หนังเรื่องนี้ได้ส่งผลทำให้สังคมไทยเพิ่มระดับการ “โฟกัสภาพยนตร์อีสาน” กันมากขึ้น หลังจาก “ทำให้เกิดปรากฏการณ์ตามมามากมาย” ดังที่เห็น ๆ กัน ซึ่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้…สำหรับบางคนก็อาจมองว่า…การที่หนังอีสานเรื่องนี้โด่งดังเป็นพลุแตกนั้นเป็นเพราะ “ฟลุก?” อย่างไรก็ตาม วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลในเชิงวิชาการให้ลองพิจารณากัน…ว่า “กระแสฟีเวอร์” ที่เกิดขึ้นนี้…ฟลุก? หรือ “มีเหตุปัจจัย?” ที่ทำให้…

“ภาพยนตร์อีสาน” นั้น “เกิดฟีเวอร์”…

นี่ “ฟลุก?” หรือ “ไม่ใช่จู่ ๆ ก็เกิดขึ้น?”

มีองค์ประกอบ “มีปัจจัยอะไรหรือไม่?”

ทั้งนี้ ปรากฏการณ์โด่งดังของ “ภาพยนตร์อีสาน-หนังอีสาน” ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน นี่ก็นับเป็นเรื่องที่สังคมไทยน่าจะร่วมกัน “ถอดรหัส” ไม่ใช่น้อย เพราะนอกจากเรื่องของรายได้ที่สามารถทำได้แบบถล่มทลายของหนังเรื่องนี้แล้ว…ใน “มุมนิเทศศาสตร์” นั้น ก็เคยมีการวิเคราะห์ถึงปรากฏการณ์ “อีสานฟีเวอร์” เอาไว้น่าพิจารณา โดยกระแสที่เกิดขึ้นดังกล่าวนี่ก็อาจฉายภาพให้เห็นถึงความเป็น “อีสานแมส-อีสานใหม่”ที่ค่อย ๆ มีการประกอบร่างสร้างขึ้นในสังคมไทยมาสักพักใหญ่แล้ว…

โดยเฉพาะตั้งแต่หลังปี 2550 เรื่อยมา…

ที่มีการ“สะท้อนผ่านหนัง-เพลงอีสาน”

กับ “มุมวิเคราะห์” เกี่ยวกับกระแส“อีสานฟีเวอร์” นี้ มีบทความชื่อ “อีสานแมส-อีสานใหม่ : กระแสนิยมของภาพยนตร์อีสานและการประกอบสร้างความเป็นอีสานตั้งแต่ทศวรรษ 2550” โดย ไซนิล สมบูรณ์ ในฐานะนักศึกษาปริญญาเอก คณะนิเทศศาสตร์ และ ผศ.มาโนช ชุ่มเมืองปัก อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ที่ได้สะท้อนแง่มุมเรื่องนี้ไว้ ซึ่งบทความนี้มีการเผยแพร่อยู่ใน วารสารนิเทศศาสตร์ธุรกิจบัณฑิตย์ ปีที่ 16 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม-ธันวาคม ประจำปี 2565 โดยได้มีการอธิบายเกี่ยวกับ “กระแส-ปรากฏการณ์” ที่ทำให้เกิด “อีสานฟีเวอร์” ไว้น่าสนใจ

ในชั้นต้นนั้น…ทางผู้จัดทำบทความนี้ได้ระบุวัตถุประสงค์ของการศึกษาเรื่องนี้ไว้ว่า… เพื่อศึกษาปัจจัยและบริบททางสังคมที่ส่งผลต่อการเกิดกระแสนิยมภาพยนตร์อีสานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยตั้งแต่ปี 2550 และเพื่อศึกษารููปแบบการดำเนินงานและการผลิตภาพยนตร์อีสานตั้งแต่ทศวรรษ 2550 เป็นต้นมา โดยจากผลการศึกษาพบว่า… ภาพยนตร์อีสานมีการก่อร่างสร้างตัวมาเป็นระยะเวลานานแล้ว ผ่านปัจจัยต่าง ๆ ทั้งเทคโนโลยี เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม ซึ่งทำให้เกิดแรงกระเพื่อมมาแล้วหลายระลอก ตั้งแต่กระบวนการผลิต-จัดจำหน่าย จนถึงการจัดฉายและการชมภาพยนตร์อีสาน…

ดูจากข้อมูลผลการศึกษาดังที่ว่ามา…

หนังอีสานนี่…“มิใช่จู่ ๆ ก็ฟีเวอร์ขึ้นมา”

จากกระแสนิยมที่เกิดขึ้น เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยก็จะพบว่า… อีสานนั้นมีภาษาและวัฒนธรรมประจำถิ่นที่เชื่อมโยงกันเป็นอัตลักษณ์ร่วม แต่ขณะเดียวกันก็มีความแตกต่างกันในพื้นที่่ย่อย ๆ ด้วย โดยเกิดจากการมีปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่อื่น ๆ ผ่านการติดต่อสื่อสารและการเคลื่อนย้ายของผู้คนที่ไปมาระหว่างภูมิภาคมาเป็นเวลานาน อีกทั้งอีสานก็เป็นสถานที่ซึ่งมีผู้คนจากพื้นที่อื่นโยกย้ายเข้าอยู่อาศัย ซึ่ง… วัฒนธรรมในพื้นที่อีสานนั้นมีการต่อสู้แย่งชิงอยู่ตลอด บางสิ่งถูกผสมผสาน บางสิ่งก็ถููกกลืนกลาย และบางสิ่งยืนหยัดมาได้ถึงปัจจุบัน จึงทำให้ ลักษณะเฉพาะตัวของคนอีสานไม่ได้หยุดนิ่งตายตัว

นอกจากนี้ ช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา วัฒนธรรมอีสานและกระแสสำนึกความเป็นอีสานได้เริ่มเข้ายึดครองพื้นที่่ทางวัฒนธรรมระดับชาติ และมีอิทธิพลมากขึ้นกว่าที่่เคยเป็นมาในอดีต ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ เทคโนโลยี ที่สั่งสมมายาวนาน จนเมื่อถึงจังหวะเวลาหนึ่ง ก็จึง “ทำให้เกิดอีสานฟีเวอร์” ขึ้น ซึ่งเป็นคำที่ถูกนำมาใช้เรียกปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับวัฒนธรรมอีสานที่ได้ปรากฏตามสื่อต่าง ๆ รวมถึงอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่มีปริมาณมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ปี 2550 จนทำให้ “อีสานฟีเวอร์เป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมกระแสหลัก” หรือ…

ศัพท์สมัยนิยมเรียกว่า“อีสานแมส”…

ทำให้เกิดความเป็น“อีสานใหม่” ด้วย…

ทั้งนี้ ในแหล่งข้อมูลดังกล่าวข้างต้นได้ขยายความ “อีสานแมส-อีสานใหม่” เอาไว้ สรุปได้ว่า… ในการสื่อสารความเป็นอีสานในแบบใหม่ ๆ มีสิ่งที่น่าสนใจจากเรื่องนี้ นั่นคือกระแส “อีสานฟีเวอร์ในวงการภาพยนตร์ไทย” ซึ่งช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมามีภาพยนตร์อีสานออกสู่สายตาผู้ชมกว่า 54 เรื่อง โดยภาพยนตร์อีสานที่เกิดขึ้นมิได้มาจากระบบผลิตบริษัทขนาดใหญ่ฝ่ายเดียว แต่มาจากบริษัทขนาดเล็กในท้องถิ่นด้วย ที่ก็สามารถทำรายได้ทัดเทียม หรือในบางครั้งมากกว่าภาพยนตร์ของค่ายใหญ่เสียอีก …นี่เป็นบทวิเคราะห์ที่ฉายภาพ“ปรากฏการณ์ภาพยนตร์อีสาน” ที่มีมากในสังคมไทยมาสักพักใหญ่ ๆ แล้ว…

“หนังอีสาน” เรื่องสัปเหร่อ…“แรงสุด ๆ”

ก็น่าจะ “ยึดโยงกระแสอีสานฟีเวอร์??”

“ลงลึกถึงปัจจัย”…ตอนหน้ามาดูกัน…