว่าครอบครองเพื่อจำหน่ายมาตลอด จะไม่ใช่การครอบครองเพื่อเสพ

ที่ผ่านมาจากรายงานการจับกุมพบว่าผู้ใช้สารเสพติด 100 ราย มักเป็นผู้ค้าแล้ว 12 ราย การปรับเกณฑ์พกยาบ้าได้มากขึ้น จึงเป็นความเสี่ยงต่อการเพิ่มจำนวนผู้ค้ารายย่อย”

อย่างไรก็ตาม จากมติล่าสุดเมื่อวันที่ 3 พ.ย.ที่ผ่านมา  ปริมาณครอบครองเป็นเอกฉันท์ว่าไม่เกิน “5 เม็ด” ให้สันนิษฐานเป็นผู้เสพ ซึ่งหลังจากนี้ยังต้องติดตามว่าจะมีการปรับเปลี่ยนหลังกระบวนรับฟังความเห็นใดๆ ก่อนเสนอครม.อีกหรือไม่

ถึงวันนี้ต้องยอมรับว่าทิศทางการแก้ปัญหายาเสพติดของไทยเป็นไปตามทิศทางสากลคือ ใช้สาธารณสุขนำ ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย ประมวลกฎหมายยาเสพติดใหม่ที่บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 พ.ย.64  คือการพลิกโฉมที่ชัดเจนจากสาระสำคัญที่เน้นเอาผิดตัวการหลักจริงจัง และแยกผู้เสพออกไปบำบัดรักษา

จากข้อมูลผู้ต้องราชทัณฑ์คดีพ.ร.บ.ยาเสพติดทั่วประเทศ ณ วันที่ 1 พ.ย.66  มี 204,147 คน คิดเป็นร้อยละ 81 เมื่อเทียบกับผู้ต้องขังทั่วประเทศ ในจำนวนนี้เป็นนักโทษเด็ดขาด 166,309 คน ผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี 33,816 คดี เยาวชนที่ฝากขัง 2 คน ผู้ถูกกักกัน 18 คน และผู้ต้องกักขัง 4,002 คน

ทั้งนี้ เมื่อย้อนข้อมูลไปช่วงเวลาเดียวกันของปี 64 และปี 65 ที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดใหม่มีผลบังคับใช้ พบว่าปี 64 มีผู้ต้องขังคดียาเสพติดในเรือนจำ 232,500 คน ส่วนปี 65 มี 207,668 คน

แม้มีแนวโน้มลดลง แต่การที่ผู้ต้องขัง“เกินครึ่ง”ยังคงเป็นผู้กระทำผิดคดียาเสพติด การกำหนดปริมาณชี้โทษ หรือส่งบำบัด ย่อมถูก“โฟกัส”เป็นธรรมดา  เพราะจำนวนผู้ต้องขังสะท้อนผลลัพธ์รูปธรรมการแก้ปัญหาได้ชัดเจนที่สุด.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]