โครงการแลนด์บริจด์ (Landbridge) เมกะโปรเจกต์มูลค่าการลงทุนประมาณ 1 ล้านล้านบาท เป็นการพัฒนาท่าเรือขนส่งสินค้า-น้ำมัน เชื่อมอ่าวไทยที่ จ.ชุมพร และทะเลอันดามันทางด้าน จ.ระนอง จะมีโอกาสแจ้งเกิดหรือไม่? ทำแล้วคุ้มค่ากับการลงทุนหรือเปล่า? ตู้สินค้าที่เคยขนโดยเรือบรรทุกผ่านช่องแคบมะละกา ประมาณ 17% จะเปลี่ยนเส้นทางมาใช้บริการ “แลนด์บริดจ์” ซึ่งมีการศึกษากันไว้ในเบื้องต้นว่าโครงการดังกล่าวสามารถคืนทุนได้ภายใน 24 ปี

ทีมข่าว Special Report นั่งฟัง นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม อธิบายข้อมูลโครงการแลนด์บริดจ์ เพื่อเตรียมพร้อมไว้ให้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นำออกไปโรดโชว์กับนักลงทุนในช่วงการประชุมเอเปค ณ เมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 15-17 พ.ย.นี้

เปลี่ยนรูปแบบ “แลนด์บริดจ์” คุ้ม-ไม่คุ้ม!เรื่องของนักลงทุน

นายชยธรรม์กล่าวว่าตอนนี้เมื่อมีการพูดถึงโครงการแลนด์บริดจ์ เหมือนคนหลับตาคลำช้าง เพราะสาธารณะยังไม่เข้าใจว่าคืออะไร ทั้งที่แลนด์บิดจ์ไม่ใช่เรื่องใหม่ เนื่องจากรัฐบาลในอดีตมีการพูดคุยกันมาแล้ว 30-40 ปี คือ โครงการกระบี่-ขนอม โดยให้กรมเจ้าท่าสร้างท่าเรือ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)สร้างทางรถไฟ และกรมทางหลวงเป็นเจ้าภาพทำถนน มีการเวนคืนเขตทางไว้ 140 เมตร เพราะต้องมีท่อส่งน้ำมันด้วย แต่สุดท้ายท่าเรือไม่เกิด สาเหตุหลักคือขาดการบูรณาการกัน แต่ละหน่วยงานเข้าใจแต่ภารกิจของตัวเอง แต่ตอนนี้จะไปปัดฝุ่นโครงการกระบี่-ขนอม ก็ไม่ได้ เนื่องจากกระบี่กลายเป็นเมืองการท่องเที่ยวไปแล้ว

ต่อมาจึงย้ายตำแหน่งมาเป็นโครงการปากบารา จ.สตูล-ท่าเรือสงขลา โดยตีโจทย์เหมือนเดิมคือโยนให้กรมเจ้าท่าไปทำท่าเรือ แต่สุดท้ายถูกประชาชนในพื้นที่และเอ็นจีโอต่อต้านหนัก จึงต้องพับโครงการนี้ไปอีก

ล่าสุด 2 ปีที่แล้ว รัฐบาลได้ให้กระทรวงคมนาคมทำการศึกษา กระทรวงฯก็โยนมาให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ตอนนั้นตนเป็นผู้อำนวยการ สนข. จึงขออนุญาตว่าไม่ทำแบบเดิมอีก ไม่เอาโครงการอินฟราสตรัคเจอร์ ดิเวลลอปเมนท์อีกแล้วนะ เพราะถ้าทำแบบเดิมก็ล้มเหลวอีก! แต่ต้องตีโจทย์ออกมาก่อนว่าถ้าสร้างอินฟราสตรัคเจอร์แล้วใครจะมาใช้ ต้องเป็น “บิซิเนส โมเดล” ออกมาก่อน แล้วจึงค่อยมาออกแบบในรายละเอียด ซึ่งคนที่จะออกแบบต้องเป็น “นักลงทุน” ที่เขามองเห็นโอกาสและได้ประโยชน์ คุ้มค่ากับการลงทุน เราอย่าเพิ่งไปคิดกันว่าทำแล้วคุ้ม! หรือไม่คุ้ม! เพราะไม่ใช่หน้าที่

ทางเลือกใหม่ในภาวะช่องแคบมะละกาหนาแน่น-ถูกบล็อก!

ดังนั้นสิ่งสำคัญในตอนนี้ คือต้องไปบอกนักลงทุนให้เขาสนใจว่าโครงการแลนด์บริดจ์มีประโยชน์ ให้เขาหันมาดูว่าตรงนี้คือทางออกของปัญหาเส้นทางการขนส่งทางเรือของโลก แลนด์บริดจ์จะเกิดถ้าใครได้มาเห็นโลเคชั่นแล้วอยากจะมาใช้ทรัพย์สินของประเทศไทย ไม่ใช่โครงการสำหรับประเทศไทยเท่านั้น แต่จะเป็นเส้นทางการเดินเรือของโลก โดยเส้นทางการเดินเรือของโลกที่สำคัญตอนนี้คือช่องแคบมะละกา มีเรือบรรทุกตู้สินค้าผ่านจำนวนมากในแต่ละวัน และไปแวะจอดขนถ่ายสินค้า-เปลี่ยนเรือกันที่สิงคโปร์

รวมทั้งเรือขนส่งน้ำมันดิบ จากแหล่งผลิตในตะวันออกกลาง ประมาณ 17 ล้านบาเรล/วัน ถูกขนส่งผ่านช่องแคบมะละกา วันละ 12 ล้านบาร์เรล (ปี2550กว่าๆ) เพื่อส่งไปป้อนภาคอุตสาหกรรมการผลิตในจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ฮ่องกง เวียดนาม เมื่อผลิตสินค้าเสร็จ บางส่วนส่งออกไปทางฟิลิปปินส์-อเมริกา แต่สินค้าส่วนใหญ่ถูกขนย้อนกลับมาผ่านช่องแคบมะละกา เพื่อส่งไปขายในภูมิภาคเอเซียใต้ (อินเดีย-ปากีสถาน) ตะวันออกกลาง แอฟริกา ยุโรป ในขณะที่ประเทศไทยตั้งอยู่ตรงกลาง แต่ไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลย

ปัจจุบันช่องแคบมะละกามีความแออัดมาก ถ้าวิ่งเรือผ่านช่องแคบมะลา แล้วต้องไปรอเข้าท่าเรือที่สิงคโปร์ รวมกันใช้เวลาประมาณ 9 วัน และแนวโน้มในอนาคตมีสัญญาณว่าช่องแคบมะละกาจะไม่พอแล้ว แต่ถ้าเปลี่ยนมาใช้บริการแลนด์บริดจ์ที่ระนอง-ชุมพร จะย่นเวลาเหลือแค่ 5 วัน

อีกปัจจัยสำคัญที่มีการพูดถึงกันคือเรื่องการเมืองโลกระหว่าง 2 ขั้วอำนาจอเมริกา-จีน ถ้าช่องแคบมะละกาถูกบล็อก หรือมีปัญหาขึ้นมา จีนก็ต้องหาเส้นทางขนสินค้าผ่านทางแผ่นดิน ดังนั้นเราจึงเตรียมความพร้อมเรื่องข้อมูล เพื่อให้นายกรัฐมนตรีนำไปโรดโชว์กับนักลงทุนว่าแลนด์บริดจ์ที่ระนอง-ชุมพร มีความเหมาะสมด้วยระยะทางเชื่อมทะเลอันดามัน-อ่าวไทย ประมาณ 90 กิโลเมตร เท่านั้น สภาพพื้นที่เหมาะสม เนื่องจากมีชุมชนไม่มาก เป็นพื้นที่ป่า-ส.ป.ก. มีท่าเรือน้ำลึกทั้งสองฝั่ง แล้วเชื่อมด้วยทางรถไฟ-มอเตอร์เวย์-ท่อส่งน้ำมัน โดยแนวของโครงการคร่าวๆ วางไว้หมดแล้ว

“โรงกลั่น” ยังไม่มีในแผน-ขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาลในอนาคต

ส่วนที่ถามกันว่าจะมีโรงกลั่นน้ำมันด้วยหรือไม่ ตอบว่าตอนนี้ยังไม่มีในแผน เพราะยังไม่อยากเปิดประเด็นเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่เรื่องการตั้งโรงกลั่นน้ำมัน-โรงแยกก๊าซ ขึ้นอยู่กับนโยบายใหญ่ของรัฐบาลในอนาคต

“เราวางแนวคิดให้ตรงนี้เป็นซิงเกิลพอร์ต (ท่าเรือเดียว) ซิงเกิลโอเปอเรเตอร์ คือควบคุมจัดการคนเดียว ถ้าทำแบบยกตู้คอนเทเนอร์ครั้งหนึ่ง แล้วชาร์จทีหนึ่ง แบบนั้นไม่ไหวหรอก ดังนั้นโจทย์ใหญ่ของแลนด์บริดจ์มีอยู่แค่ 2 เรื่อง คือ 1.ย่นระยะเวลาการเดินทางผ่านช่องแคบมะละกา 2.ต้นทุนค่าขนส่งถูกลง เราต้องตีโจทย์ตรงนี้ให้เป็นข้อมูลที่จับต้องได้ให้นายกฯเศรษฐา ทวีสิน นำออกไปโรดโชว์ เพื่อเป็นทางเลือก-ทางออก กับสายการเดินเรือว่าถ้าถูกบล็อกที่ช่องแคบมะละกา 1 สัปดาห์ คุณจะทำอย่างไร ตรงนี้นักลงทุนสามารถมาออกแบบลงรายละเอียดเองว่าต้องการแบบไหน ด้วยเทคโนโลยีอะไร เพื่อประหยัดต้นทุนลงไปได้อีก”

ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวต่อไปว่าเรากำลังทำสิ่งที่ยังไม่เคยมีในโลก โดยให้นึกภาพเรือเข้าเทียบท่าที่ระนอง จากนั้นยกตู้สินค้าขึ้นรถไฟแล้วลากออกไปลงเรือที่ชุมพร ด้วยระบบออโตเมชั่น ไม่ต้องใช้คน เหมือนท่าเรือปูซาน เกาหลีใต้ และท่าเรือในเมืองดูไบ แทบไม่เห็นคนสักคน นั่นคือเหตุผลว่าทำไมต้องซิงเกิลโอเปอเรเตอร์ เพราะถ้าให้คนหนึ่งบริหารท่าเรือ ให้อีกคนบริหารรถไฟจะยุ่งแน่นอน ดังนั้นเราจึงเขียนไว้ว่าเป็นต้องซิงเกิลโอเปอเรเตอร์ ด้วยออโตเมชั่น เพราะหัวใจสำคัญของการขนส่งคือลดเวลา-ลดต้นทุน ถ้าตู้สินค้ามาใช้บริการแลนด์บริดจ์จะลดเวลาได้ 4 วัน และต้นทุนลดลง 15% (ต้นทาง-ปลายทาง) แต่ถ้าขนส่งน้ำมันด้วยเรือขนาดใหญ่ที่มาจากตะวันออกกลาง มาเทียบท่าที่ระนอง แล้วขนน้ำมันผ่านท่อไปลงเรือเล็กที่ชุมพร กระจายต่อไปจีน-ญี่ปุ่น-ไต้หวัน จะลดต้นทุนลงไปได้ 6% เมื่อเทียบกับการขนผ่านช่องแคบมะละกา-สิงคโปร์

ขาย “โลเคชั่น” ย่นระยะทาง-ลดค่าขนส่ง!

สมมุติถ้าจะส่งตู้สินค้าออกไปต่างประเทศ ประเด็นใหญ่ที่เราสนใจคือจะถูกชาร์จเท่าไหร่ และตรงเวลาหรือไม่ ส่วนตรงกลางจะขนกันอย่างไรนั้น ต้องปล่อยให้ระบบเขาทำงาน อย่าเข้าไปยุ่ง ดังนั้นจึงต้องเป็นซิงเกิลโอเปอเรเตอร์ โดยสิ่งที่เราศึกษาไว้ว่าแลนด์บริดจ์ช่วยย่นระยะเวลาการเดินทางได้ 4 วัน ลดต้นทุนค่าขนส่งได้ 15% แต่เมื่อถึงเวลานักลงทุนเขาอาจทำได้ดีกว่าที่เราศึกษาไว้ก็ได้

“เรากำลังจะขายโลเคชั่น ขายความพร้อมให้นักลงทุนมาใช้โลเคชั่น คุณจะมาลงทุนหรือไม่ ถ้าสนใจมาเลย รัฐบาลไทยไม่ได้จ่ายแม้แต่บาทเดียว อยู่ที่คุณจะออฟเฟอร์เราเท่าไหร่ จะคุ้มทุนกี่ปีเป็นเรื่องของเขา แต่สัมปทานกี่ปีเราให้ได้เต็มที่แค่นี้ตามกฎหมาย อาจจะ 40 ปี เหมือนกับอีอีซี โครงการนี้ต้องระดับรัฐบาล เพราะเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง และกฎหมายหลายฉบับ ลำพังแค่กระทรวงคมนาคมไม่มีศักยภาพที่จะทำโครงการแลนด์บริดจ์ เนื่องจากเป็นสเกลใหญ่กว่าอีอีซี แต่ไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์แน่นอน เพราะเรามีอีอีซีเป็นตัวอย่าง ใช้พ.ร.บ.อีอีซีเป็นตัวอย่างนำทางได้เลย” นายชยธรรม์ กล่าว